ทำลายคุณธรรมข้าราชการ ฎีกาลงโทษ 1 ปี 8 เดือน
ราชทัณฑ์คุม “ปลอดประสพ” นั่งรถเข็นเข้าเรือนจำ หลังศาลอาญาคดีทุจริตฯอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินจำคุกฐานโยกย้ายลูกน้องโดยไม่ชอบ 1 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา พร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหาย 1.4 ล้านบาท ระบุเป็นการทำลายระบบคุณธรรมและธรรมาภิบาลในระบบราชการ ไม่ควรรอการลงโทษ
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 มี.ค. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำเลยในคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบฯ เข้ารายงานตัวต่อศาล หลังถูกศาลออกหมายจับให้มาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาคดีที่นายวิฑูรย์ ชลายนนาวิน อดีตรองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นโจทก์ฟ้องนายปลอดประสพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยนายปลอดประสพขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ ทั้งนี้ นายปลอดประสพมีอาการป่วย ใส่หน้ากาก อนามัยและนั่งรถเข็นมาพร้อมญาติมาให้กำลังใจ
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ย.46 นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้น มีคำสั่ง 399/2546 แต่งตั้งนายวิฑูรย์ โจทก์ ให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) สำนักส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรสหกรณ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.46 แต่จากนั้นมีการตรา พ.ร.ฎ.โอนกรมป่าไม้ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีผลเมื่อลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 30 ก.ย.46 ขณะนั้นโจทก์ ดำรงตำแหน่ง ผอ.กองการอนุญาต กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อมาวันที่ 1 ต.ค.46-12 พ.ย.56 จำเลยเป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกคำสั่งกระทรวงทรัพยากรฯที่ 287/2546 เมื่อวันที่ 1 ต.ค.46 ให้ระงับการมอบหมายงานในหน้าที่ตามคำสั่ง 399/2546 ซึ่งแต่งตั้งโจทก์ขึ้นเป็น ผอ.สำนัก (นักวิชาการป่าไม้ 9) โดยให้ถือว่าเป็นการยกเลิกคำสั่งดังกล่าวไว้ก่อนอันเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบ เพื่อยังยั้งไม่ให้โจทก์ได้เลื่อนตำแหน่ง สาเหตุเนื่องจากโจทก์กับจำเลยมีเรื่องโกรธเคืองในเรื่องส่วนตัวกันมาก่อน
...
กระทั่งวันที่ 12 พ.ย.46 จำเลยกลั่นแกล้งโจทก์ด้วยการให้นายดำรงค์ พิเดช ออกคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 543/2546 ย้ายโจทก์ไปดำรงตำแหน่ง “ป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ” เป็นตำแหน่งข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 8 เป็นการย้ายให้ปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่าระดับเดิม อีกทั้งไม่ใช่ความจำเป็นที่ต้องรีบดำเนินการ และจำเลยทราบดีว่านายดำรงค์ไม่มีอำนาจสั่งย้ายโจทก์ ดังนั้น คำสั่งย้ายที่จำเลยให้ความเห็นชอบจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นผลให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เสียสิทธิไม่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นระดับ 9 ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ 2 ล้านบาท เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กทม. จำเลยให้การปฏิเสธ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาวันที่ 29 มี.ค.60 ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และให้จำเลยชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ 1.4 ล้านบาท ต่อมาวันที่ 17 เม.ย.61 ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษาแก้ให้จำคุกจำเลย 2 ปี ไม่รอการลงโทษ และชดใช้เงินค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย 1.4 ล้านบาท
ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ให้นายดำรงค์ออกคำสั่งให้โจทก์ย้ายไปเป็นป่าไม้จังหวัดอำนาจเจริญ เป็นการย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ต่ำกว่าระดับเดิม เป็นการโยกย้ายโดยเร่งด่วนไม่ได้หารือต่อคณะกรรมการ ที่จำเลยอ้างว่ามีปัญหาเรื่องตำแหน่งใหม่ของโจทก์ เมื่อโอนย้ายสังกัดกรมป่าไม้จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาสังกัดกระทรวงทรัพยากรฯ จากคำเบิกความของพยานยังได้ความว่าตำแหน่ง ผอ.สำนักงานวิชาการ 9 มีกระบวนการสรรหาผู้มีคุณสมบัติ ซึ่งโจทก์มีคุณสมบัติต่างจากที่จำเลยอ้าง ดังนั้น การออกคำสั่งยกเลิกการแต่งตั้งโจทก์และการย้ายนายดำรงค์มาในตำแหน่งทับซ้อนกับโจทก์ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบทำให้โจทก์เสียหาย การแต่งตั้งโยกย้ายระบบราชการนอกจากความเหมาะสมแล้วจะต้องคำนึงถึงคุณธรรมและธรรมาภิบาล แต่เมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์จำเลยแล้ว เป็นการกระทำที่ทำลายระบบคุณธรรมและธรรมาภิบาลในระบบราชการไม่ควรรอการลงโทษ
ที่ศาลอุทธรณ์ฯให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 1.4 ล้านบาทนั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ให้จำคุกรวม 1 ปี 8 เดือน และชดใช้แก่โจทก์ 1.4 ล้านบาท จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้คุมตัวนายปลอดประสพไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯรับโทษตามคำพิพากษาศาลฎีกาทันที