ศาลฎีกาตัดสินไม่ชําระค่าปรับ สัญญาอนุพันธ์ ธ.สแตนดาร์ดฯ

ศาลฎีกาพิพากษาให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. ชดใช้ค่าเสียหาย 6 พันล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) ตามสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยบนบัตรเงินฝากชนิดดอกเบี้ยลอยตัว หลังสู้กันยาวถึงสามศาล

ที่ห้องพิจารณา 508 ศาลแพ่ง เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 มี.ค. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีที่ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank) หรือ ธพว.เป็นจำเลย โดยเรียกค่าเสียหายตามสัญญาอนุพันธ์ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate /IRS) บนบัตรเงินฝากชนิดดอกเบี้ยลอยตัว (FRCD) จำนวนทุนทรัพย์ประมาณ 6,000 ล้านบาท

คดีนี้เมื่อปี 58 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด โจทก์ จึงยื่นอุทธรณ์ กระทั่งเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.60 ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจฯ หรือ ธพว. จำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้อง ต่อมา ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจฯ หรือ ธพว. จำเลยยื่นฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ทั้งนี้มีรายงานว่าเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุด ขั้นตอนต่อไปศาลจะออกคำบังคับคดีให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาในการชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนด ระหว่าง ขั้นตอนนี้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจฯ หรือ ธพว. สามารถเจรจารายละเอียดกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด โจทก์ ถึงแนวทางปฏิบัติการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลฎีกาได้ ก่อนที่จะครบกำหนดการปฏิบัติตามคำบังคับคดี หากจำเลยไม่ชำระหนี้ จึงจะเข้าสู่การขอให้ศาลตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีติดตามทรัพย์สินชำระหนี้ตามคำพิพากษาฎีกา

...

คดีนี้สืบเนื่องจากจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยหรือ ธพว. ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ทำธุรกิจให้บริการสินเชื่อคล้ายธนาคารพาณิชย์ ต้องมีแหล่งเงินทุนเพื่อนำไปใช้ปล่อยสินเชื่อ โดยแหล่งเงินทุนหนึ่งที่เลือกใช้เมื่อปี 49 คือการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ด้วยการออกบัตรเงินฝากแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Certificate of Deposit หรือ FRCD) เพื่อขายให้นักลงทุนต่างประเทศ โดยเมื่อกลางปี 49 คณะกรรมการธนาคารฯมีมติที่ประชุม อนุมัติให้ฝ่ายจัดการของธนาคารออกบัตรเงินฝากแบบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว หรือ FRCD ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงิน 11,535 ล้านบาท (ตามอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น) นำออกขาย มีธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดทำหน้าที่เป็นตัวแทนขาย ภายใต้เงื่อนไขต้องทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยของ FRCD ไว้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

โดยตกลงกันหากอัตราดอกเบี้ยที่ใช้อ้างอิงคือ อัตราดอกเบี้ยประเภทระยะเวลา 6 เดือน ในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคารที่กรุงลอนดอน (London Interbank Offer Rate หรือ LIBOR) สูงหรือ ต่ำกว่ากรอบที่ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันไว้ ธพว.จะต้องจ่ายค่าปรับให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) สูงถึง 8.5 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนเงินใน FRCD กระทั่งปี 50 อัตราดอกเบี้ยที่ใช้อ้างอิงลดลงต่ำกว่ากรอบที่ตกลงกันไว้ ทำให้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เรียกเก็บค่าปรับจาก ธพว. เป็นเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท (จำนวนทุนทรัพย์ที่ฟ้องคดี) ต่อมา ธพว. ชนะคดีในศาลชั้นต้น แต่ในชั้นศาลอุทธรณ์กลับเป็นฝ่ายแพ้คดี โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ ธพว.ชำระเงินให้กับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เป็นเงินประมาณ 6,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องถึงวันที่ชำระเสร็จสิ้นอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท กระทั่งคดีนี้มาสิ้นสุดในชั้นฎีกาตามคำพิพากษาดังกล่าว