"จุรินทร์-เฉลิมชัย" จับมือลุยขายยางดูดซัพพลายออก กระตุ้นยกระดับราคา เร่งทำเสริมโครงการประกันรายได้ ย้ำต้อง "ทำได้ไว ทำได้จริง" เพียง 98 วันหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

เมื่อวันที่ 13 พ.ย.62 ที่กระทรวงเกษตร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ แถลงข่าว การขายยาง เพิ่มปริมาณการส่งออก ร่วมกับ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ นายสุนันท์ นวลพรหมสกุล รักษาการผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย โดยมีบริษัท 2 ราย คือ 1. Fifth Trading (HK) co.,ltd 2.Hengfeng Rubber Industrial park limited ร่วมแถลง

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ภายหลังจากครม. มีมติเห็นชอบมาตรการประกันรายได้ชาวสวนยาง ในวันที่ 25 ต.ค.62 กยท. ได้เริ่มกระบวนการโอนเงิน ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางแล้ว โดยต้องมีการตรวจสวนด้วย จึงต้องใช้เวลา ระหว่างนี้ทยอยโอน ถ้ายังมีปัญหาตรวจไม่จบก็จะเร่งให้ตรวจจบและเร่งโอนเงินหลังวันที่ 15 ได้ แต่งวดถัดไปจะโอน 1 ม.ค.63 และ 1 มี.ค.63 โดยไม่ต้องตรวจสวนยางอีก และขอเรียนว่าผู้ถือบัตรสีชมพู สามารถรับเงินส่วนต่างได้ โดย ครม.เห็นชอบแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเสริม ที่สำคัญดังนี้โครงการส่งเสริม ลดการปลูกยางเชิงเดี่ยว สร้างรายได้ให้เกษตรกรยามราคายางตกต่ำ โครงการเพิ่มการใช้ยางในประเทศ ให้ส่วนราชการใช้ยาง โดยให้ กยท. สรุปเสนอ รมว.เกษตรฯ เพื่อเสนอ ครม. ต่อไป และขอความร่วมมือจากเอกชน ทั้งนี้ rubber city ขยายการใช้ยางเป็น 10,000 ตันแล้ว และยังมีการขยายตลาด ซึ่งสำคัญมาก โดยจะร่วมมือกันระหว่าง "พาณิชย์-เกษตร-กยท."

"ก่อนหน้านี้ได้นำภาคเอกชน และการยาง เปิดตลาดที่อินเดีย 100,000 ตัน 7.5 พันล้านบาท สำหรับวันนี้ มีความคืบหน้าที่จะแจ้งให้ประชาชนและเกษตรกรทราบ คือ การยางแห่งประเทศไทย โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เจรจาซื้อขายยางพาราระหว่างประเทศกับผู้ซื้อ 2 ราย คือ บริษัทเอกชนจากจีน ซึ่งมีการลงนาม MOU รองรับแล้ว เพื่อซื้อยาง STR 20 ปริมาณ 60,480 ตัน และบริษัทเอกชนจากฮ่องกง ซึ่งมีการลงนาม MOU รองรับแล้ว เพื่อซื้อยาง STR 20 ปริมาณ 100,000 ตัน และยางแผ่นรมควันชั้น 3 อัดก้อน 100,000 ตัน รวมปริมาณการซื้อขายรอบนี้ ทั้งสิ้น 260,480 ตัน มูลค่าไม่น่าจะต่ำกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท" นายจุรินทร์กล่าว

...

หลังจากนี้ กยท. จะรับซื้อยางโดยตรงจากเกษตรและสถาบันที่ราคาชี้นำ มาขายต่อไป ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อวงการยางพาราไทย ดังนี้ คือ 1.ได้ขยายช่องทางการจำหน่ายไปต่างประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการตลาดของ กยท.และเพิ่มอำนาจการต่อรองในเวทีโลก 2.ยกระดับราคายางไปสู่ราคาเป้าหมายนำ 3.สร้างแบรนด์ กยท. ให้เป็นที่ยอมรับในกลุ่มธุรกิจยางทั่วโลก เพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกเหนือจากการเจรจาซื้อขายโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในรอบนี้แล้ว ในวันที่ 15-19 พ.ย.62 ทางกระทรวงพาณิชย์ นำโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จะเดินทางไปทำหน้าที่เซลส์แมนประเทศต่อเนื่องที่ประเทศตุรกี-เยอรมนี

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินโครงการ การประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 วงเงินประมาณ 24,000 ล้านบาท ตามที่โยบายของรัฐบาลและตามคำแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยสามารถ "ทำได้ไว ทำได้จริง" ภายในเวลาเพียง 98 วันหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา (25 ก.ค.62 ) โดยเกษตรกรชาวสวนยางได้ขึ้นทะเบียนและแจ้งพื้นที่ปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย ก่อนวันที่ 12 ส.ค.62 ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ เป็นสวนยางอายุ 7 ปี ขึ้นไป ราคาในโครงการประกันรายได้ คือ ยางแผ่นดิบคุณภาพดี กก.ละ 60 บาท น้ำยางสด กก.ละ 57 บาท ยางก้อนถ้วย กก.ละ 23 บาท และเกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่ปลูกยางกับ กยท. จำนวน 1,711,252 ราย เป็นยางแผ่นดิบ 150,803 ราย น้ำยางสด 470,767 ราย และยางก้อนถ้วย 790,447 ราย โครงการนี้ kick off จ่ายเงินงวดแรกพร้อมกันทั่วประเทศไปแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

นอกจากนั้นรัฐบาล และกระทรวงเกษตรฯ ได้มาตรการเสริม หรือ มาตรการคู่ขนาน คือ 1. โครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้กับ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ที่มีการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรวบรวมหรือรับซื้อยางพาราจากเกษตรกรชาวสวนยาง และ สถาบันเกษตรกรได้รับอนุมัติวงเงินกู้ยืมจาก ธ.ก.ส. จำนวน 388 แห่ง เป็นเงินกว่า 7,000 ล้านบาท และได้เบิกเงินกู้จริงจาก ธ.ก.ส. จำนวน 375 แห่ง เป็นเงินกว่า 10,000 ล้านบาท 2. โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา (วงเงิน 5,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน 1 ก.ย. 57 - 31 ธ.ค. 63 และ 3. โครงการสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (น้ำยางข้น) (วงเงิน 10,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน พ.ค. 60-เม.ย. 62

4. โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน แก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) (20,000 ล้านบาท) เพื่อดูดซับยางออกจากระบบประมาณร้อยละ 11 ของผลผลิตยางแห้ง หรือ 350,000 ตัน จากผลผลิตยางแห้งทั้งปีที่มีประมาณ 3,200,000 ตัน 5.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (วงเงินสินเชื่อ 25,000 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินงาน ปี 59-69 เป้าหมายเป็นผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางขั้นปลายน้ำ ทั้งผลิตภัณฑ์ยางจากน้ำยางข้นและผลิตภัณฑ์ยางจากยางแห้ง ที่ใช้ยางพาราในประเทศ เน้นแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าสูง เช่น ถุงมือยาง ยางยืด ยางล้อ ยางที่ใช้ในงานวิศวกรรม และอื่นๆ 6.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางและสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง.