แห่ตุน-แป๊บเดียวหมด รัฐยํ้าอีก-เยียวยาโควิด

“อุตตม” รมว.คลัง เทงบ 5 หมื่นล้าน ออกมาตรการเยียวยาแรงงานนอกระบบช่วงโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท 3 เดือน ลูกจ้างอิสระอย่างร้านหมูปิ้ง วิน จยย. รวมไปถึงแท็กซี่ก็ได้ด้วย สศค.แนะเตรียมเอกสารขอเยียวยาได้วันที่ 26 มี.ค.นี้ ส่วนแรงงานในระบบ กระทรวงแรงงานแถลงดูแลคนอยู่ในระบบกรณีนายจ้างไม่ให้ทำงานจากเหตุสุดวิสัยและไม่ได้รับค่าจ้าง ยันจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างไม่เกิน 180 วัน กรณีภาครัฐให้หยุดกิจการชั่วคราวรับเงินทดแทน 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างไม่เกิน 60 วัน ย้ำแรงงานที่ไม่ได้ทำงานชั่วคราว นายจ้างต้องจ่ายเงินเดือนต่อไปไม่น้อยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ “จุรินทร์” เผย กรอ.พาณิชย์ตั้งวอร์รูมร่วมเอกชน เกาะติดสินค้าและบริการ 7 กลุ่ม ทั้งอาหารสำเร็จรูป ข้าว ปศุสัตว์ ผลไม้ วัตถุดิบอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ และบริการขนส่งสินค้า หวังให้มีเพียงพอในประเทศช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก กรมการค้าภายในยันไข่ไก่ไม่ขาดแคลน ต่างจังหวัดไข่ขาดแคลนหนัก ราคาพุ่ง

กรณีผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ยังสร้างผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่พบผู้ติดเชื้อจากสนามมวย สถานบริการ และที่ชุมชนต่างๆเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กรุงเทพมหานครต้องออกมาตรการปิดที่ชุมนุม ทั้งห้างสรรพสินค้า สนามกีฬา ตลาด รวมไปถึงร้านอาหารตามตรอกซอกซอย ห้ามนั่งกินที่ร้าน อนุญาตให้ซื้อกลับไปกินที่บ้านเท่านั้น ขณะที่ในต่างจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัดเริ่มออกมาตรการเข้มข้นขึ้นลักษณะเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเตือนให้ประชาชนกักตัวอยู่ในบ้าน ทำให้ประชาชนเริ่มแตกตื่น แห่ซื้อสินค้ากลับไปกักตุน เนื่องจากเกรงว่าจะมีการขาดแคลน ทำให้สินค้าหลายชนิดเริ่มขาดแคลน อาทิ ไข่ไก่ และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

...

เยียวยาอาชีพอิสระ 5 หมื่นล้าน

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 25 มี.ค. นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เผยว่า วันที่ 26 มี.ค. เวลา 15.00 น. กระทรวงการคลังจะชี้แจงขั้นตอนลงทะเบียนการรับเงินเยียวยาผลกระทบการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 24 มี.ค. เพื่อประชาชนเข้าใจและสามารถลงทะเบียนอย่างถูกต้อง ผ่าน www.เราจะไม่ทิ้งกัน.com  หรือผ่านสาขาสถาบันการเงินของรัฐคือ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารกรุงไทย ระบบเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 08.00 น. วันที่ 28 มี.ค. สำหรับผู้ที่เข้าข่ายได้รับเงินคือ แรงงานนอกระบบประกันสังคมที่ประกอบอาชีพอิสระ และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จะได้รับเงินรวม 15,000 บาท แบ่งจ่ายเดือนละ 5,000 บาทเป็นระยะเวลา 3 เดือน ใช้งบกลาง 50,000 ล้านบาท หลังจากลงทะเบียนแล้วจะได้รับเงินภายใน 7 วัน ถ้าต้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมอาจใช้เวลานานกว่านั้น

แถมกู้ดอกเบี้ยต่ำได้อีก

“หากมีผู้ได้รับความเดือดร้อนมากกว่า 3 ล้านคน รัฐบาลพร้อมพิจารณาจัดสรรงบเพิ่มเติมเพื่อดูแล หากงบประมาณที่ใช้จ่ายไม่เพียงพอ การกู้เงินถือเป็นทางเลือกหนึ่งของรัฐบาล เรื่องนี้ ครม.มีมติไปแล้วในการประชุมว่า สามารถใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เงินกู้สมทบงบฯ แต่เบื้องต้นให้สำนักงบประมาณเกลี่ยงบประมาณของบางหน่วยงานที่ใช้จ่ายไม่ทันปี 63 นำมาให้รัฐบาลใช้กรณีฉุกเฉินก่อน ส่วนแรงงานนอกระบบรายใดที่ต้องการเงินทุนเพิ่มเติม สามารถขอสินเชื่อฉุกเฉินจากสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 3 แห่ง รายละไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ย 0.10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่วนกรณีต้องการมากกว่านั้นกู้ได้สูงถึง 50,000 บาท แต่ต้องมีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ย 0.35 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ส่วนผู้ประกอบการขอสินเชื่อวงเงินได้ไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์ใน 2 ปีแรกที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอีแบงก์)

แจงเอกสารลงทะเบียน

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า การเยียวยากลุ่มแรงงานนอกระบบคนละ 5,000 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 3 เดือน ยืนยันว่าตัวเลข 3 ล้านคนน่าจะครอบคลุมกลุ่มตกงาน เนื่องจากแรงงานในประเทศไทยมี 36 ล้านคน อยู่ในระบบประกันสังคมประมาณ 16 ล้านคน ที่เหลือ 20 ล้านคนเป็นแรงงานอิสระ ผู้ลงทะเบียนในเว็บไซต์ “เราจะไม่ทิ้งกัน.com” นอกจากต้องเตรียมหลักฐานส่วนตัว เช่น บัตรประชาชน ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลนายจ้างแล้ว หากกระทรวงการคลังยังไม่มั่นใจ อาจขอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อยืนยันเป็นผู้เดือดร้อนจริง

แท็กซี่-วิน จยย.-ขายหมูปิ้งมีสิทธิ

กรณีลูกจ้างร้านหมูปิ้งที่ไม่ได้จดทะเบียนบริษัท สามารถขอรับเงินเยียวยาได้หรือไม่ นายลวรณกล่าวว่า สามารถขอรับได้ หากมีหลักฐานว่าถูกปิดกิจการ หลักฐานที่ระบุว่าเป็นลูกจ้างร้านหมูปิ้ง เช่น รูปถ่ายที่เคยถ่ายในร้านหมูปิ้ง หรือหลักฐานอื่นๆที่ระบุว่า เป็นลูกจ้างร้านดังกล่าว เป็นต้น รวมถึงคนขับรถแท็กซี่และวินมอเตอร์ไซค์ด้วย มีสิทธิได้เงินเยียวยาด้วย คนมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาต้องมีอายุตั้งแต่ 18-60 ปี จำนวนนี้มีอยู่ 3 ล้านคน หากมีคนเข้าเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยามากกว่านี้ กระทรวงการคลังพร้อมดูแล เบื้องต้นเตรียมงบประมาณไว้ 45,000 ล้านบาท การจ่ายเงินให้กลุ่มอาชีพอิสระ อาจน้อยกว่าลูกจ้างประกันสังคมที่ได้รับสูงสุด 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน แต่เรื่องนี้เอาไปเทียบกันไม่ได้ เนื่องจากระบบประกันสังคมลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน แต่กลุ่มอาชีพอิสระไม่ได้จ่าย

...

ลดหักเงินประกันสังคมเหลือ 1%

ที่ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน แถลงแนวทางดูแลผู้ใช้แรงงานในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด คณะรัฐมนตรีมีมติแก้กฎกระทรวงว่าด้วยผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ครอบคลุมกรณีโรคระบาดในมนุษย์ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-31 ส.ค.ปีนี้ แก้คำนิยามของเหตุสุดวิสัยให้รวมถึงเป็นโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ผู้ประกันตนที่ไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือนายจ้างไม่ให้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย หรือรัฐสั่งให้นายจ้างหยุดประกอบกิจการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรค ใน 2 กรณีนี้สามารถได้รับการชดเชย และให้ขยายเวลาส่งแบบเงินสมทบผู้ประกันตนงวดเดือน มี.ค.-พ.ค.2563 ออกไปอีก 3 เดือน งวดเดือน มี.ค. ให้ส่งภายในวันที่ 15 ก.ค. งวดเดือน เม.ย.ให้ส่ง 15 ส.ค. และงวดเดือน พ.ค.ให้ส่งภายในวันที่ 15 ก.ย. และลดหย่อนเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 งวด มี.ค.-พ.ค. สำหรับนายจ้างให้ส่งเงินสมทบฯลดลงจากปกติ 5 เหลือ 4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ประกันตนส่งเงินสมทบลดลงจาก 5 ลดเหลือ 1 เปอร์เซ็นต์

เยียวยาลูกจ้าง 30-70 เปอร์เซ็นต์

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า การจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม กรณีนายจ้างไม่ให้ทำงานจากเหตุสุดวิสัย และผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้าง กองทุนประกันสังคมจะจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ของค่าจ้างไม่เกิน 180 วัน และกรณีหน่วยงานภาครัฐให้หยุดกิจการชั่วคราว ให้ลูกจ้างได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ 50 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างไม่เกิน 60 วัน ส่วนสิทธิประโยชน์การว่างงานกรณีลูกจ้างลาออก เดิมกำหนด 30 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ขยายเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ไม่เกิน 90 วัน ส่วนกรณีเลิกจ้างให้สิทธิ 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างไม่เกิน 200 วัน การยื่นขอสิทธิประโยชน์เพื่อป้องกันความแออัด เพิ่มช่องทางยื่นทางไปรษณีย์ โทรสาร อีเมลและไลน์ รวมทั้งเพิ่มช่องทางขอประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพและว่างงานผ่านเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th  ส่วนผู้ที่อยู่ในระบบประกันตนมาตรา 39 และ 40 ที่ประกอบอาชีพอิสระ และจ่ายเงินสมทบเอง ได้สิทธิรับเงินเดือนละ 5,000 บาท 3 เดือนตามที่กระทรวงการคลังให้เหมือนแรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว และอาชีพอิสระที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม

...

ปิดชั่วคราวต้องจ่าย 75%

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ชี้แจงกรณีสถานประกอบการที่หยุดกิจการชั่วคราวว่า ข้อกฎหมายหากมีเหตุจำเป็นสามารถหยุดกิจการชั่วคราวได้ แต่การจ่ายเงินให้ลูกจ้างหากไม่สามารถจ่ายได้เต็มตามที่ลูกจ้างเคยได้รับต้องจ่ายไม่น้อยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ส่วนกรณีลูกจ้างถูกบังคับให้ลาออก ถือเป็นเจตนามิชอบ เป็นการลาออกด้วยความมิชอบ กรณีลูกจ้างกังวลใจปัญหาสุขภาพขอกักตัว 14 วัน จะได้รับเงินเดือนตามสิทธิหรือไม่ คงต้องใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์พูดคุยความจำเป็นกับนายจ้าง เพราะเป็นความรับผิดชอบทางสังคม หรือแนะนำให้ใช้สิทธิ์ลาป่วยตามกฎหมายได้ 30 วัน และลาพักร้อนตามสิทธิ์ที่มีไปก่อน กรณีหมดสิทธิ์แล้วใช้สิทธิเงินทดแทนจากการลาป่วยได้

อบรมแรงงานมีเบี้ยเลี้ยง 150 บาท

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า กรมมีแนวทางการฝึกอาชีพให้แก่แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบการจ้างงาน หรือแรงงานนอกระบบ มีกลุ่มเป้าหมาย 390 รุ่นทั่วประเทศ ประมาณ 8,000 คน ใช้งบประมาณ 33 ล้านบาท ระยะเวลาฝึก 15 วัน มีเบี้ยเลี้ยงให้วันละ 150 บาท และการฝึกแรงงานในระบบการจ้าง โดยพัฒนาทักษะเพิ่มเติมให้สูงขึ้น เพื่อให้มีทักษะการทำงานดีขึ้น เป็นระยะเวลา 1 เดือน เช่น หลักสูตรการใช้อินเตอร์เน็ตในการทำงาน การเขียนแบบคอมพิวเตอร์ มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 7,000 คน 350 รุ่น มีเบี้ยเลี้ยงให้วันละ 150 บาท ใช้งบประมาณ 35 ล้านบาท

ผ่อนผันแรงงานต่างด้าวถึง 30 มิ.ย.

นายเชิดศักดิ์ วิสุทธิกุล ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน กล่าวว่า เรื่องการต่ออายุแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2562 และวันที่ 30 มิ.ย.2563 หากประสงค์ทำงานต่อให้มารับใบขออนุญาตทำงานภายในวันที่ 31 มี.ค.2563 ขณะนี้ให้นายจ้างและแรงงานต่างด้าวยื่นบัญชีรายชื่ออนุมัติทางออนไลน์ได้ หากไม่ต่ออายุใบอนุญาตตามกำหนดจะต้องเดินทางกลับประเทศ เพื่อเริ่มต้นการเข้ามาทำงานใหม่ ถึงขณะนี้อนุมัติการต่อใบอนุญาตแล้ว 1,223,966 คน กระทรวงมหาดไทยจัดทำบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทยแล้ว 701,520 คน เหลือต้องดำเนินการ 522,446 คน จากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามสามารถอยู่ชั่วคราวต่อไปถึงวันที่ 30 มิ.ย.2563 ยกเว้นค่าปรับอยู่เกินกำหนด

...

พณ.ตั้งวอร์รูมดูแลสินค้า 7 กลุ่ม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เผยหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ว่า หารือกันถึงสถานการณ์การผลิตการค้าสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงปัญหาต่างๆที่ต้องการให้ช่วยเหลือ เพื่อให้ประชาชนมีสินค้าที่มีคุณภาพและเพียงพอ ที่ประชุมเห็นร่วมกันจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์สินค้าและบริการ (วอร์รูม) ประกอบด้วยหน่วยงาน กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนรวม 7 กลุ่มสินค้า ได้แก่ 1.อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน ทั้งบะหมี่สำเร็จรูป น้ำดื่ม น้ำผลไม้ เครื่องดื่ม เป็นต้น 2.ข้าว 3.ปศุสัตว์ ประกอบด้วยไก่ ไข่ หมู กุ้ง เป็นต้น 4.ผลไม้ 5.วัตถุดิบอาหารสัตว์ เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลืองเป็นต้น 6.เวชภัณฑ์ รวมทั้งเจลล้างมือที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ และหน้ากากอนามัย และ 7.บริการ โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงการให้บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน (ดีลิเวอรี) วอร์รูมทั้ง 7 ชุดจะประชุมติดตามสถานการณ์ผลิต การแปรรูป การค้า การส่งออก การกระจายสินค้ารูปแบบใหม่ๆ เช่น ดีลิเวอรี รวมถึงปัญหาที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก ต้องนำข้อสรุปมาเสนอที่ประชุม กรอ.พาณิชย์ภายใน 2-3 วัน ก่อนกำหนดมาตรการดำเนินการ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องของประชาชน

ผ่อนผันระเบียบห้ามรถบรรทุก

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาการขนส่งสินค้าจากโรงงานไปสู่ศูนย์กระจายสินค้า (ดีซี) และจากดีซีไปสู่สาขาของห้างต่างๆ ผู้ผลิตทุกกลุ่มมีปัญหาเช่นเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ประสานกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการขนส่ง รวมถึงผ่อนผันระยะการห้ามรถบรรทุกวิ่งเข้ามาเขตกรุงเทพฯ และพื้นที่ชั้นใน เพื่อให้การกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตามวันที่ 26 มี.ค. ตนเชิญกลุ่มห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกที่จัดส่งสินค้าถึงบ้าน อย่าง แม็คโคร เทสโก้ โลตัส บิ๊กซี กลุ่มดีลิเวอรี อย่างไลน์แมน, แกร็บฟู้ด ลาลามูฟ เป็นต้น รวมถึงกลุ่มสมาร์ทโชห่วย มาหารือเรื่องการจัดส่งสินค้าและปัญหาที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือ

ซีพียันไข่มีล้นแต่แพงขึ้น 20 สต.

ด้านนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า สินค้าปศุสัตว์ ทั้งไก่ ไข่ หมู เป็นต้น ยืนยันผลผลิตของไทยมีเพียงพอต่อความต้องการแน่นอน อย่างไข่ไก่ผลผลิตล้นตลาดจนต้องเร่งส่งออกด้วยซ้ำ ล่าสุดขณะนี้ไทยผลิตไข่ไก่ได้วันละ 40 ล้านฟอง หรือปีละ 16,400 ล้านฟอง ส่วนหมูผลิตได้วันละ 5 ล้าน กก. และไก่วันละ 9 ล้าน กก. กรณีไข่ไก่ที่ขณะนี้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นมาก ยืนยันว่า ราคาหน้าฟาร์มปรับขึ้นเล็กน้อยฟองละ 20 สตางค์ ล่าสุดไข่ไก่คละหน้าฟาร์มฟองละ 2.70 บาท ขณะที่ต้นทุนผลิตฟองละ 2.60 บาท ผู้ผลิตกำไรน้อยมาก แต่ที่ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นเพราะประชาชนแห่ซื้อจำนวนมาก ทำให้เกิดพ่อค้าหน้าใหม่ที่หากำไร ไปซื้อจากแผงค้าปกติเอามาทำกำไรเพิ่ม แต่สถานการณ์นี้เป็นระยะสั้น ยืนยันว่า ไข่ไก่ไม่ขาดแคลนจากการแห่ส่งออก เพราะขณะนี้ตลาดส่งออกหลักอย่างฮ่องกงลดการนำเข้าลงมาก เกรงเกิดภาวะล้นตลาด

บะหมี่ผลิตเพิ่มได้ถึง 15 ล้านซอง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมอาหาร สำเร็จรูปไทย กล่าวว่า ช่วงนี้อาหารสำเร็จรูปที่ประชาชนแห่ซื้อมาก คือ อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ยืนยันว่าผู้ผลิตยังเพิ่มการผลิตได้อีกมาก อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปขณะนี้ผลิตได้วันละ 10 ล้านซอง แต่เพิ่มเป็นวันละ 15 ล้านซองได้ ในจำนวนนี้ กว่า 80 เปอร์เซ็นต์บริโภคในประเทศ ส่งออก 10 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ยังเพียงพอ ส่วนปลากระป๋องมีปัญหาเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบบ้าง แต่วัตถุดิบที่มีอยู่ขณะนี้ยังเพียงพอผลิตได้อีกหลายเดือน ขณะที่นายชุมพล สายเชื้อ นายกสมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย กล่าวว่าช่วงที่ ผ่านมา ห้ามและกำหนดเวลาให้รถบรรทุกวิ่งเข้ากรุงเทพฯ และพื้นที่ชั้นใน แก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการขนส่งสินค้าสู่ห้างต่างๆ ภาวะที่ประชาชนต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต้องการให้ภาครัฐผ่อนคลายกฎ

ห้างค้าปลีกขายไข่เพิ่ม 5 เท่า

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ไทยผลิตไข่ไก่ได้ปีละกว่า 15,000 ล้านฟอง หรือวันละ 41 ล้านฟอง ทั้งหมดใช้บริโภคภายในประเทศวันละประมาณ 39 ล้านฟอง เหลือส่งออกเพียงวันละ 1-2 ล้านฟองเท่านั้น ส่วนใหญ่ส่งออกฮ่องกง แต่ขณะนี้ฮ่องกงนำเข้าลดลงมาก เพราะนำเข้าจากจีนแทนเนื่องจากราคาถูกกว่ามาก ส่วนสิงคโปร์หันมาซื้อไข่ไก่จากไทยเพิ่มขึ้นแทนการสั่งจากมาเลเซีย พบว่าเพิ่มขึ้นเพียงวันละ 600,000 ฟองเท่านั้น สำหรับราคาไข่ไก่คละที่เกษตรกรขาย หน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 2.60 ส่วนราคาขายปลีกไข่ไก่เบอร์ 3 ที่ตลาดสด กทม.และปริมณฑล ฟองละ 3.00-3.10 บาท กรมติดตามราคาอย่างใกล้ชิดพบว่า ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มฟองละ 2.60-2.70 บาท ตอนนี้ยอดการขายไข่ไก่ของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่า จากที่ประชาชนหาซื้อไข่ไปสำรองเพิ่มขึ้น กลุ่มผู้เลี้ยงและผู้ค้าจัดระบบส่งไข่ป้อนเข้าสู่ตลาดต่อเนื่อง ยืนยันสามารถผลิตไข่ได้เพียงพอ จากการตรวจสอบพฤติ-กรรมผู้ค้ายังไม่พบพฤติกรรมการฉวยโอกาสปรับราคา

คาราวานรถธงฟ้าขายถึงบ้านแล้ว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เผยว่า วันที่ 25 มี.ค. เป็นวันแรกที่กระทรวงพาณิชย์จัดส่งรถคาราวานธงฟ้าฝ่าภัยโควิด หรือรถพุ่มพวงรวม 200 คัน นำสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าที่จำเป็น ไปขายถึงบ้านประชาชนราคาประหยัด สินค้าที่บรรทุกไปจำหน่าย 7 รายการคือ ข้าวสาร ไข่เป็ด ไข่ไก่ น้ำมันปาล์ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และเจลล้างมือ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงที่มีคำสั่งกรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑลปิดห้างและสถานที่ต่างๆ หากพบว่า ยังไม่เพียงพอ กรมการค้าภายในพิจารณาเพิ่มจำนวน โครงการดังกล่าวหวังจะเป็นการช่วยเสริมจากระบบตลาดปกติ ปัจจุบันปรับรูปแบบการขายแบบออฟไลน์ หรือการขายหน้าร้านไปเป็นการขายในระบบออนไลน์ และระบบส่งถึงบ้าน (ดีลิเวอรี) มากขึ้น และทราบว่า ผู้ประกอบการหลายบริษัทที่ให้บริการแบบดีลิเวอรี ได้เพิ่มกำลังคนในการให้บริการแล้ว ถือว่าสอดคล้องกับสถานการณ์

แห่ตุนไข่ขาดตลาด-ราคาพุ่ง

จากพิษไวรัสโควิด-19 และการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้คนไทยแห่ตุนของอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะไข่แทบจะขาดตลาดแถมราคาแพงลิ่ว ผู้สื่อข่าวไปตรวจสอบร้านตั้งเฮงหล้ง ร้านขายส่งและปลีกไข่ในตลาดศูนย์การค้า ต.ในเมือง อ.เมืองกำแพงเพชร พบมีคนมาหาซื้อไข่ไม่ขาดสาย ส่วนใหญ่ซื้อเป็นแผง บางรายซื้อหลายแผง สอบถาม น.ส.จิตติภา จินสุภาวงศ์ เจ้าของร้าน เผยว่า ตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 ระบาดหนักขึ้นจนกรุงเทพฯปิดห้าง ต่างจังหวัดปิดตลาดนัด คนเลยแห่มาซื้อของกักตุนไว้ โดยเฉพาะไข่คนหาซื้อไข่กันไม่ขาดสาย แต่ช่วงนี้ปริมาณไข่ลดน้อยลง เนื่องจากตามฟาร์มต่างๆมีคนไปแย่งซื้อถึงฟาร์ม ทำให้ราคาขณะนี้ขึ้นแผงละ 30 บาท ต่อไปนี้คงจะขึ้นเป็นรายวันอีก

เมืองจันท์ต่อคิวยาวซื้อไข่

ส่วนตลาดสดเทศบาลเมืองจันทบุรี มีประชาชนรวมถึงร้านจำหน่ายอาหารแห่มายืนต่อแถวซื้อไข่ไก่กันเป็นจำนวนมาก ขณะที่หลายร้านไม่มีไข่ขาย บางร้านต้องปิด มีเพียงร้านย่อยที่นำไข่ไก่คละมาจำหน่ายให้กับประชาชน แต่ต้องจำกัดการซื้อเพียงคนละ 1 แผงเท่านั้น เนื่องจากร้านขายส่งประจำไม่มีไข่ส่ง ยิ่งรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินยิ่งทำให้ประชาชนแห่ออกมาซื้อไข่ไปกักตุนจำนวนมาก สอบถามแม่ค้าขายไข่ในตลาดต่างบอกเหมือนกันว่า รับไข่มาจากผู้ขายส่งซึ่งเป็นไข่คละเบอร์มาราคาแผงละ 130-150 บาท ถือว่าแพงกว่าเดิม 20-30 บาทต่อแผง

ศรีราชา-อ่างทองขายเกลี้ยง

สำหรับร้านมิสเตอร์กุ๊กไก่ เลขที่ 130 ถนนเจิมจอมพล ต.ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีคนมาหา ซื้อไข่กันไม่ขาดสาย ส่วนใหญ่จะซื้อยกแผง บางรายต้องการซื้อหลายแผงแต่ทางร้านจำกัดให้คนละ 1 แผงเท่านั้น เพื่อให้ทุกคนได้ซื้ออย่างทั่วถึง ขณะที่ราคาไข่ไก่เริ่มแพงขึ้นฟองละ 20 สตางค์ และเริ่มขาดตลาด เนื่องจากฟาร์มเลี้ยงไก่กักตุนไม่ยอมส่งผู้ค้าตามตลาดสด ทั้งนี้ ราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มเบอร์ 0 เฉลี่ยฟองละ 3.00-3.40 บาท เบอร์ 1 ฟองละ 2.85-3.30 บาท เบอร์ 2 ฟองละ 2.70-3.00 บาท เบอร์ 4 ฟองละ 2.40-2.80 บาท เบอร์ 5 ฟองละ 2.00-2.50 บาท และเบอร์ 6 ฟองละ 1.30-2.35 บาท ส่วนที่ร้านโชคไชยค้าไข่ เลขที่ 12 ถนนสุวพันธุ์ ต.ตลาดหลวง อ.เมืองอ่างทอง พบว่าประชาชนแห่มาซื้อไข่ไก่จนเกลี้ยง คาดชาวบ้านแตกตื่นเตรียมตัวรับสถานการณ์การประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเช่นกัน

แห่กักตุนหลัง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ผู้สื่อข่าวไปสังเกตการณ์ประชาชนแห่ไปซื้อสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นภายในห้างบิ๊กซี สาขารัชดาภิเษก ก่อนรัฐบาลจะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สกัดไวรัสโควิด-19 ที่ชั้น 2 หน้าซุปเปอร์มาร์เกตพบประชาชนจำนวนมากใส่หน้ากากอนามัยยืนต่อคิวซื้อหน้ากากอนามัยที่ห้างฯเปิดขายให้คนละ 1 แพ็ก มี 4 ชิ้น ราคา 10 บาท ทั้งนี้ มีประชาชนส่วนหนึ่งต้องผิดหวังเพราะสินค้าหมด เนื่องจากหน้ากากอนามัยมีจำนวนน้อย ขณะเดียวกันภายในซุปเปอร์มาร์เกตมีประชาชนเดินเข็นรถเลือกซื้อข้าวสาร ปลากระป๋อง หมู เป็ด ไก่ ไข่ พืชผักผลไม้ และอาหารที่จำเป็นอื่นๆจำนวนมาก

อนุญาตขนสินค้าตลอด 24 ชม.

ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. ดูแลงานด้านการจราจร เผยว่า วันนี้ประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ทางใกล้เพื่อกำชับการปฏิบัตินโยบายช่วงแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ของทางรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้ผ่อนผันการเดินรถ 4 ล้อ 6 ล้อและ 10 ล้อขึ้นไปในเวลาห้าม เนื่องจากมีประชาชนซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคจำนวนมาก บางส่วนอาจกักตุน ขณะเดียวกัน รัฐบาลยืนยันว่า สินค้ามีเพียงพอ แต่ติดขัดการขนส่งสินค้าช่วงเวลาเดินรถ อาจมีบางจังหวะทำให้สินค้าหมด สมาคมผู้ค้าปลีก และบริษัทเซ็นทรัล ฟู้ดรีเทล กรุ๊ป ทำหนังสือขออนุญาต ตร.ผ่อนผันให้รถบรรทุกทั้งรถ 4 ล้อ รถ 6 ล้อ และ 10 ล้อขึ้นไปขนส่งสินค้าตามช่วงเวลาที่ขออนุญาตตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.63 ถึง 24 เม.ย.63 ทั้ง 2 บริษัทมีรถประมาณ 3,800 คัน เพื่อบรรทุกสินค้าไปเสริมในจุดจำหน่ายสินค้าตลอด 24 ชม. ส่วนบริษัทอื่นขอทำเรื่องขออนุญาตที่ ตร.ได้เช่นกัน

จับหลอกขายหน้ากากอนามัย

ที่ บก.ป. พ.ต.ต.พิทยา คงเจริญ สว.กก.4 บก.ป. นำกำลังจับกุม น.ส.อัมพร สิงห์ไชย อายุ 43 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับหลบหนีระหว่างพิจารณาคดีศาลแขวงพระนครเหนือที่ 252/2563 ลงวันที่ 2 มี.ค.2563 ต้องหาว่ากระทำความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค และหมายจับระหว่างพิจารณาศาลแขวงพระนครเหนือที่ 42/2563 ลงวันที่ 20 ม.ค.2563 ต้องหาว่ากระทำความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค จับกุมที่บริษัทสุขภาพดี อินเตอร์เทรด จำกัด ย่านโชคชัย 4 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 มี.ค.63 ผู้เสียหายแจ้งความที่ สน.โชคชัย ให้ดำเนินคดีบริษัทที่ น.ส.อัมพรเป็นเจ้าของ ความผิดฐานฉ้อโกง หลังถูกหลอกขายหน้ากากอนามัยราคาชิ้นละ 11.35 บาท จำนวน 35,000 ชิ้น มูลค่าเกือบ 400,000 บาท แต่ไม่ส่งสินค้า ตำรวจ กก.4 บก.ป.ตามจับกุมคดีเช็คส่งศาลระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับคดีหน้ากากอนามัย

กองปราบสั่งจับกักตุนสินค้า

พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผบก.ป. เปิดเผยถึงการออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาลว่า สั่งกำชับให้กำลังพลดำเนินการกับผู้ที่ละเมิด คำสั่งดังกล่าวทั้ง 16 ข้อ เน้นไปที่การสืบสวนดำเนินการกับผู้ที่กักตุนสินค้าหน้ากากอนามัย และสินค้าอื่นๆ รวมทั้งจับกุมสถานบริการที่ยังลักลอบเปิดบริการในตอนกลางคืนอย่างเข้มงวด ที่สำคัญกองปราบปรามจะสืบสวนติดตามหาตัวผู้ที่ละเมิดไม่ยอมกักกันตัวเองตามคำสั่งของแพทย์หรือประกาศของทางราชการ ในความเป็นจริงแล้ว ตนอยากขอความร่วมมือกับกลุ่มคนเหล่านี้ แต่หากพบว่าละเมิดจะต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับประชาชนที่มีเบาะแส สามารถแจ้งมาที่กองปราบปรามได้ที่เบอร์โทร.สายด่วน 1195 และช่องทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชม. ตำรวจกองปราบจะเข้าไปจัดการทันที

ไม่สวมหน้ากากห้ามขึ้น บขส.

นายจิระศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กล่าวว่า จากการ แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 บขส.ขอให้ 1.ผู้ปฏิบัติงานภายในสถานีขนส่ง (บขส. รถร่วม) ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าขณะปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา 2.ผู้เข้ามาใช้บริการทุกคนขณะอยู่บนรถ ต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา 3.ผู้โดยสารต้องผ่านเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายบริเวณประตูทางเข้าทุกครั้ง หากมีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศา ไม่อนุญาตให้เดินทาง 4.ผู้โดยสารต้องเว้นระยะห่าง 2 เมตร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทั้งนี้ ขอให้ผู้ปฏิบัติงานและผู้โดยสารปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมเป็นต้นไป