ศาลพิพากษาสั่งปรับบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จ่ายค่าปรับ 1,225 ล้านบาท ฐานหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่มาร์ลโบโรและแอลแอนด์เอ็ม รวมทั้งสำแดงราคาบุหรี่ไม่ตรงตามราคา ส่วนลูกจ้างที่เป็นจำเลย 2-8 ให้ยกฟ้อง เพราะไม่ปรากฏว่าร่วมรู้เห็นด้วยกับการกระทำจำเลยที่ 1 กับบริษัทต่างประเทศในเครือ ขณะที่จำเลยที่ 1 ผู้จัดการสาขาชาวอเมริกันยินดีกับพนักงานทั้ง 7 คนที่ศาลยกฟ้อง แต่ในส่วนของบริษัทเตรียมอุทธรณ์คดีต่อ

ศาลสั่งปรับ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จ่ายค่าปรับ 1,225 ล้านบาท ฐานหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่ โดยเมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 พ.ย. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำพิพากษาที่พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด เป็นนิติบุคคล มีนายเจอรัลด์ มาโกลีส ชาวสหรัฐอเมริกา ผู้จัดการสาขาบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) เป็นผู้แทน พร้อมพนักงานคนไทย ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-8 ในความผิดฐานร่วมกันเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร โดยเจตนาที่จะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาล ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 115 จัตวา ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4-9 ซึ่งคดีมีอัตราโทษตามกฎหมายศุลกากร ให้ปรับเป็นเงิน 4 เท่า ราคาที่รวมค่าอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับและจำคุก

...

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 28 ก.ค.46- 24 มิ.ย.49 จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันนำเข้าบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร และยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม เข้ามาในราชอาณาจักร และร่วมกันบังอาจสำแดงเท็จโดยฉ้อโกงและออกอุบายด้วยการยื่นใบขนส่งสินค้าขาเข้าต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรเพื่อผ่านพิธีการศุลกากร โดยสำแดงราคาอันเป็นเท็จไม่ตรงตามราคาที่แท้จริงเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร เป็นความผิด 272 ครั้ง (ใบขน 272 ฉบับ)

มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1-8 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาษียาสูบ 3 คน เบิกความเป็นพยานว่า จำเลยที่ 1 ตั้งสาขาในประเทศไทยนำเข้าบุหรี่ทั้ง 2 ยี่ห้อจากประเทศสหรัฐอเมริกามาประเทศไทย แต่ในทางปฏิบัติเป็นการนำสินค้าบุหรี่มาจากประเทศฟิลิปปินส์ มีการเปลี่ยนกรรมการบริษัทหลายครั้งเพื่อให้เกิดความยุ่งยากในการเรียกมาสอบสวน ในการสำแดงสินค้าระบุราคา CIF (ราคาเฉลี่ยต้นทุนในการนำเข้าสินค้า) ปี 2546 จำเลยที่ 1 สำแดงราคาบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร ราคา 9.50 บาทต่อซอง ยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม ราคา 7 บาทต่อซอง ปีถัดมาสำแดงราคายี่ห้อมาร์ลโบโร นำเข้า 7.76 บาทต่อซอง และยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม ราคา 5.88 บาทต่อซอง แสดงให้เห็นเป็นการตั้งราคาลดลงเพื่อให้จ่ายภาษีน้อยลง ขณะที่ผู้ค้าที่นำเข้าบุหรี่ต่างประเทศรายอื่น แจ้งราคา CIF ยี่ห้อมาร์ลโบโร นำเข้า 27 บาทต่อซอง และยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม 16 บาทต่อซอง

นอกจากนี้ พยานโจทก์ยังระบุว่าระหว่างปี 2546-2550 จำเลยที่ 1 โอนเงินค่าสินค้าไปยังบริษัทในเครือบริษัทแม่ทั้งที่ประเทศฟิลิปปินส์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ จากการตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินจำเลย โจทก์มีหลักฐานจำนวนเงินที่แน่นอน เกี่ยวข้องกับบริษัทจำเลยที่ 1 ในการนำเข้าบุหรี่ทั้ง 2 ยี่ห้อ การสำแดงราคาที่ต่ำลงและคงที่อยู่นานถึง 3 ปี มีมูลค่าต่ำกว่าผู้นำเข้ารายอื่นหลายเท่า

ที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าสำแดงราคาถูกต้องและไม่มีการโต้แย้งจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรนั้น ไม่อาจต่อสู้หักล้างพยานโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 สำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่ใช่ราคาที่แท้จริงเพื่อหลบเลี่ยงภาษี จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง ทั้งนี้ จำเลยที่ 1 สำแดงราคาสินค้าตามใบขน 272 ฉบับ รวมราคา 12,270,608,315 บาท โดยคำนวณจากราคาของผู้ค้าในดิวตี้ฟรีเป็นฐานคำนวณ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่จำเลยที่ 1 เห็นสมควรกำหนดราคาลงกึ่งหนึ่งคงเหลือ 6,135,304,157.50 บาท เมื่อคำนวณเป็นภาษีอากรที่ต้องชำระเป็นเงิน 306,497,667.87 บาท

ปัญหาประการต่อมาจำเลยที่ 2-8 ร่วมรู้เห็นกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่ จำเลยที่ 2-8 ยอมรับว่าลงลายมือชื่อในการทำธุรกรรมการค้าไปตามหน้าที่ ในฐานะลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อพิจารณาการนำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศ เห็นว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 กับบริษัทต่างประเทศในเครือ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2-8 ร่วมรู้เห็นด้วย พยานหลักฐานไม่พอรับฟังให้ลงโทษจำเลยที่ 2-8 ได้ พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ลงโทษปรับ 4 เท่า ของค่าภาษีอากรที่ต้องชำระจำนวน 306,497,667.87 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,225,990,671.50 บาท และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2-8

...

ภายหลังนายเจอรัลด์ มาโกลีส ผู้จัดการสาขา บริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด กล่าวว่า ยินดีกับพนักงานทั้ง 7 คน ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ส่วนคำตัดสินในส่วนของบริษัท ทางบริษัทให้ความเคารพแต่จะยื่นอุทธรณ์ต่อไป เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินนี้ เพราะเห็นว่าขัดแย้งกับคำตัดสินที่ศาลไทยกับองค์การการค้าโลก (WTO) ที่เคยมีคำตัดสินไปก่อนหน้านี้ ยืนยันว่าบริษัทได้ปฏิบัติตามข้อกฎหมายของไทยในเรื่องของการแสดงราคา สินค้าและการยื่นสำแดงนำเข้า