ย้ำอีกครั้งเพื่อการเตรียมพร้อม สำหรับผู้วางเงินประกันขอใช้มิเตอร์ไฟ เพราะตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.63 เป็นต้นไป จะมีการเปิดลงทะเบียนขอรับเงินคืน "ประกันมิเตอร์ไฟฟ้า" ภายหลังรัฐบาลออกมาตรการคืนเงินประกันค่ามิเตอร์ไฟฟ้า ให้แก่ผู้ใช้ไฟประเภทบ้านที่อยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก รวม 22.17 ล้านราย เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

ล่าสุดนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ ในฐานะโฆษก กกพ. ออกมาระบุ ขณะนี้ประกาศหลักเกณฑ์คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง "การคืนหลักประกันการใช้ไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 บ้านอยู่อาศัย และประเภทที่ 2 กิจการขนาดเล็ก พ.ศ. 2563" จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 มี.ค. 2563 นี้ ส่งผลให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ซึ่งได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพเรือ (กฟส.) จะต้องคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าว จำนวนกว่า 23 ล้านรายทั่วประเทศ วงเงินกว่า 33,000 ล้านบาท

สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแจ้งความประสงค์ขอรับคืน และให้ผู้บริการไฟฟ้าคืนหลักประกันการใช้ไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 2563 ต้องคืนเงินให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่วางหลักประกันตามประเภทของขนาดเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า และจะไม่มีการเรียกเก็บเงินหลักประกันการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหม่อีกต่อไป ยกเว้นกรณีผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 1 และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 2 เปลี่ยนไปเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น

"กกพ. และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้หารือและเตรียมความพร้อม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยจะเริ่มเปิดให้มีการตรวจสอบสิทธิ และทยอยคืนเงินประกัน ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. เป็นต้นไป ในช่องทางออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ คาดว่าผู้ที่มีสิทธิจะได้รับเงินคืนอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการยื่นผ่านระบบแอปพลิเคชัน เป็นระบบที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง เพราะได้เตรียมมาตรการในการรองรับ และอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ เน้นให้เข้าถึงได้อย่างสะดวก ครอบคลุมทุกกลุ่ม พร้อมกับการพัฒนาช่องทางเพิ่มเติม รองรับผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก" นายคมกฤช กล่าว

...

นายประเทศ ศรีชมภู รองเลขาธิการสำนักงาน กกพ. กล่าวว่า ได้หารือร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย เน้นการดำเนินการผ่านระบบออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นผู้วางเงินประกัน ซึ่งชื่อต้องตรงกับบิลค่าไฟฟ้า สามารถตรวจสอบสิทธิและรับเงินผ่านระบบที่ได้จัดเตรียมไว้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ของการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 มี.ค.ให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง ป้องกัน และลดความเสี่ยงที่จะให้ประชาชนเดินทางและเข้าไปในสถานที่ที่แออัด คับแคบ ดังนั้นเพื่อความสะดวกปลอดภัยในช่วงแรกนี้ ขอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าใช้บริการผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง

ขณะที่นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ทางกฟภ. จะเปิดให้ตรวจสอบสิทธิ เพื่อขอรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืน และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มให้ได้มากที่สุด สามารถตรวจสอบสิทธิ์และลงทะเบียนการขอคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า ผ่านเว็บไซต์ https://dmsxupload.pea.co.th/cdp/ ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. เป็นต้นไป โดยกรอกชื่อ นามสกุล หมายเลขผู้ใช้ไฟฟ้า หมายเลขบัตรประชาชน ให้ครบถ้วน และส่งเอกสารหลักฐานผ่านระบบ และรอรับเงินตามช่องทางการคืนที่ระบุ ผ่าน Prompt Pay บัญชีเงินฝากธนาคาร บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือรับเงินสด ที่สำนักงานการไฟฟ้าทั่วประเทศ

นอกจากนี้ จะมี SMS ยืนยันผลการลงทะเบียน และแจ้งผลการคืนเงินให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทราบ โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะเริ่มจ่ายเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. เป็นต้นไป และได้เตรียมเจ้าหน้าที่เพื่อตอบข้อซักถามและข้อสงสัยให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า เป็นจำนวน 90 คู่สาย ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1129

เช่นเดียวกับนายจาตุรงค์ สุริยาศศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่า จะเปิดให้ตรวจสอบสิทธิ เพื่อขอรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืน ด้วยการอำนวยความสะดวกให้ครอบคลุมทุกกลุ่มประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ในช่องทางที่หลากหลาย ประกอบด้วยช่องทางที่ 1 ลงทะเบียนทางออนไลน์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. ตลอด 24 ชั่วโมง ทางแอปพลิเคชัน : MEA Smart Life, เว็บไซต์ www.mea.or.th , Facebook การไฟฟ้านครหลวง MEA ,Twitter @mea_news, Line @meathailand สแกน QR Code ในใบแจ้งค่าไฟฟ้าที่จดเลขอ่าน ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. เป็นต้นไป โดยผู้ลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ จะได้รับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าคืนตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. เป็นต้นไป

ส่วนช่องทางที่ 2 ลงทะเบียนทางโทรศัพท์ หมายเลข 02-256-3333 จำนวน 50 คู่สาย ตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค.-29 พ.ค. เวลา 08.00 –15.30 น. ในวันทำการ และช่องทางที่ 3 ลงทะเบียน ณ ที่ทำการของการไฟฟ้านครหลวง 18 เขต เพื่อลดความเสี่ยงจากผลกระทบการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 ตามมติครม. 17 มี.ค. จึงขอความร่วมมือเริ่มใช้ช่องทางนี้ได้ตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นไป

ทั้งนี้ผู้ขอคืนหลักประกันสามารถเลือกช่องทางการคืนเงินได้ 3 ช่องทางโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใดๆ ผ่านทางช่องทางที่ 1 บัญชีพร้อมเพย์ เฉพาะที่ผูกกับหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ของผู้วางหลักประกัน, ช่องทางที่ 2 บัญชีธนาคารพาณิชย์ที่มีชื่อตรงกับผู้วางหลักประกันที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือธนาคารกสิกรไทย และช่องทางที่ 3 เคาน์เตอร์เซอร์วิส โดยจำนวนเงินต้องไม่เกิน 50,000 บาท.