แต่ต้องเคยทำงาน เลี้ยงตัว-ครอบครัว แล้วตอนนี้ตกงาน ซีพีกดปุ่มทำแมสก์

“บิ๊กตู่” ย้ำจ่าย 5 พันครบ 3 เดือนแน่ ขอโทษทำให้ประชาชนไม่มั่นใจยันดูแลคนทุกกลุ่ม กำลังดูมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ยังไม่รู้ต้องให้ลงทะเบียนใหม่หรือไม่ ส่วน สถานการณ์ติดเชื้อที่ดีขึ้น พิจารณาปลดล็อกบางส่วน แต่ไม่ใช่ทีเดียวทั้งระบบแน่นอน คลังประสานผู้ว่าฯทั่วประเทศส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบถึงตัวผู้ลงชื่อ ขอทบทวนเยียวยา 5 พัน เชื่อว่ามีมากกว่า 1 ล้านคน นักเรียน-นักศึกษา ที่เรียนด้วยทำงานไปด้วยเฮ มีสิทธิ รับเงินเยียวยา 5,000 บาทแล้ว ล่าสุดคลังประกาศปิดลงทะเบียนเยียวยา 5 พันบาท เที่ยงคืนวันที่ 22 เม.ย. “โฆษกสลาก” เผย ซื้อสลากคืนไม่ได้สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมาย-ผิดธรรมเนียมปฏิบัติ รมว.ยุติธรรมกำชับ ดีเอสไอ-ป.ป.ส. ตรวจสอบกักตุนสินค้าเร่งล่าแก๊งทำใบรับรองแพทย์ปลอม ซีพีทำได้สร้างโรงงานผลิต แมสก์มูลค่า 100 ล้าน เสร็จภายใน 5 อาทิตย์ วันแรก เปิดสายการผลิตแล้ว 1 แสนชิ้น ส่งให้ รพ.จุฬาฯแจกจ่ายให้ รพ.ทั่วประเทศ “กองปราบฯ” จับพริตตี้สาว ขายหน้ากากอนามัยเกินราคา ผู้ว่าฯยะลาห้ามพระบิณฑบาตถึง 30 เม.ย. ส่วนผู้ว่าปัตตานีรอความชัดเจนจากจุฬาราชมนตรีในเดือนรอมฎอน

กรณีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ทำท่าจะไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดและติดเชื้อของประชาชนได้ ส่งผลให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.ถึง 30 เม.ย. สั่งปิดสถานที่หลายประเภทที่เป็นแหล่งชุมนุมของประชาชน นอกจากนี้ยังส่งผลให้บริษัทเอกชนจำนวนมากปิดบริษัทป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคร้าย สร้างผลกระทบประชาชนจำนวนมาก เป็นที่มาของมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ ด้วยการให้ลงทะเบียนในเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เพื่อรับเงินเยียวยาหลายสาขาอาชีพ ต่อมารัฐบาลประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยกระดับการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศตั้งแต่เวลา 22.00-04.00 น. ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

...

“บิ๊กตู่”ยันจ่าย 5 พันครบ 3 เดือน

ความคืบหน้าจากตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 16 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ครั้งที่ 1/2563 หลังประชุมนายกฯให้สัมภาษณ์ถึงมาตรการเงินเยียวยา 5 พันบาทว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องปรับวงเงินการใช้จ่ายเพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ยืนยันจ่ายเงินเยียวยา 5 พันบาทครบ 3 เดือนแน่นอน ขอโทษด้วยที่เมื่อวันที่ 15 เม.ย.พูดไป ทำให้หลายคนไม่สบายใจจนเกิดการเคลื่อนไหวมากมาย แต่ยืนยันรัฐบาลต้องดูแล 3 เดือนนี้ให้ได้ ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นเร็วสามารถแก้ปัญหาได้ทุกระดับ เมื่อผ่าน 3 เดือนไปแล้วดีขึ้น เราไม่จำเป็นต้องหาเงินตรงนี้ ทุกคนสามารถทำมาหากินได้แค่นั้นเอง สบายใจกันหรือยัง เมื่อวานต้องขอโทษด้วย ไม่ได้มีเจตนาให้เข้าใจอย่างนั้น แต่ต้องการให้เข้าใจว่าใช้เงินกันยังไง ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้เงินอีกแล้ว

ขอโทษทำให้ไม่มั่นใจ–ไม่ทันใจ

นายกฯกล่าวต่อว่า ตอนนี้กำลังดูทั้งแรงงานประกันสังคมทั้งในระบบ นอกระบบ กลุ่มอิสระ รวมถึงเกษตรกร ลงรายละเอียดทั้งหมดมีหลายประเภท มีผลกระทบมากน้อยต่างกัน ต้องเข้าใจว่ารัฐบาลมีมาตรการคัดกรองตรงนี้ ขอให้ทุกคนร่วมมือ ส่วนเกษตรกรที่เดือดร้อนต้องลงทะเบียนใหม่หรือไม่นั้น เรื่องนี้ให้กระทรวงการคลังดำเนินการอยู่ ตนต้องขอบคุณและขอโทษอีกครั้งที่ทำให้ไม่มั่นใจ ขอให้มั่นใจตนอย่างที่มั่นใจมาตลอด ขอให้มั่นใจกระทรวงการคลัง มั่นใจบุคลากรของตนทุกคนพยายามทำ เต็มที่ บางครั้งยากบ้างง่ายบ้าง ทันใจบ้างและไม่ทันใจบ้างต้องขอโทษด้วย แต่เป็นมาตรการที่ต้องระมัดระวังที่สุด เพราะเป็นการใช้เงินของภาครัฐ ต้องตรวจสอบภายหลังทุกอย่าง ไม่อยากให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลัง ทราบดีทุกคนเดือดร้อนในเวลาเดียวกัน ทยอยดำเนินการให้ครบ 3 เดือนแน่นอนโอเคไหม

นายกฯย้ำถ้าปลดล็อกต้องทยอย

ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดลงต่อเนื่องว่า สิ่งสำคัญที่สุดอยากให้ทุกคนร่วมมือกันแบบนี้ วันนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ขณะที่สาธารณสุขระบุว่า ถ้าภายใน 14 วัน ผู้ติดเชื้อลดลงแสดงว่าเราสามารถควบคุมได้บ้างแล้ว เราต้องดูว่าจะปลดล็อกตรงไหนได้บ้าง แต่ไม่ใช่ทีเดียวทั้งหมด แล้วกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมันจะดึงลงลำบาก หากปลดล็อกบางกิจการให้เคลื่อนไหวได้มีอาชีพบ้าง ต้องร่วมมือกันตรงนี้ ถ้าเรียกร้องให้เปิดกันทั้งหมดแล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ใครจะรับผิดชอบได้ ดังนั้นเราต้องรับผิดชอบร่วมกัน ในหลายๆเรื่องเพราะเป็นสถานการณ์ไม่ปกติ

...

โต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ละเมิด

ที่โรงพยาบาลศิริราช เช้าวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวระหว่างไปตรวจเยี่ยมการปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ถึงสถานการณ์หลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า ดูข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์แต่ละวัน บอก พ.ร.ก.ฉุกเฉินละเมิดอะไรต่างๆ ขโมย โกง ปลอม เกิดขึ้นได้อย่างไรในประเทศไทย ตนว่าสังคมมันเปลี่ยนไปเยอะ เราห่วงลูกหลาน สมัยเราเข้มแข็งด้วยตัวเอง เพียงพอที่จะต่อสู้ แต่วันนี้สภาพแวดล้อมไม่ได้เป็นแบบนั้น วันนี้สังคมกลายเป็นว่า ทุกคนเป็นห่วงลูกเลยถูกปกป้องไว้อย่างนี้ การต่อสู้ด้วยตัวเองเลยไม่มี ทำให้พร้อมถูกนำไปโน่นไปนี่ได้ตลอด ทุกคนอยากให้ลูกมีความสุข ไม่อยากให้ลำบากเหมือนเรา เลยดูแลทุกอย่างจนกระทั่งไม่เข้มแข็ง นั่นคือสิ่งที่อันตรายในวันหน้า

มท.1 สั่งเข้ม จนท.ฟันกักตุนสินค้า

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ฐานะประธานคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ กล่าวว่า กำหนดแนวทางปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ไปยังทุกจังหวัดดำเนินการ ดังนี้ 1.ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ถือปฏิบัติตามคำสั่งและประกาศคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์และแนวทางการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ 2.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนกรณีพบการกักตุนโภคภัณฑ์ผ่านช่องทางศูนย์ดำรงธรรม 3.ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เน้นการสร้างความรับรู้และความเข้าใจต่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองโภคภัณฑ์ เพื่อให้ทราบและตระหนักถึงผลกระทบจากการกักตุน สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและสร้างความเสียหายต่อสังคมส่วนรวม 4.กรณีพบการกักตุนให้พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทั้งตาม พ.ร.บ.สำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ ทั้งนี้กำชับพนักงานเจ้าหน้าที่เขตท้องที่ทั่วประเทศสำรวจ ตรวจสอบการกักตุนสินค้า และสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ก่อให้เกิดความเดือดร้อนซ้ำเติมประชาชน ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 หากพบเจอให้ดำเนินการอย่างเข้มงวดและเด็ดขาด

...

ประสานผู้ว่าฯช่วยทบทวนเยียวยา

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ผ่าน www.เราไม่ทิ้งกัน.com ล่าสุด 27.5 ล้านคน จ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว 3.2 ล้านคน เป็นเงินกว่า 15,000 ล้านบาท คาดว่าภายในวันที่ 19 เม.ย. จะคัดกรองคนที่ลงทะเบียนครบทั้งหมด และเปิดให้ทบทวนสิทธิ์ในกลุ่มที่ไม่ได้รับเงินวันที่ 20 เม.ย. คาดว่ามีผู้ขอทบทวนสิทธิ์กว่า 1 ล้านคน หารือกับกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมการปกครอง ให้มาช่วยคัดกรองกลุ่มที่ขอทบทวนสิทธิ์ เช่น เมื่อมีการขอทบทวนสิทธิ์วันที่ 20 เม.ย. จะคัดรายชื่อแยกเป็นรายจังหวัดส่งให้ผู้ว่า ราชการจังหวัดวันที่ 21 เม.ย.ช่วยคัดกรองผู้ขอทบทวนสิทธิ์ ผู้ว่าฯจะหารือคลังจังหวัด ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ช่วยกันลงพื้นที่ไปตรวจสอบ

เช็กทบทวนสิทธิ์จาก 3 ภาพถ่าย

“ทั้งนี้การตรวจสอบสิทธิ์ ผู้ลงไปตรวจสอบจะใช้ภาพถ่าย 3 ภาพคือ รูปถ่ายของผู้ทบทวนสิทธิ์ รูปถ่ายกับบัตรประชาชน และรูปถ่ายแสดงหลักฐานการทำงานของคนที่ขอทบทวนสิทธิ์ เช่น รูปถ่ายกับร้านค้า หรือรูปถ่ายเป็นเอกสารว่า ทำงานในร้านค้านั้นจริง เช่น ค่าเช่าแผง หรือหลักฐานการรับเงินเดือนในส่วนของลูกจ้าง ส่วนประชาชนตกหล่น ไม่มีมือถือ หรือไม่ใช่เกษตรกร และไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม คาดว่ามีประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้กระทรวงการคลังกำลังดูว่าจะช่วยอย่างไร และหารือในที่ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน และมีคณะกรรมการปลัด 10 กระทรวงในวันที่ 17 เม.ย. คาดว่า ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) อาจนำเสนอในส่วนของการดูแลคนพิการ คนสูงอายุ” นายลวรณกล่าว

...

เรียนด้วยทำงานด้วยมีสิทธิ์ 5 พัน

ช่วงเช้า นายลวรณ แสงสนิท เผยผ่านรายการโทรทัศน์ว่า จะปรับเงื่อนไขรับเงินเยียวยา 5,000 บาท เพื่อให้นักเรียน-นักศึกษาที่ต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาด้วย จากเดิมไม่ให้สิทธิ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนและมีข้อเสนอแนะว่า นักศึกษาบางคนต้องเรียนไปด้วยทำงานเลี้ยงครอบครัวไปด้วย เมื่อสถานที่ทำงานต้องปิดชั่วคราวหรือถูกเลิกจ้าง ถือว่าได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เช่นกัน ในสัปดาห์หน้าจะเริ่มเปิดให้อุทธรณ์หรือทบทวนสิทธิในเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com นั้น กระทรวงการคลังจะมีกลไกทบทวนสิทธิรับเงินเยียวยา 5,000 บาทของนักเรียนนักศึกษาด้วย

เชื่อ 3 กลุ่มใหญ่คลุมร้อยละ 90

ส่วนกรณีคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 นายลวรณกล่าวว่า รัฐบาลมีเจตนาดีต้องการให้การเยียวยาผลกระทบครอบคลุมทั่วถึงประชาชนทุกกลุ่ม คงไม่ใช่การใช้กลไกของรัฐบาลเข้ามาครอบงำหรือกำกับกระทรวงการคลังตามที่มีการตั้งข้อสังเกต บางทีกระทรวงการคลังอาจดูอยู่แค่กลุ่มนี้ ไม่แน่ใจว่าตกหล่นหรือไม่ นายกฯมีนโยบายชัดเจนว่า คนที่ได้รับผลกระทบต้องได้รับการเยียวยาทุกคนทุกกลุ่ม เป็นที่มาของคณะกรรมการชุดนี้ ส่วนกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอาจแนะนำมาได้ว่า ยังมีกลุ่มใดที่ตกหล่น เชื่อว่าหลังภาครัฐออกมาตรการเยียวยา 3 กลุ่มใหญ่คือ กลุ่มที่อยู่ในข่ายได้รับ 5,000 บาท กลุ่มประกันสังคม และกลุ่มเกษตรกร ประเมินว่าจะครอบคลุมได้ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ได้รับผลกระทบ

ปิดลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน 22 เม.ย.

ล่าสุดนายลวรณ แสงสนิท กล่าวว่า ล่าสุดมีผู้มาลงทะเบียนรับเงินเยียวยาแล้วรวม 27.7 ล้านราย จำนวนผู้มาลงทะเบียนในภาพรวมมีทิศทางลดลงต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มาลงทะเบียนเพื่อรับความช่วยเหลือเยียวยาแล้ว ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงกำหนดวันปิดรับลงทะเบียนในวันที่ 22 เม.ย.63 เวลา 24.00 น. (ตามที่เคยประกาศไว้ว่าจะแจ้งล่วงหน้าให้ทราบก่อนวันปิดการลงทะเบียน) ทั้งนี้เพื่อดำเนินการเปิดรับการขอทบทวนสิทธิ์สำหรับประชาชนที่ไม่ผ่านเกณฑ์และไม่เห็นด้วยกับผลการคัดกรอง ที่จะเริ่มในวันที่ 20 เม.ย. 63 เวลา 06.00 น. ผ่านเว็บ เราไม่ทิ้งกัน.com

ถกเยียวยาขัดรัฐธรรมนูญ

พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ยื่นตรวจสอบการลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาทว่า ตามคำร้องเป็นการร้องว่า รัฐบาลเลือกปฏิบัติขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 27 ผู้ลงทะเบียนถูกระบบตรวจสอบคุณสมบัติที่เป็นระบบปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ปฏิเสธว่าไม่เป็นผู้อยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยา เช่น เป็นเกษตรกร นักศึกษา ผู้ตรวจการแผ่นดินจะเชิญประชุมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ ธนาคารออมสิน คาดว่าเป็นวันที่ 24 เม.ย.เพื่อรับฟังข้อมูลและร่วมหาแนวทางแก้ไข ถ้าพบว่ามีความผิดพลาดขั้นตอนใดแล้วแก้ไข น่าจะดีกว่าการหาว่าหน่วยงานไหนผิด ระหว่างนี้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นด้วย

แนะนายกฯแก้ตุนแอลกอฮอล์

พล.อ.วิทวัสกล่าวอีกว่า กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ตามที่รับร้องเรียน ลงนามหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีฐานะผู้อำนวยการ ศบค. แจ้งผลวินิจฉัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบริหารจัดการแอลกอฮอล์ที่แปลงสภาพ นำไปผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือและผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ให้มอบหมายกรมสรรพสามิตประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้สุราสามทับแปลงสภาพ (แอลกอฮอล์ 70%) ผลิตครั้งละ 5 พันลิตร ต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ขออนุญาตในเวลาที่กำหนด ป้องกันกักตุนและขาดแคลนสุราสามทับแปลงสภาพ วัตถุดิบหลักผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ และให้กระทรวงพาณิชย์ ตามการกระจายผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ เชื่อว่าภายใน 1-2 สัปดาห์ควรจะมีมากขึ้นและมีราคาถูกลง

ฟ้องศาลปกครองเยียวยาทุกคน

ที่สำนักงานศาลปกครอง นายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ “ฟอร์ดเส้นทางสีแดง” ผู้ก่อตั้งพรรคเส้นทางสีแดง นำสมาชิกพรรคและประชาชน 20 คน อ้างว่าไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท จากโครงการเราไม่ทิ้งกันของรัฐบาล และผู้ถูกระบบลงทะเบียนปฏิเสธ ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรีและกระทรวงการคลังต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำสั่งให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทุกคน นายอนุรักษ์กล่าวว่า การจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทของรัฐบาล มีประชาชนเพียง 2 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 3 ของประชาชนทั้งประเทศที่ได้รับเงินเยียวยา ส่วนผู้เข้าเกณฑ์ลงทะเบียนแล้วทุกระบบปฏิเสธ ระบุว่าเป็นเกษตรกร หรือนักศึกษาทำให้เกิดความเดือดร้อน กลุ่มเห็นว่า ผู้ที่เดือดร้อนจากเชื้อโควิด-19 คือ คนทั้งประเทศ รัฐบาลควรจ่ายเงินเยียวยาให้คนทุกกลุ่มอาชีพ อย่าเลือกปฏิบัติ ขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา สั่งรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบ โดยเร็ว

ตรวจสอบใบรับรองแพทย์ปลอม

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เผยว่า วันนี้มีประชุมผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม มีการชี้แจงมติ ครม.เรื่องการจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลในสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ ให้ดีเอสไอและสำนักงาน ป.ป.ส.ช่วยตรวจสอบสินค้าเกินราคา กักตุน และสินค้าปลอม เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ และต้องคอยสอดส่องกลุ่มทำใบรับรองแพทย์ปลอม เพราะพวกนี้ทำเพื่อโกงบริษัทประกันภัย รวมถึงปลอมเพื่อเดินทางเข้าจังหวัดต่างๆ เป็นความเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ส่วนนพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ เผยว่า ดีเอสไอเดินหน้าอย่างเต็มที่เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบ 2 จุดว่า สินค้าได้คุณภาพหรือไม่ และเปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนพบถึง 480 เรื่อง เรื่องหน้ากากอนามัย 476 เรื่อง เสียหายกว่า 6 ล้านบาท ส่วนอีก 4 เรื่องเป็นแอลกอฮอล์

“บิ๊กแป๊ะ” ตรวจด่านโควิด 5 จังหวัด

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.เผยภารกิจ ผบ.ตร.ว่า ตั้งแต่เวลา 22.30 น. วันที่ 15 เม.ย. ถึงเวลาประมาณ 01.30 น.วันที่ 16 เม.ย. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ออกสุ่มตรวจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยร่วมปฏิบัติ ประจำจุดตรวจควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 บริเวณจุดตรวจหน่วยบริการประชาชนมหาชัยและจุดตรวจหน้าเทสโก้โลตัส มหาชัย อ.เมืองสมุทรสาคร จุดตรวจบริเวณที่พักสายตรวจบ้านคลองโคน อ.เมืองสมุทรสงคราม จุดตรวจบริเวณตลาดพูนทรัพย์ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี จุดตรวจบริเวณหน้าธนาคารกรุงไทย สาขาปากท่อ อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี และจุดตรวจบริเวณเพชรเกษม หน้าห้างสรรพสินค้าแม็คโคร อ.เมืองนครปฐม รวม 5 จังหวัดพื้นที่ บช.ภ.7 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ฝากให้กำลังใจ พร้อมแสดงความห่วงใยเจ้าหน้าที่ทุกนาย พร้อมนำหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ชุดปลอดเชื้อ หน้ากากที่มีแผ่นกระบังป้องกันใบหน้า (Face Shield Mask) และน้ำดื่ม มอบให้เจ้าหน้าที่ด้วย

ซีพีเปิด รง.แมสก์ลอตแรกแสนชิ้น

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ ผอ.ศูนย์โรคหัวใจ รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือฯ และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือฯ พร้อมผู้เกี่ยวข้องเข้าเยี่ยมชม “โรงงานซีพีหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อคนไทย” ที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เปิดสายการผลิตหน้ากากอนามัยเป็นวันแรก ก่อนส่งมอบหน้ากากอนามัย 1 แสนชิ้นลอตแรกที่ได้จากการผลิตให้กับรพ.จุฬาลงกรณ์ฯ นายธนินท์เผยว่า รู้สึกยินดีและมีความสุขมากที่เครือซีพีสามารถสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยเพื่อแจกฟรีให้แก่แพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนได้ภายในเวลา 5 สัปดาห์ เป้าหมายผลิตหน้ากากอนามัยแจกจ่ายให้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยมี รพ.จุฬาลงกรณ์ฯ เป็นองค์กรดูแลแจกจ่ายหน้ากากอนามัยต่อไปยังทุกโรงพยาบาลในประเทศ ที่เหลือจะแจกจ่ายให้ประชาชนทั่วไปฟรี สำหรับกำลังการผลิตปัจจุบันตั้งเป้าคือวันละ 1 แสนชิ้น หรือ 3 ล้านชิ้นต่อเดือน เป็นโรงงานอัตโนมัติใช้ผู้ควบคุมในโรงงานเพียง 3 คน เพื่อให้เป็นโรงงานที่ปลอดเชื้อโรคสูงสุด ทำการผลิตได้ 24 ชม.

ถือเป็นการแทนคุณแผ่นดิน

“การสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ตั้งอยู่บนพื้นฐานค่านิยมที่ต้องทำเพื่อประเทศชาติและประชาชน ส่วนรวมเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งในภาวะที่ประเทศเผชิญวิกฤติ หากมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้แพทย์และโรงพยาบาลต่างๆ ต้องรับภาระสูงสุด ดังนั้นซีพีเห็นว่า หน้ากากอนามัยถือเป็นอุปกรณ์ป้องกันสำคัญในวิกฤตินี้ไม่ให้เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดลุกลามจนโรงพยาบาลต้องรับภาระหนัก ซีพีทำธุรกิจในแผ่นดินไทย จึงเป็นโอกาสได้รับใช้แผ่นดินไทย ขณะที่ปัญหาพิษเศรษฐกิจที่จะตามมาในช่วงวิกฤติโควิด-19 ขอเสนอให้เตรียมแผนเชิงรุกด้านการท่องเที่ยวและส่งออกไว้เพื่อเตรียมพร้อมสะสมพลังให้ภาคเอกชนและธุรกิจต่างๆเตรียมกำลังคนและภาคแรงงานไว้ หากสามารถช่วยเหลือไม่เลิกจ้างแรงงานจะทำให้ผู้คนยังมีกำลังจับจ่ายภายในประเทศได้เป็นเรื่องดี เพราะเมื่อมีวันมืดที่สุดก็จะมีวันสว่างไม่มีวันที่จะมืดไปตลอดกาล ดังนั้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วจะเป็นโอกาสของประเทศไทย หลังวิกฤติแล้วจะมีโอกาสแน่นอน” นายธนินท์กล่าว

จับพริตตี้ขายหน้ากากเกินราคา

ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผบก.ป. สั่งการให้ พ.ต.อ.วิระชาญ ขุนไชยแก้ว ผกก.6 บก.ป. พ.ต.ต.วาทิต จิตรจันทึก สว.กก.6 บก.ป.นำกำลังจับกุม น.ส.นันทภัค เสาร์คำ อายุ 27 ปี ของกลางหน้ากากอนามัย 8,550 ชิ้น มูลค่าประมาณ 126,590 บาท ที่ห้องเลขที่ 122/166 คอนโดแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่สืบทราบว่า น.ส.นันทภัค มีอาชีพเป็นพริตตี้เอ็มซี ฉวยโอกาสช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ลักลอบจำหน่ายหน้ากากอนามัยหลากหลายยี่ห้อ ทั้งนำเข้าจากต่างประเทศและผลิตในประเทศเกินราคาผ่านทางออนไลน์และเฟซบุ๊กชื่อ Nuntapak Sk สอบสวน น.ส.นันทภัค รับสารภาพว่า เนื่องจากไม่มีงานทำให้ขาดรายได้ แจ้งข้อกล่าวหาจำหน่ายหน้ากากอนามัย เป็นสินค้าควบคุมในราคาสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้า อันเป็นความผิด ตามมาตรา 29 และมีโทษตามมาตรา 41 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ.2542 ส่งพนักงานสอบสวน สน.วังทองหลาง ดำเนินคดี

แจกหน้ากากเขตแรกสัมพันธวงศ์

นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า กระทรวงนำส่งหน้ากากอนามัยแบบผ้า ทางไปรษณีย์ให้ประชาชนกลุ่มแรก พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ กทม. รหัสไปรษณีย์ 10100 เสร็จเรียบร้อยแล้วรวม 21,000 ชิ้น เมื่อวันที่ 15 เม.ย. สำหรับประชาชนเขตอื่นๆจะเร่งทยอยจัดส่งให้ในลำดับถัดไปภายในเดือน พ.ค.นี้ อาทิ เขตป้อมปราบ– ศัตรูพ่าย ส่วนในพื้นที่ปริมณฑลและจังหวัดอื่นๆได้แก่ นนทบุรี สมุทรปราการ และจังหวัดในภาคใต้ เป็นต้นกระทรวงจะเร่งทยอยจัดส่งต่อไป

ยะลาห้ามพระบิณฑบาต

สำหรับการรับมือการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่ละจังหวัดยังเข้มข้น นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผวจ.ยะลา ออกคำสั่งกำหนดให้เจ้าอาวาส พระภิกษุ สามเณร งดพิธีกรรม หรือกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาทุกประเภท รวมถึงงดการเดินทาง และงดการออกรับบิณฑบาต ระหว่างวันที่ 16- 30 เม.ย. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ขณะที่นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผวจ.ปัตตานี เผยว่า แนวทางประกอบศาสนกิจในห้วงเดือนรอมฎอนของพี่น้องชาวมุสลิม ช่วงปลายเดือน เม.ย. ต้องรอประกาศจุฬาราชมนตรี จะปฏิบัติอย่างไร ให้ทุกคนสามารถปฏิบัติตนถือศีลอดได้อย่างสมบูรณ์และปลอดภัย นอกจากนี้ตั้งคณะกรรมการตรวจราคาสินค้าเพื่อป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค และช่วงเวลาจำหน่ายของตลาดต่างๆ เราเข้าใจวิถีของคนในพื้นที่แต่ต้องอยู่ในระบบความปลอดภัยด้วย

นราธิวาสปิดพื้นที่ 2 ตำบล

วันเดียวกัน นายเอกรัฐ หลีเส็น ผวจ.นราธิวาส ฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนราธิวาส ออกคำสั่งเรื่องกำหนดพื้นที่เสี่ยงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กำหนดให้พื้นที่ ต.โคกสะตอ และ ต.สุวารี อ.รือเสาะ เป็นพื้นที่เสี่ยงเพื่อควบคุมการระบาดโรคติดต่อ ห้ามผู้ใดเข้า-ออก พื้นที่ระหว่างวันที่ 16-30 เม.ย. ผู้ใดมีความจำเป็นให้แจ้งต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ หากฝ่าฝืนมีความผิด มาตรา 52 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดมาตรา 18 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ขยายเวลาห้ามขายเหล้า 2 จ.

นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผวจ.พิจิตร เผยว่า ในพื้นที่ยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจิตร มีมติให้ขยายระยะเวลาการสั่งปิดร้านค้า หรือสถานประกอบการขายสุราและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด จากเดิมอนุญาตให้เปิดจำหน่ายวันที่ 16 เม.ย. เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 30 เม.ย. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด เช่นเดียวกับ จ.ระยอง ขยายเวลาการปิดการจำหน่าย จ่าย แจกสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท จากเดิมให้เปิดจำหน่ายในวันที่ 15 เม.ย. เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 30 เม.ย. และออกประกาศเรื่องการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง ห้ามเรือประมงนอกจังหวัดเข้าเทียบท่าในพื้นที่อย่างเด็ดขาดเว้นแต่มีเหตุจำเป็น

แห่เข้าโรงจำนำ–ขายทอง

นางภูวะนาศ สวนสวัสดิ์ ผจก.สถานธนานุบาล นครพิษณุโลก 1 ถนนบรมไตรโลกนารถ ต.ในเมือง อ.เมืองพิษณุโลก เผยว่า มีมาตรการช่วยเหลือปรับลดดอกเบี้ยและขยายเวลาไถ่ถอนช่วงการระบาดไวรัสโควิด-19 มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนนำทรัพย์สิน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า ครกหินศิลา และขันทองเหลืองเป็นสมบัติของบรรพบุรุษมาจำนำ สถานธนานุบาลรับไว้เพราะอยากช่วยเหลือยามวิกฤติ ขณะที่นายประกิต เตคุณาทร เจ้าของร้านทองแต้ฮุยล้ง 1 ถนนสาครพิทักษ์ ต.มะขามหย่ง อ.เมืองชลบุรี เผยว่า มีประชาชนจำนวนมากนำทองคำที่เก็บสะสมมาขาย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวเพราะได้รับความเดือดร้อนจากโควิด ทางร้านรับซื้อเข้าบาทละ 26,000 บาท ขายออกบาทละ 26,200 บาท ถือว่าราคาช่วงนี้ดีที่สุด ทั้งนี้ ไม่อยากให้ทองมีราคาสูงมากนัก เพราะประชาชนไม่มีกำลังซื้อส่งผลให้ร้านขายทองไม่ได้

“โฆษกสลาก” ยัน ซื้อหวยคืนไม่ได้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย โฆษกคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เผยถึงข้อเสนอให้ซื้อคืนสลาก กินแบ่งรัฐบาลว่า ตามธรรมเนียมปฏิบัติการขายสลากที่ผ่านมา ไม่ให้ซื้อคืน เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากกฎหมายสลากกินแบ่งรัฐบาลระบุชัดว่า เงินจากการขายสลากต้องแบ่งเป็นรางวัล 60 เปอร์เซ็นต์ รายได้เข้ารัฐ 23 เปอร์เซ็นต์ และอีก 17 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าบริหารจัดการ ในค่าบริหารจัดการจะแบ่งกำไรให้ผู้ขายคิดเป็นสัดส่วน 12 เปอร์เซ็นต์ของราคาสลาก หากเป็นองค์กรการกุศล องค์กรคนพิการ ได้ส่วนแบ่งกำไรเพิ่มอีก 2 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นสำนักงานสลากเหลือเงินเพียง 3% นำมาบริหารจัดการสลาก หากซื้อคืนจะทำให้กระทบสัดส่วนที่กำหนดไว้และกฎหมายไม่ได้ระบุให้ซื้อคืน

มีอำนาจเลื่อนวันออกสลาก

นายธนวรรธน์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ การทำสัญญากับผู้ค้าตามธรรมเนียมปฏิบัติ ทราบกันดีว่าเป็นการขายขาด ถ้าเหลือผู้ค้าต้องเก็บไว้เอง ที่ผ่านมามีข่าวผู้ค้าถูกรางวัลที่ 1 หลายครั้ง ตรงนี้ถือเป็นกลไกการค้าสลากที่ปฏิบัติมา ในช่วงโควิด-19 ปิดห้าง ปิดสถานที่ต่างๆ ทำให้ไม่สามารถขายสลากได้ บอร์ดสลากแก้ปัญหาด้วยการเลื่อนออกสลากงวดวันที่ 1 เม.ย. ออกไปเป็นวันที่ 16 พ.ค. ทำให้ผู้ค้ามีเวลาขายมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ค้าได้รับการช่วยเหลือจากเงินเยียวยา 5,000 บาทเป็นอาชีพอิสระอาชีพแรกๆ การเลื่อนออกสลากเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายของประเทศ บอร์ดสลากไม่ต้องการให้ผู้ค้าเป็นกลุ่มแพร่เชื้อ ส่วนกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่า คณะกรรมการสลากไม่มีอำนาจเลื่อนออกรางวัล นายธนวรรณ์ ตอบว่า ตามกฎหมายบอร์ดสลากและผู้อำนวยการสลากมีอำนาจเลื่อนการออกรางวัลสลาก เป็นไปตาม พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล 2562 และประกาศของสำนักงานสลาก ให้คณะกรรมการสลากฯและผู้อำนวยการสำนักงานสลากฯเปลี่ยนแปลงวัน เวลา และสถานที่การออกรางวัลได้

จับผู้ค้าวันเดียวเพิ่มพรวด 17 ราย

นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองโฆษกกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ณ วันที่ 15 เม.ย. กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ความผิดกรณีหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ เพิ่มวันเดียวถึง 17 รายทั่วประเทศ ส่งผลให้ยอดรวมจับกุมผู้กระทำความผิดกรณีหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และแอลกอฮอล์สูงขึ้นเป็น 336 ราย แยกเป็นกรุงเทพฯ 159 ราย และต่างจังหวัด 177 ราย สำหรับยอดจับกุมวันนี้ 17 ราย แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 3 ราย เป็นร้านขายยา 1 ราย พบผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาสีฟ้าไม่ปิดป้ายแสดงราคา แจ้งข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 28 ไม่ปิดป้ายแสดงราคา นอกจากนี้ยังพบร้านค้าจำหน่ายหน้ากากอนามัยผ่านเฟซบุ๊ก 1ราย ล่อซื้อและจับกุมพบขายหน้ากากอนามัยแบบธรรมดา บรรจุกล่องละ 50 ชิ้น ราคา 650 บาท เฉลี่ยชิ้นละ 13 บาท รวม 8,850 ชิ้น ส่วนอีก 1 ราย เป็นร้านค้าทั่วไป บรรจุกล่อง 50 ชิ้น กล่องละ 850 บาท เฉลี่ยชิ้นละ 17 บาท ส่วนต่างจังหวัด 14 ราย อาทิ สตูล สมุทรสาคร มุกดาหาร อุดรธานี และปทุมธานี