ปลัดยันเสียงแข็ง! ให้อุทธรณ์ทางเว็บ เลขา ‘อุตตม’ ขอ มท. เช็กข้อมูลตัวต่อตัว

หวิดวุ่น ชาวบ้านกว่า 100 คน บุกกระทรวงการคลัง หลังไม่ผ่าน เกณฑ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาท หลายคนร่ำไห้ขอให้ “อุตตม” ชี้แจง ด้านปลัดคลัง ต้องโร่คุยเอง ชี้ใครที่ไม่ได้รับสิทธิ์ให้ลงทะเบียนในช่อง “อุทธรณ์” วันที่ 19 เม.ย. จะเร่งตรวจสอบใน 7 วัน ขณะที่เลขาฯรมว.คลัง เผยจะประสานมหาดไทย ส่งเจ้าหน้าที่เช็กข้อมูล ตัวต่อตัว บิ๊ก สธ.ชงทำกรมธรรม์ประกันชีวิตให้ อสม. ทั่วประเทศ พลังเงียบสู้โควิด ส่วนที่บุรีรัมย์ รวบ 12 หนุ่มสาว เซราะกราวตั้งวงโจ้เหล้าในรีสอร์ต อ้างแก้เหงา

ภายหลังรัฐบาลออกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั่วประเทศ ตามด้วยประกาศเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานทั่วประเทศช่วง 22.00-04.00 น. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.63 เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่ในช่วงนี้เป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ขอให้ประชาชนงดกิจกรรมรวมกลุ่ม รวมทั้งกลับภูมิลำเนา เพราะเกรงจะทำให้คนในครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุติดเชื้อ รวมทั้งสั่งปิดร้านขายเหล้าในช่วงนี้ทั้งประเทศ ท่ามกลางความร่วมมือของประชาชนเก็บตัวอยู่กับบ้านตามมาตรการ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทำให้สถานที่หลายแห่งที่เคยคึกคักจากการเล่นสงกรานต์เงียบเหงาไปตามๆกัน แต่ยังมีผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.เล่นสาดน้ำและดื่มเหล้าท้าทายกฎหมายจนถูกจับกุมหลายราย ส่วนการเยียวยาชาวบ้านและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าวจำนวนเงิน 5 พันบาทเป็นเวลา 3 เดือน มีผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ถึง 5 ล้านคนส่วนใหญ่ระบุ ว่าการตรวจสอบผิดพลาด ขณะที่กระทรวงการคลังยันระบบเอไอมีมาตรฐาน และเตรียมเปิดให้กลุ่มไม่ผ่านเกณฑ์ 5 ล้านคน ยื่นอุทธรณ์ผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com ในสัปดาห์หน้า

...

ชาวบ้านแห่ร้องเรียนคลัง

ความคืบหน้าเกี่ยวกับกลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนแต่ไม่ผ่านเกณฑ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยเมื่อ วันที่ 14 เม.ย.ว่า ที่กระทรวงการคลัง ถนนพระรามที่ 6 ตั้งแต่เวลา 08.00 น. มีประชาชนทยอยเดินทางมาที่ห้องอาหาร กระทรวงการคลัง เพราะเดิมมีข่าวว่ากระทรวงการคลังจะทำเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรณีไม่ได้รับเงินจากมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน แต่ได้แจ้งยกเลิกไปเมื่อคืนวันที่ 13 เม.ย. อย่างไรก็ตาม ส่วนมากประชาชนผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์คัดกรอง ระบุว่าข้อมูลที่รัฐบาลแจ้งถึงเหตุผลที่ไม่ได้รับสิทธิ์ไม่ถูกต้อง โดยนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ลงมาชี้แจงทำความเข้าใจผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ด้วยตัวเอง

ร่ำไห้เรียก “อุตตม” ลงมาแจง

กระทั่งเวลา 10.10 น. เกิดเหตุวุ่นวายอีกครั้ง เมื่อผู้ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยากว่า 100 คน รวมตัวกันที่ด้านล่างของตึกสำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง บริเวณโถงลิฟต์ ต้องการให้นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ลงมารับเรื่องด้วยตัวเอง และชี้แจงเรื่องเงินเยียวยาให้ชัดเจน เพราะตอนนี้เดือดร้อนหนักมาก ไม่มีเงินใช้ดำรงชีพ ประชาชนบางรายถึงกับร้องไห้ออกมา เพราะอยากได้เงินดังกล่าวไปใช้จ่ายประทังชีวิตในช่วงโควิด-19 ทั้งนี้ในเวลาต่อมาปลัดกระทรวงการคลัง พร้อมกับนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ลงมาชี้แจงแก่ผู้ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาด้วยตัวเอง เพื่อให้คนที่มาชุมนุมเกิดความเข้าใจ โดยมีตำรวจช่วยดูแลความเรียบร้อย ก่อนกระทรวงการคลังจะสั่งปิดประตูเข้าออก ห้ามรถจากภายนอกเข้ามา ยกเว้นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลัง

ให้ยื่นอุทธรณ์ผ่านเว็บ 19 เม.ย.

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขอให้ผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนทุกกรณี รวมถึงรายที่ สละสิทธิ์หรือยกเลิกลงทะเบียนไปแล้ว ยื่นอุทธรณ์ผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com  ในสัปดาห์หน้าเร็วสุดคือวันที่ 19 เม.ย.63 หรืออย่างช้าสุดไม่เกินวันที่ 22 เม.ย.63 และจะพิจารณาข้อมูลให้แล้วเสร็จใน 7 วัน โดยปุ่มอุทธรณ์จะมีขึ้น หลังกระทรวงการคลังตรวจสอบข้อมูลผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 27.2 ล้านรายแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้ สำหรับปุ่ม “อุทธรณ์” ที่เพิ่มขึ้นมา เมื่อคลิกไปแล้ว จะให้กรอกอาชีพ คำถามจะแตกต่างกันไป ผู้ลงทะเบียนควรทำด้วยตัวเองเพื่อจะได้ใส่ข้อมูลที่ถูกต้องหากกรอกข้อมูลแล้วระบบยังหาข้อมูลไม่พบ จะส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ เพื่อยืนยันข้อมูลของผู้ที่ได้ยื่นอุทธรณ์ ถ้าหากเป็นผู้ประกอบอาชีพตัวจริงและได้รับความเดือดร้อน จะได้รับเงินเยียวยาอย่างแน่นอน

ขอให้มั่นใจระบบตรวจสอบ

นายประสงค์กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังเปิดบริเวณโรงอาหารให้มาลงทะเบียนนั้น เกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาด ต้องยอมรับว่าในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา มีผู้เดินทางมายื่นคำร้องเรียนจริง กระทรวงการคลังรับเรื่องไว้ แต่ข้อมูลที่กรอกไว้ในเอกสาร ผู้ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยาต้องกรอกในระบบออนไลน์อีกครั้งผ่านปุ่มอุทธรณ์ เพราะแต่ละอาชีพจะได้รับคำถามแตกต่างกัน และระบบออนไลน์สามารถตรวจสอบข้อมูลได้เร็วกว่ากระดาษขอให้ประชาชนทุกคน ไม่ต้องเดินทางมาที่กระทรวงการคลัง ให้รอลงทะเบียนในปุ่มอุทธรณ์ในสัปดาห์หน้า เพราะการมารวมตัวกันอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และการคัดกรองข้อมูลผู้ลงทะเบียนใช้ระบบคอมพิวเตอร์เข้าไปเทียบข้อมูลจากฐานต่างๆ จะทำให้สามารถจ่ายเงินเยียวยาได้รวดเร็ว ขอให้ทุกคนมั่นใจในระบบตรวจสอบ

รับฐานข้อมูลอาจไม่อัปเดต

ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า กรณีผู้มีอาชีพขี่วินมอเตอร์ไซค์ แผงลอย แท็กซี่ ที่ลงทะเบียนไปแล้วระบบระบุว่าเป็นเกษตรกรนั้น อาจเป็นเพราะหัวหน้าครอบครัวกรอกข้อมูลว่าทำอาชีพเกษตรกร รวมทั้งแนบทะเบียนบ้านไปด้วย ทำให้บุคคลในครอบครัวถูกขึ้นทะเบียนเป็นครอบครัวเกษตรกรทั้งหมด ดังนั้นผู้ลงทะเบียนแล้วไม่ได้เงินเยียวยา สามารถอุทธรณ์และกรอกรายละเอียดใหม่ได้ เพราะบางทีฐานข้อมูลอาจยังไม่ได้อัปเดต ทั้งนี้จะตรวจสอบข้อมูลผู้ที่ยื่นอุทธรณ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการขนส่งทางบก กรมสรรพากร ขณะที่ผู้ลงทะเบียนที่ต้องการปรึกษาหรือร้องเรียน และไม่สามารถติดต่อผ่านคอลเซ็นเตอร์ ธนาคารกรุงไทยและสำนักงาน เศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ เพราะมีคนติดต่อจำนวนมาก เร็วๆนี้จะเปิดระบบให้ส่งคำถามผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน อีกช่องทางหนึ่ง

ประสาน มท.เช็กข้อมูลตัวต่อตัว

...

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว. คลัง กล่าวว่า ขอให้ประชาชนอย่าเดินทางมาที่กระทรวงการคลัง ป้องกันการติดเชื้อไวรัส กระทรวงจะเปิดระบบ “เราไม่ทิ้งกัน” จะเพิ่มปุ่ม “อุทธรณ์” ช้าสุดไม่เกินวันที่ 21 เม.ย. ขอแนะนำให้อุทธรณ์ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ จะถูกต้องและรวดเร็วที่สุด หลังยื่นอุทธรณ์แล้วจะใช้กลไกกระทรวงมหาดไทยส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เช็กข้อมูลกับผู้ที่ยื่นอุทธรณ์ตัวต่อตัว เมื่ออุทธรณ์ผ่านจะจ่ายเงินทันที ขอให้ใจเย็นๆ รมว.คลัง สั่งการให้ทำให้เร็วเพื่อให้เงินถึงมือชาวบ้านโดยเร่งด่วน ส่วนกรณีนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ พาดพิงรัฐบาลเปิดอุทธรณ์เยียวยา 5,000 บาท ว่าเป็นการแก้เกี้ยวข้อผิดพลาดการคัดกรองนั้น หากไม่พูดบ้างคงไม่ลงแดงตาย รัฐบาลเปิดอุทธรณ์เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนทุกกลุ่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่ได้แก้เกี้ยว ไม่ใช่เวลาที่จะออกมาเอาชนะคะคานกัน เป็นผู้ใหญ่ควรพูดอะไรที่สร้างสรรค์มากกว่าเป็นข่าวรายวัน

ลงข้อมูลรับ 5 พันผิด ถือว่าขาดเจตนา

นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยกรณีที่รัฐบาลเยียวยาเงิน 5,000 บาท ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างไม่ทั่วถึง กรณีนี้มีความเห็นว่า การที่รัฐบาลสั่งปิดสถานที่และให้หยุดดำเนินกิจการต่างๆ โดยไม่มีนโยบายรองรับทำให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่มีงานทำ ยิ่งระยะเวลานานเข้าเกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและผลกระทบต่อประชาชนอย่างมาก รัฐบาลควรจัดหางบประมาณเพิ่มเติม และรีบนำมาเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน และไม่ควรบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กับภาคประชาชนที่ให้ข้อมูลไม่ถูกต้องและคลาดเคลื่อน เนื่องจากประชาชนเหล่านั้น “ขาดเจตนา” ในการกระทำความผิดอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันประชาชนเหล่านั้น ต้องอยู่ในสภาพความลำบากอย่างแสนสาหัส ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน

...

ฝากครอบครัวช่วยกันเตือน

อีกด้านหนึ่ง เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า ผลการปฏิบัติงานของฝ่ายความมั่นคงช่วงเคอร์ฟิว คืนวันที่ 13 เม.ย.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 14 เม.ย. มีผู้ออกนอกเคหสถาน 806 คน น้อยลงกว่าคืนก่อน 14 ราย มีการรวมกลุ่มชุมนุมมั่วสุม 155 ราย มากกว่าคืนก่อน 20 ราย พบว่าผู้ชุมนุมมั่วสุมส่วนใหญ่จะตั้งวงพนัน ดื่มสุรา และเสพยาเสพติด ขอให้บุคคลในครอบครัวช่วยกันเตือน

กักตัวเหงาตั้งวงเหล้าแก้เซ็ง

ส่วนการจับกุมผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังมีอย่างต่อเนื่อง ที่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 13 เม.ย. พ.ต.อ.วิษณุ อาภรณ์พงษ์ ผกก.สภ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ พร้อมฝ่ายปกครองจับกุมกลุ่มชายหญิงนั่งล้อมวงมั่วสุมดื่มสุราในรีสอร์ตแห่งหนึ่ง พื้นที่หมู่ 10 ต.สองชั้น อ.กระสัง จับผู้ต้องหา 12 คน เป็นชาย 10 คน หญิง 2 คน จำนวนนี้มีนายธีรพงษ์ ผลเจริญ อายุ 24 ปี ลูกชายเจ้าของรีสอร์ต ตรวจปัสสาวะมีสารเสพติด สอบถาม น.ส.เอ (นามสมมติ) อายุ 27 ปี 1 ในผู้ต้องหาเล่าว่าเพิ่งกลับจาก กทม. ลงทะเบียนผู้มาจากต่างจังหวัดไว้ที่ อสม.ในหมู่บ้าน ไม่อยากให้ครอบครัวเดือดร้อน ขอมากักตัวคนเดียวที่รีสอร์ต เข้าพักวันที่ 4 รู้สึกเหงาออกมานั่งเล่นหน้าห้องเห็นคนรู้จักพักอยู่ห้องติดกันจึงนั่งคุยกัน จากนั้นมีผู้พักห้องอื่นมาทักทาย ตกเย็นออกมาคุยกันอีก บางคนมีเบียร์หรือเหล้าเอามานั่งดื่มคลายเหงา ไม่ได้หวังสร้างความก่อกวนคนอื่น แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนนายธีรพงษ์ถูกแจ้งเพิ่มเสพยาเสพติดอีกข้อหา

...

เซลส์ว่างงานชวนเพื่อนร่ำสุรา

เวลาไล่เลี่ยกัน พ.ต.อ.เทพพิทักษ์ แสงกล้า ผกก.สภ.เมืองศรีสะเกษ นำกำลังจับกุมชาย 4 คนนั่งล้อมวงดื่มสุราส่งเสียงดังที่บ้านเช่าเลขที่ 423 ซอยสามัคคี ต.หญ้าปล้อง เมื่อค่ำวันที่ 13 เม.ย. สอบสวนผู้ต้องหาให้การว่า เป็นพนักงานขายบริษัทจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ช่วงรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว บริษัทหยุดยาวแยกย้ายกันไปพักคนละที่ วันนี้นัดมาทำอาหารกินกัน มีคนในกลุ่มถือเหล้ามาด้วยจึงมาตั้งวงดื่มกิน ไม่ทราบว่าผิดกฎหมาย ตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาว่า ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมกันในสถานที่แออัด อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นำตัวดำเนินคดี

ศาลยโสธรสั่งจำคุก 13 เซียนไพ่

ที่ศาลจังหวัดยโสธร พนักงานอัยการคดีศาลแขวงยโสธรเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนักพนัน 13 คนเป็นจำเลยฐานความผิดร่วมกันเล่นพนันรัมมี่เอาทรัพย์สินกันโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 13 เม.ย. เวลา 13.00 น.ในป่าละเมาะบ้านใหม่ชุมพร หมู่ 13 ต.เดิด อ.เมือง ยโสธร ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งหมดให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาให้จำคุกคนละ 15 วันและปรับคนละ 5,800 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพและไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เพื่อเป็นการให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี

จับ 8 เซียนไฮโลเขย่าเต๋าในบ้าน

พล.ต.ต.กฤษฎา แก้วจันดี ผบก.ภ.จ.พัทลุง รับแจ้งว่ามีการลักลอบเล่นพนันไฮโลกันในบ้านเลขที่ 29 หมู่ 7 ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด สั่งการให้ พ.ต.อ.ยศวรรธน์ กระจ่างวงศ์ ผกก.สส.ภ.จ.พัทลุง เข้าตรวจสอบเมื่อเวลา 15.30 น.วันที่ 14 เม.ย. พบนักพนันชายหญิงล้อมวงเล่นไฮโลอย่างสนุกสนานไม่เกรงกลัว พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เฝ้าระวังการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เมื่อหันมาเห็นตำรวจถึงกับวงแตกจะเผ่นหนี แต่ไม่รอดถูกจับกุมได้ทั้งหมด 8 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 5 คน พร้อมอุปกรณ์เล่นพนันไฮโล 1 ชุด และเงินสด 2,530 บาท นำตัวส่ง สภ.ตะโหมด ดำเนินคดี

เมาซิ่งกระบะป่วนด่านเคอร์ฟิว

ส่วนที่ จ.นครนายก เมื่อเวลา 22.30 น.วันที่ 13 เม.ย. ขณะที่ พ.ต.ท.อาภากร แก้วจรัส สวป.สภ.เมืองนครนายก นำกำลังตั้งด่านตรวจเคอร์ฟิวหน้าสำนักงาน อบต.สาริกา พบรถกระบะอีซูซุ สีขาวทะเบียน ยข 3247 นครนายก เหยียบคันเร่งเครื่องยนต์เสียงดังขับวนก่อกวนด่านอยู่ 2-3 รอบก่อนขับหนี เจ้าหน้าที่ไล่ติดตามจับกุมได้ที่รีสอร์ตแห่งหนึ่ง เป็นบ้านของผู้ก่อเหตุ ทราบชื่อนายสมานมิตร ภูแก้ว อายุ29ปี อยู่ในอาการมึนเมาสุรา ยอมรับว่าก่อนเกิดเหตุดื่มสุราอยู่บ้านแล้วมีปัญหากับครอบครัวเลยขับรถออกมา เห็นด่านตรวจเกิดคึกคะนองขับรถแบบเร็วหวาดเสียววนด่าน 2 รอบ ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใหญ่โตสุดท้ายมาถูกตำรวจตามจับกุม ด้านแม่ผู้ก่อเหตุบอกว่าลูกชายมีนิสัยขี้น้อยใจ ชอบทำตัวเรียกร้องความสนใจจากครอบครัว นำตัวส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดีฝ่าฝืนคำสั่งเคอร์ฟิวและเมาแล้วขับ

บช.น.ไม่มีฝ่าฝืนก๊งเหล้า-เล่นน้ำ

ขณะที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รอง ผบช.น.เปิดเผยถึงผลการปฏิบัติงานเมื่อคืนวันที่ 13 เม.ย. ในส่วนที่ เกี่ยวข้องกับเทศกาลสงกรานต์ หลัง กทม.ได้ขอความร่วมมือให้ประชาชนงดการเล่นน้ำสงกรานต์ในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าจากการตรวจสอบของโรงพักทั้ง 88 สน.ทั่ว กทม. พบประชาชนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่มีการเล่นน้ำสงกรานต์ ไม่มีผลการจับกุม นอกจากนี้ หลังจาก กทม.มีประกาศห้ามจำหน่ายสุราตั้งแต่วันที่ 10-20 เม.ย.63 ถึงตอนนี้ก็ไม่มีผู้ฝ่าฝืน

ยอดจับเคอร์ฟิวลดลงเรื่อยๆ

พล.ต.ต.จิรพัฒน์ เปิดเผยต่อว่า ส่วนผลการตั้งด่านตรวจกลางคืนช่วงเคอร์ฟิวพบว่า มีแนวโน้มสถิติผู้ฝ่าฝืนลดลง เมื่อคืนที่ผ่านมา มีผู้ฝ่าฝืนที่จับกุมดำเนินคดีเพียง 26 ราย เพราะจงใจฝ่าฝืนจริง โดยไม่มีเหตุผล ทั้งนี้ ในช่วงเวลาประมาณ 22.00 น. จะเป็นการว่ากล่าวตักเตือนให้รีบกลับ ประชาชนให้ความร่วมมือมากขึ้นทุกวัน ส่วนช่วงกลางวันยังคงมีด่านตรวจโควิด-19 จำนวน 13 ด่าน ช่วงรอยติดต่อรอบ กทม.เหมือนเดิม ขอฝากถึงประชาชน ช่วงนี้ขอให้อยู่ที่บ้านให้มากขึ้นเหมือนเดิมต่อไป ถ้าจำเป็นต้องออกนอกเคหสถาน ขอให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ในการเว้นระยะห่างและสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกนอกเคหสถาน

แนะผู้ขนส่งเตรียมเอกสารให้ครบ

ขณะที่นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านคมนาคมและการขนส่งทั่วราชอาณาจักร เปิดเผยว่า ได้ลงนามออกคำสั่งที่ 1/2563 เรื่อง ข้อปฏิบัติในการขนส่งสินค้าทางถนนในสถานการณ์ฉุกเฉินระหว่างช่วงเวลาห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00-04.00น. ของวันรุ่งขึ้น โดยกำหนดข้อยกเว้นในการปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้าบางประเภท เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และให้การปฏิบัติเป็นไปตามกฎหมายดังกล่าวนั้น ได้ออกคำสั่งข้างต้น กำหนดให้บุคคลที่มีความจำเป็นในการขนส่งสินค้า เพื่อประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ผู้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง ไปรษณียภัณฑ์ พัสดุภัณฑ์ หนังสือพิมพ์ สินค้าเพื่อการนำเข้าหรือส่งออก รวมถึงการขนส่งเที่ยวเปล่าหรือตู้สินค้าเปล่า ในกรณีเดินทางไปรับสินค้าและเดินทางกลับภายหลังเสร็จสิ้นการขนส่งสินค้าเรียบร้อยแล้วด้วย โดยจะต้องจัดเตรียมใบอนุญาตขับรถ บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวพนักงานหรือหนังสือรับรองการทำงาน และเอกสารเกี่ยวกับสินค้าตามแบบแนบท้ายคำสั่งนี้ เพื่อใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด รวมถึงตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกาย ให้มีผลตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

13 เม.ย. ศาลทั่ว ปท.พิจารณา 1,320 คดี

ด้านนายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยข้อมูลสถิติคดีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ หลังรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว และได้ผ่อนปรนข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเคอร์ฟิวสำหรับบางอาชีพเพิ่มเติมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 3) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เม.ย.63 เฉพาะในวันที่ 13 เม.ย.วันแรกของเทศกาลสงกรานต์ มีจำนวนคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล ดังนี้ กลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง มีคดีขึ้นสู่การพิจารณา 1,320 คดี พิพากษาแล้วเสร็จ ทั้งหมด 1,211 คดี (คิดเป็นร้อยละ 91.74) สำหรับผู้ถูกตั้งข้อหาที่กระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1,553 คน เป็นสัญชาติไทย 1,469 คน สัญชาติอื่น 84 คน และกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จำนวน 39 คน เป็นสัญชาติไทย 38 คน สัญชาติอื่น 1 คน

คนกรุง–ชลบุรีแชมป์ร่วมฝ่า พ.ร.ก.

นายสราวุธกล่าวต่อว่า จังหวัดที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุด 3 อันดับในการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อันดับ 1 จ.ชลบุรี จำนวน 110 คน และกรุงเทพมหานคร จำนวน 110 คน อันดับ 2 จ.ระยอง 75 คน อันดับ 3 จ.ลพบุรี 64 คน จังหวัดที่มีผู้กระทำความผิดพ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ อันดับ 1 จ.ชลบุรี 18 คน อันดับ 2 จ.ยะลา 12 คน อันดับ 3 จ.สมุทรสาคร 3 คน ในกลุ่มคดีศาลเยาวชนและครอบครัว พบว่ามีจำนวนคำร้องที่ขอตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 68 คำร้อง (คดี) ข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบจับกุม ได้แก่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 68คน (สัญชาติไทย 65 คน/สัญชาติอื่น 3 คน) ทั้งหมดผ่านการตรวจสอบการจับ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีเยาวชนว่าชอบด้วยกฎหมาย และเข้ากระบวนตาม พ.ร.บ.คดีเยาวชนต่อไป

10 วันรับคดีทั่ว ปท. 9,007 คดี

เลขาศาลฯกล่าวต่อว่า ส่วนภาพรวมสถิติคดีสะสมตั้งแต่วันที่ 3-13 เม.ย.63 รวม 10 วัน มีดังนี้ กลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง มีคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาทั้งหมด 9,007 คดี พิพากษาแล้วเสร็จทั้งหมด 8,515 คดี (คิดเป็นร้อยละ 94.54) สำหรับผู้ถูกตั้งข้อหาที่มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 10,089 คน แบ่งเป็นสัญชาติไทย 9,460 คน สัญชาติอื่น 629 คน ส่วนการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 จำนวน 115คน สัญชาติไทย 107 คน สัญชาติอื่น 8 คน และการกระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542จำนวน 2 คน เป็นสัญชาติไทย

ภาพรวม กทม.ฝ่า พ.ร.ก.อันดับ 1

จังหวัดที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุด 3 อันดับ ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อันดับ 1 กรุงเทพมหานคร 730 คน อันดับ 2 จ.ชลบุรี 462 คน อันดับ 3 จ.ปทุมธานี 455 คน จังหวัดที่มีผู้กระทำความผิด สูงสุด 3 อันดับ ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 อันดับ 1 จ.ชลบุรี 42 คน อันดับ 2จ.สมุทรสาคร 27 คน อันดับ 3 จ.ยะลา 14 คน และจังหวัดที่มีการทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 อันดับ 1 นนทบุรี 1 คน นราธิวาส 1 คน ในกลุ่มคดีศาลเยาวชนและครอบครัว พบมีข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบจับกุม ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินจำนวน 548 คน แบ่งเป็นสัญชาติไทย 530 คน สัญชาติอื่น 18 คน คำร้องและมีข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบจับกุม ตาม พ.ร.บโรคติดต่อ พ.ศ.2558 จำนวน 4 คน ผลการตรวจสอบการจับชอบด้วยกฎหมาย 552 คน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2 คน

นครพนมเข้มล็อกดาวน์ต่อเนื่อง

ส่วนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 แต่ละจังหวัดยังเข้มข้น โดยที่ จ.นครพนม นายสยาม ศิริมงคล ผวจ. สั่งการเจ้าหน้าที่เพิ่มมาตรการ เข้มเป็นวันที่ 2 ในการล็อกดาวน์ห้ามเข้าออกจังหวัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ระหว่างวันที่ 13-30 เม.ย. ถึงแม้การเพิ่มมาตรการเข้มวันแรกจะเกิดปัญหาวุ่นวาย เนื่องจากมีประชาชนมาต่อคิวรอขออนุญาตเดินทางเข้าออกจำนวนมาก อาทิ จุดคัดกรองบนถนน สายนาแก-สกลนคร ต.นาแก อ.นาแก ถนนหลักที่เชื่อมไปยัง จ.สกลนคร รถติดยาวเป็นกิโลเมตร แต่จังหวัดยังเข้มงวดต่อเนื่อง พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งเคร่งครัด นายสยามกล่าวว่า ได้เฝ้าระวังควบคุมต่อเนื่องเพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน พบผู้ป่วย 2 ราย แต่เป็นคนที่กลับมาจากต่างจังหวัด ปัจจุบันถือว่าสามารถควบคุมได้และไม่รุนแรง ล่าสุดต้องเข้มงวดการเข้าออก เน้นตั้งจุดตรวจสกัดคัดกรองทั้ง 12 อำเภอ ฝากถึงประชาชน ที่ไม่ได้รับความสะดวก หรือเสียเวลาสิ่งที่ดำเนินการ คือ ความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ ขอให้ร่วมมือช่วยกันเพื่อจะได้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

นนท์ยกเลิกคำสั่งผ่อนปรน

ด้าน จ.นนทบุรี หลังจากวันที่ 13 เม.ย. นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผวจ. ลงนามคำสั่งเรื่องให้ผ่อนปรนเปิดสถานที่บางประเภทที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. ประกอบด้วย ร้านตัดผม เสริมสวย (เฉพาะทำผม) ร้านรับส่งพัสดุ แผงค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ร้านวัสดุอุปกรณ์สำนักงาน ร้านวัสดุก่อสร้าง ร้านเฟอร์นิเจอร์ ศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือ ระบบสื่อสาร ร้านขายและซ่อมอุปกรณ์โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องครัว ต่อมาช่วงเช้า วันที่ 14 เม.ย. นายสุจินต์ได้ออกคำสั่งด่วนให้ระงับ คำสั่งผ่อนปรนที่ประกาศไปก่อนหน้าทั้งหมด 38 ประเภท โดยผ่อนปรนเฉพาะศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือ หรือระบบสื่อสารที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ต้องทำตามมาตรการป้องกันโรคคือ 1.ผู้รับบริการต้องสวมหน้ากาก อนามัย 2.ผู้ให้บริการต้องสวมหน้ากากอนามัย หากเป็น พื้นที่ปิดให้สวม face shield 3.มีจุดคัดกรองผู้รับ บริการ 4.มีจุดล้างมือหรือเจลล้างมือ 5.จัดสถานที่ ไม่ให้แออัด มีระยะห่างไม่น้อยกว่า 1 เมตร หรือให้นัดคิว ล่วงหน้า 6.มีช่องทางพิเศษสำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และ 7.รักษาความสะอาดพื้นที่ให้ถูกสุขลักษณะ

อ่างทองห้ามขายเหล้าเพิ่ม 10 วัน

ส่วนที่ จ.อ่างทอง นายเรวัต ประสงค์ ผวจ. ออกประกาศขยายระยะเวลาบังคับงดการจำหน่ายสุรา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเพิ่มขึ้นอีก 10 วัน จากเดิมถึง 20 เม.ย. เพิ่มไปถึงวันที่ 30 เม.ย. เพื่อ ลดความเสี่ยงของประชาชนในการสัมผัสเชื้อโรค ที่ผ่านมา จังหวัดมีการรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ประชาชนให้ความร่วมมือกับ ทางราชการเป็นอย่างดี ถึงขณะนี้ทั้งจังหวัดยังไม่มีผู้ติดเชื้อ ทุกฝ่ายยังคงให้ความร่วมมือเฝ้าระวังและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัดต่อไป

ปิดสะพานข้ามเกาะลอยศรีราชา

ที่สำนักงานสาธารณสุข จ.ชลบุรี นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผวจ.ชลบุรี นายวิทยา คุณปลื้ม นายก อบจ. ชลบุรี นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกับคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อรับมือสถานการณ์การระบาด ของไวรัสโควิด-19 ในที่ประชุมมีมติให้สั่งปิดสะพานข้ามเกาะลอย อ.ศรีราชา และเห็นชอบแก้ไขคำสั่งฉบับ 7 ยกเว้นให้ร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า มือถือ คอมพิวเตอร์ต่างๆในห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่กำหนดมาตรการคัดกรองผู้ใช้บริการอย่างเข้มงวด ส่วนปัญหา ของเมืองพัทยาที่มีประชาชนผู้ขาดรายได้ไม่มีที่พัก ต้องออกมานอนตามสถานที่สาธารณะ หรือชายหาด คณะกรรมการจะนำไปหารือส่วนกลางเพื่อหาทางแก้ปัญหาโดยด่วน

ทำความสะอาดวัดพระธาตุช่อแฮ

ที่วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง วัดคู่บ้านคู่เมืองของ จ.แพร่ พระโกศัยเจติยารักษ์ เจ้าอาวาสวัด พระครูบัณฑิตเจติยานุการ พระครูภาวนาเจติยานุกิจ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัด พร้อมพระภิกษุสามเณรประมาณ 30 รูป ช่วยกันทำความสะอาดบริเวณวัด คัดกรองผู้มาทำบุญที่วัดอย่างเข้มงวด พระโกศัยเจติยารักษ์เผยว่า ปกติวัดพระธาตุช่อแฮจะมีเจ้าหน้าที่เกือบ 60 คนทำงานที่วัด ทั้งทำความสะอาดบริเวณวัด พ่นยาฆ่าเชื้อ ทำช่อดอกไม้บูชาพระ ล้างจาน คัดกรองผู้มาทำบุญที่วัดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ช่วงนี้อยู่ระหว่างเทศกาลสงกรานต์ จึงให้เจ้าหน้าที่ทั้งหมดหยุดงานไปอยู่กับครอบครัว ดังนั้นพระภิกษุสามเณรจึงมาทำหน้าที่แทนด้วยความสมัครใจ

โวยด่านตรวจทำรถติดยาว

จ.พิษณุโลก มีคลิปแชร์ว่อนออนไลน์ หนุ่มนักธุรกิจโวยเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจคัดกรองโควิด-19 ตรงข้ามห้างโลตัส ต.ท่าทอง อ.เมืองพิษณุโลก ทำรถติดยาวกว่าจะถึงด่านใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30 นาที ชายคนดังกล่าวลงมาจากรถพูดจาเอะอะโวยวายต่อว่าเจ้าหน้าที่ประจำด่านว่า เห็นด้วยกับนโยบายและขั้นตอน แต่วิธีการผิด บริหารงานไม่เป็น เอาเจ้าหน้าที่มานั่งเยอะแยะทำไม ทำไมไม่เอากระดาษจิ้มสีออกไปตรวจวัดอุณหภูมิ ติดเทปใสไว้หน้ากระจกรถ รถจะได้ค่อยๆเลื่อน พอถึงด่านคัดกรองก็ปล่อยรถให้มา 4 ช่องจราจร ไม่ใช่มาเพียงช่องเดียวแบบนี้เสียเวลาทำมาหากิน จากนั้นก็เดินขึ้นรถสีดำป้ายแดงขับออกไปพร้อมบ่นอีกว่า บริหารไม่เป็น ทำงานทั้งวันก็ได้แค่นี้

ศูนย์ดะวะห์ประกาศงดกิจกรรม

ลงไปทางใต้ ศูนย์ดะวะห์แห่งประเทศไทย หรือมัรกัสยะลา ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา ออกประกาศเรื่องการงดจัดกิจกรรมทางศาสนา (ดะวะห์) ในช่วงแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ว่า ตามที่ได้ประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรมทางศาสนาให้ทราบมาตลอด เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตามประกาศของจุฬาราชมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่มาตั้งแต่วันที่ 19มี.ค. แต่เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้าง ขอให้ทุกคนงดจัดกิจกรรมในทุกพื้นที่ ต้องให้ความร่วมมือกับแพทย์ พยาบาล และ อสม. ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของทางการทุกระดับอย่างเคร่งครัด ให้ปฏิบัติตามแนวทางผู้อาวุโสที่แนะนำและให้ทุกคนช่วยประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มดะวะห์ด้วยกันได้รับทราบ ขณะเดียวกันมีรายงานว่า อามีร หรือที่ปรึกษาศูนย์ดะวะห์แห่งประเทศไทย (มัรกัสยะลา) ได้ชี้แจงต่อตัวแทนผู้รับผิดชอบฮัลเกาะห์ (ศูนย์ย่อย) ขอให้ดะวะห์ทุกคนปฏิบัติตามประกาศข้างต้น การทำงานดะวะห์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้รับฟังคำสั่งของที่ปรึกษาเท่านั้น จงอดทนและพยายามรักษาความสามัคคีอย่าสร้างความแตกแยกในกลุ่มดะวะห์ด้วยกัน

สปส.ชง ครม.ช่วยเหยื่อโควิด

อีกด้านหนึ่ง นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการประกันสังคม พิจารณามาตรการเยียวยาผู้ประกันตนที่ได้รับผล กระทบจากไวรัสโควิด-19 ว่า บอร์ด สปส. มีมติรับทราบตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 เม.ย. ถึงความจำเป็นเร่งด่วนต้องบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตน ได้เสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความคำว่าเหตุสุดวิสัยครอบคลุมไปถึงไหน เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงกรณีที่สถานประกอบกิจการปิดตัวลงด้วย และให้ สปส.เสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบ วินัยการเงินการคลังเสนอ ครม.พิจารณาในวันที่ 15 เม.ย. เพื่อขอความเห็นชอบจากนั้นจะออกกฎกระทรวงและรอให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาจึงจะมีผลบังคับใช้

คาด 7–8 แสนคนมาขอรับเงินชดเชย

นายสุทธิกล่าวว่า คาดว่าจะมีผู้ประกันตนมาลงทะเบียนรับเงินชดเชยว่างงานประมาณ 7-8 แสนคน แยกเป็นตัวเลขจากการลาออก เลิกจ้างประมาณ 3-4 แสนคน ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ประมาณ 3.5 แสนคน อัตราการจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 62 ของค่าจ้าง ผู้ประกันตนและนายจ้างสามารถลงทะเบียนยื่นคำร้องไว้กับทางสำนักงานประกันสังคม ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะไม่มีการจำกัดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรืองานบริการ แต่ให้ถือว่าเป็นผู้ประกันตนทุกกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการเยียวยา ส่วนกลุ่มที่โดนตัดเงินเดือนแต่สถานประกอบกิจการยังไม่ปิด ในส่วนนี้จะไม่ได้รับการเยียวยา เพราะยังไม่ใช่เป็นกรณีว่างงาน

เผยกลุ่มแรกได้รับเงิน 17 เม.ย.

เมื่อถามว่าเงินในกองทุนประกันการว่างงานสามารถดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน นายสุทธิกล่าวว่า จะพยายามดูแลและหมุนสภาพคล่องของกองทุนให้ดีที่สุด ขณะนี้เงินกองทุนว่างงานมี 1.62 แสนล้านบาท ส่วนจะพอหรือไม่ ขออย่ากังวล ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคมแก้ปัญหา ขณะนี้ขอให้กระทรวงได้นำเรื่องนี้เสนอให้ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาก่อน จะจ่ายเงินชดเชย 3 เดือน แต่จะให้ครั้งละเดือน ต้องพิจารณาว่ากระทบเดือนไหนก็ให้รับเดือนนั้นไปก่อน หากอีกเดือนกลับมาทำงานได้ก็หยุดรับเงินชดเชย ดำเนินการตามข้อเท็จจริงที่ผู้ประกันตนได้รับผลกระทบ จะเร่งให้จ่ายเงินได้เร็วที่สุด เนื่องจากมีผู้ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงเรื่องนี้มาก ทั้งนี้ กลุ่มแรกที่จะได้รับเงินเยียวยาในกรณีรัฐสั่งปิดกิจการชั่วคราว จะพยายามเร่งให้ได้รับเงินเยียวยาภายในวันที่ 17 เม.ย. อย่างช้าไม่เกิน 20-21 เม.ย.

ชงอัดฉีด อสม.พลังเงียบสู้โควิด

วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า จากการที่มีความกังวลว่าพี่น้องในต่างจังหวัดจะติดโควิดเพิ่มขึ้น ได้มอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงเคาะประตูในการค้นหากลุ่มเสี่ยง และขอชื่นชมการทำงานของ อสม.ที่แม้แต่ทางองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยก็ยกย่อง อสม.ไทยว่าเป็นพลังงานเงียบในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 และจากที่เป็นกำลังสำคัญ ทางกระทรวงจึงกำลังหารือเรื่องการทำกรมธรรม์ประกันชีวิตให้กับ อสม.ทั่วประเทศที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนด้วย

เร่งช่วยหมอนวดสถานะซ้ำซ้อน

นายสาธิตกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ได้มอบหมายกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพหมอนวดแผนไทยทั่วประเทศ ที่ลงทะเบียนไว้กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ 1.4 แสนราย เนื่องจากการเยียวยาของกระทรวงการคลังที่ผ่านมา กลุ่มอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบอันดับต้นๆคือ กลุ่มหมอนวดแผนไทย เพราะประกอบอาชีพกับนักท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ 80-90% ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 เม.ย. มีกลุ่มหมอนวดบางรายมีสถานะซ้ำซ้อนเช่น เป็นเกษตรกร นักศึกษาและผู้ประกอบการ ถูกปฏิเสธไม่ได้รับการเยียวยา ได้เสนอให้ยื่นอุทธรณ์เพื่อรักษาสิทธิ์ เพราะอาจเป็นสถานะเก่าหรือถูกคนอื่นหยิบยกไปใช้ มอบให้ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ไปสนับสนุนข้อมูลที่เป็นจริงให้ ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสภากาชาดไทยให้ดูแลพี่น้องหมอนวดแผนไทยที่ไปทำงานในต่างจังหวัด เดินทางกลับบ้านไม่ได้ ทั้งยังไม่มีรายได้ อาจทำให้ไม่มีเงินในการซื้ออาหารรับประทาน ขอให้สภากาชาดกำหนดกลุ่มหมอนวดแผนไทยที่มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดอื่นให้ได้รับถุงยังชีพด้วย

พบอีก 5 หมื่นคนไม่ได้รับเยียวยา

ด้าน นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ในเรื่องขวัญกำลังใจที่จะสนับสนุน อสม. ได้ทำหนังสือถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อซักซ้อมเรื่องหลักการเยียวยาตามมาตรา 44 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หากบาดเจ็บจ่าย 1 แสนบาท หากพิการจ่ายไม่เกิน 2.4 แสนบาท และหากเสียชีวิตจ่าย 4 แสนบาท และยังจะทำเรื่องขอค่าตอบแทนเพิ่มเป็น 2 เท่ากรณีการทำงานเกี่ยวกับโรคโควิด-19 สร้างความมั่นใจในการปฏิบัติงานด้วย ส่วนการทำประกันภัยนั้นขณะนี้มีผู้จะสนับสนุนเกี่ยวกับเรื่องประกันภัยให้ อสม.ด้วย สำหรับเรื่องหมอนวดแผนไทยได้ส่งข้อมูลให้กับกระทรวงการคลัง โดยรอบแรกส่งไป 1.4 แสนราย แต่จากการตรวจสอบเพิ่ม จะส่งข้อมูลเพิ่มเติมอีก 1.8 หมื่นราย นอกจากนี้ ยังได้รับการประสานจากตัวแทนผู้ให้บริการนวดที่ได้หารือกันพบหมอนวดอีก 5 หมื่นรายไม่ได้รับการเยียวยา จะนำเรื่องนี้ไปหารือกระทรวงการคลังถึงสาเหตุที่แน่ชัดอีกครั้ง ส่วนเรื่องถุงยังชีพของ อสม. สภากาชาดจะนำไปพิจารณาหากเข้าตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับ

รองต่อ–จิตอาสาแจกข้าวกล่อง

เย็นวันเดียวกัน ที่ตลาดดอกไม้ยอดพิมาน เขตพระนคร พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบช.ก. พร้อมทีมงานจิตอาสา 904 นำข้าวกล่องรวมกว่า 300 กล่อง และแมสก์ผ้ามาแจกให้กับประชาชน เนื่องจากเห็นว่าประชาชนตรงจุดนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หาเช้ากินค่ำ ก่อนเกิดวิกฤติตลาดแห่งนี้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง แต่หลังประกาศเคอร์ฟิว ต้องปิดตลาดตามเวลาที่รัฐบาลกำหนด ส่งผลให้รายได้พ่อค้าแม่ค้าลดลงไปมาก แต่รายจ่ายเท่าเดิม ตำรวจและจิตอาสาจึงจัดอาหารแจกให้ประชาชนเพื่อลดรายจ่าย เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยจะแจกวันละ 2-300 กล่อง ขอความร่วมมือให้ประชาชน ที่เดินทางมารับอาหารนั้นเป็นผู้เดือดร้อนจริงๆ

ยามยาก ตร.ไม่ทิ้งประชาชน

ที่ตลาดปากซอยบางกระดี่ ท้องที่ สน.แสมดำ พล.ต.ต.โชคชัย งามวงศ์ ผบก.น.9 น.ส.กัลยา รัตนเทพสถิตย์ ประธานชมรมเบญจสัมพันธ์ ร่วมกันนำอาหาร 500 ชุด น้ำดื่ม 500 ขวด หน้ากากอนามัย 1,500 ชิ้น เจลแอลกอฮอล์ 500 ขวด แจกจ่ายประชาชน ภายใต้โครงการ “คนไทย ไม่ทิ้งกัน อิ่มนี้เพื่อคุณ# สู้โควิด-19” โดยอาหารที่นำมาแจก ได้จ้างร้านอาหาร ตามสั่งในพื้นที่ บก.น.9 ร้านละ 500 กล่อง หมุนเวียนสั่งแต่ละร้านในแต่ละวัน เพื่อช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าอาหารตามสั่งที่ได้รับผลกระทบ โดยจะตระเวนแจกในพื้นที่ บก.น.9 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เช่นเดียวกับ พ.ต.อ.วาสุเทพ คงกล่อม ผกก.สน.คันนายาว พร้อมกำลังนำข้าวกล่องพร้อมน้ำดื่มกว่า 300 ชุด มอบให้ชาวบ้านในชุมชนกีบหมู ถนนสุเหร่าคลองหนึ่ง แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กทม. เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีคนต่างด้าวอยู่จำนวนมาก รวมทั้งชาวไทยที่เป็นแรงงานอิสระหาเช้ากินค่ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน จากนี้จะนำของมาแจกชาวบ้าน อีกหลายพื้นที่ในเขตรับผิดชอบที่ประสบปัญหาเช่นกัน

พม.ทำโพลสำรวจครอบครัวไทย

ด้าน น.ส.สราญภัทร อนุมัติราชกิจ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ได้สำรวจ “ครอบครัวไทยในภาวะวิกฤติโควิด-19” จากประชาชนทุกอาชีพทั่วประเทศ 2,069 ตัวอย่าง ระหว่าง 10-13 เม.ย. พบข้อมูลที่น่าสนใจในแต่ละประเด็นดังนี้ ประเด็นที่ 1 การปฏิบัติตัวของประชาชนช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 96.4 สมาชิกในครอบครัวส่วนใหญ่สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน ร้อยละ 88.3 มีความพยายามหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ไม่ไปอยู่ในสถานที่สาธารณะที่มีผู้คนแออัดและหลีกเลี่ยงงานสังสรรค์ ร้อยละ 84.3 มีการทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ กินร้อน ช้อนส่วนตัวและล้างมือบ่อยมากขึ้น

ส่วนใหญ่ติดตามข่าวอยู่ที่บ้าน

ประเด็นที่ 2 กิจกรรมที่ประชาชนทำขณะอยู่บ้าน Stay at home พบว่า ร้อยละ 98.8 มีการติดตามข่าวสารบ้านเมืองและข่าวสถานการณ์โควิด-19 ร้อยละ 85.6 มีส่วนร่วมช่วยเหลือสังคมด้วยวิธีการต่างๆ เช่น บริจาคเงิน ทำบุญ จิตอาสา ร้อยละ 82.0 เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆมากขึ้น สำหรับนโยบายทำงานที่บ้าน (Work from home) พบว่า สมาชิกครอบครัว 7 ใน 10 คนทำงานที่บ้าน 1 ใน 4 คนใช้เวลาทำงานมากพอกับที่ทำงาน นอกจากนี้พบว่าแม้จะมีสถานการณ์วิกฤติโรคระบาด ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.0 ไม่ได้ใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกัน ร้อยละ 56.4 สามารถควบคุมการใช้อารมณ์รุนแรงหรือไม่ใช้อารมณ์รุนแรงกับคนในครอบครัว แต่ที่น่าห่วงใยคือมีครอบครัวไทยร้อยละ 5.8 ที่เมื่อหงุดหงิดและโมโหแทบไม่สามารถควบคุมการใช้อารมณ์กับคนในครอบครัวได้เลย ในจำนวนนี้ร้อยละ 0.9 มีการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกันจนได้รับบาดเจ็บ

เริ่มใช้ชีวิตพอเพียงมากขึ้น

น.ส.สราญภัทรกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 3 การอยู่ร่วมกันของครอบครัว พบว่า ร้อยละ 94.6 มีความเห็นว่าสถาบันครอบครัวมีความสำคัญมากที่สุด ร้อยละ 84.0 รู้สึกมีความสุขที่ได้อยู่ร่วมกับครอบครัว และร้อยละ 68.9 มีการตัดสินใจเรื่องต่างๆร่วมกับครอบครัว อย่างไรก็ตาม มีครอบครัวไทยเพียงร้อยละ 23.4 เท่านั้นที่ไม่มีปัญหาด้านการเงินและสามารถดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้ในภาวะวิกฤตินี้ ร้อยละ 61.4 พอที่จะจัดการแก้ไขปัญหาทางการเงินและดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้ แต่ร้อยละ 14.7 มีปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะแทบไม่สามารถจัดการด้านการเงินและค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้เลย ทั้งนี้เกือบ 2 ใน 3 หรือ ร้อยละ 65.5 มีความเชื่อถือข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข และมีความเชื่อมั่นการทำงานของรัฐ รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ ที่สำคัญจากภาวะวิกฤตินี้ ทำให้ประชาชนกว่า 6 ใน 10 หรือร้อยละ 60.1 มีการใช้ชีวิตแบบพอเพียงมากขึ้น นอกจากนี้ยังพบครอบครัวไทยมีผู้สูงอายุ มีผู้ป่วยหรือทำงานเสี่ยงกับการติดโรคระบาดถึงร้อยละ 13.8 โดยร้อยละ 29.8 มีความเสี่ยงระดับปานกลาง

ขุดรากถอนโคนคดีเกี่ยวกับแมสก์

เย็นวันเดียวกัน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร.เปิดเผยถึงการซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติในการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหน้ากากอนามัย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ห่วงใยในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน อีกทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้ที่ไม่หวังดีฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชน ในประเด็นที่เกี่ยวกับหน้ากากอนามัย กรณีดังกล่าวยังมีความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผลิต นำเข้า ส่งออกจำหน่ายหน้ากากอนามัย และอาชญากรรมในรูปแบบอื่นอีกหลายกรณี มอบหมาย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร.กำกับดูแลการซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติเพิ่มเติมในการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหน้ากากอนามัย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุกนายเข้าใจแนวทางปฏิบัติให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

จับทั้งคนนำเข้าและโกดังเก็บของ

รองโฆษก ตร.กล่าวต่อว่า นอกจากความผิดฐานจำหน่ายเกินราคาที่กำหนด และไม่แสดงราคาสินค้า ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 แล้ว ยังมีความผิดอื่นที่เกี่ยวข้องเช่น ผู้นำเข้า เก็บสินค้าควบคุมไว้ ณ สถานที่อื่นนอกจากสถานที่เก็บตามที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นความผิดตาม ม.30 และ ม.41 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีการขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อ จะมีความผิดตาม ป.อาญา ม.271 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หากไม่จดทะเบียนสถานประกอบการต่อผู้อนุญาต (อย.) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท ตาม ม.15 และ ม.85 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 และหากผู้ผลิต ผู้ส่งออก ตัวแทนจำหน่วยหน้ากากอนามัย ไม่แจ้งต้นทุนราคาซื้อ ราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต ส่งออก ฯลฯ ตามประกาศคณะกรรมการ ตามมาตรา 25 (5) และ ม.26 ว.1 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกไม่เกินวันละ 2,000 บาท เป็นต้น

กำชับสืบสอบขยายผลให้ครบ

รองโฆษก ตร.กล่าวต่ออีกว่า หากพบผู้กระทำความผิด เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจยึดหรืออายัดหน้ากากอนามัย หรือพยานหลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องไว้ จนกว่าคดีถึงที่สุด พร้อมกันนี้ ผบ.ตร.ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย ยึดหลักกฎหมาย ระเบียบ คำสั่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้ปราบปรามจับกุมอย่างเด็ดขาดกับผู้ที่ฉวยโอกาสซ้ำเติมประชาชน และให้สืบสวนสอบสวนขยายผลผู้กระทำความผิดให้ครบถ้วนทุกกรณี โดยให้ผู้บังคับ บัญชาในทุกพื้นที่ลงไปกำกับ ดูแล ขับเคลื่อนการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ