กรมปศุสัตว์ และสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย แถลงมาตรการคุมเข้ม กาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) และการนำเข้าวัคซีนควบคุมโรค โดยจะฉีดในพื้นที่ระบาดรัศมี 50 กม. 

เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยถึงความคืบหน้า การป้องกันและควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าว่า ตามที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ควบคุมและป้องกันโรค AHS ในม้าอย่างรวดเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เนื่องจากมีความห่วงใยผู้เลี้ยงม้าและอาชีพ ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ กรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน ภาครัฐและเอกชนรวมถึงคณาจารย์ คณะสัตวแพทย์จากมหาวิทยลัยต่างๆ หมอม้าผู้ชำนาญการชั้นนำของประเทศ สมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬาม้าแข่งไทย สมาคมกีฬาโปโลแห่งประเทศไทย และผู้แทนผู้เลี้ยงม้าทั่วประเทศได้ร่วมมือกันวางแผนและดำเนินการเฝ้าระวังป้องกัน และควบคุมโรค ตั้งแต่ผลการยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่าพบโรค AHS

ล่าสุดได้รับการบริจาควัคซีนจาก นายพงษ์เทพ เจียรวนนท์ อุปนายกสมาคมกีฬาขี่ม้าแห่งประเทศไทย รองประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ผลิตอาหารม้าแมกซ์วิน (MAXWIN) กรมปศุสัตว์จึงได้นำไปฉีดป้องกันโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้าครั้งแรกของไทย ที่สถานีเพาะเลี้ยงม้าและสัตว์ทดลอง สถานเสาวภา สภากาชาดไทย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากจุดเกิดโรค อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นระยะทาง 20 กิโลเมตร และมีม้าจำนวน 560 ตัว ซึ่งม้าดังกล่าวเป็นม้าที่ใช้สำหรับผลิตเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและเซรุ่มแก้พิษงู จากการติดตามผลการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์ประจำสถานเสาวภา ปรากฎว่าไม่มีม้าที่แสดงอาการแพ้วัคซีน และจากการตรวจสุขภาพไม่พบสัตว์ป่วยหรือสงสัยว่าป่วยเพิ่มขึ้น

...

ดังนั้น กรมปศุสัตว์มีแผนในการฉีดวัคซีนป้องกันให้แก่ม้า ในพื้นที่เกิดโรครัศมี 50 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค และเพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จึงได้มีการจัดการประชุมชี้แจงแผนการป้องกันและควบคุมโรคกาฬโรคแอฟริกาในม้า (AHS) และมาตรการ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการฉีดวัคซีน ให้แก่สำนักงานปศุสัตว์เขต และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่เป้าหมายการฉีดวัคซีน โดยได้กำชับให้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กรมปศุสัตว์กำหนดไว้.