การจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ยังมีช่องโหว่ให้มิจฉาชีพใช้เป็นช่องทางทำมาหากินมาอย่างต่อเนื่อง หลายๆ คนไม่รู้ถึงขั้นตอนการนำจับลิขสิทธิ์ที่ถูกต้อง อาจทำให้ตกเป็นเหยื่อเสียเงินอย่างง่ายๆ เพราะหวังแลกกับการปล่อยตัวไม่ถูกจับกุม

ในเรื่องนี้ทาง "ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง" กรรมการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายเนติบัณฑิตยสภา บอกว่า คดีจับลิขสิทธิ์ในปัจจุบันมีปัญหามาก โดยเฉพาะพวกที่เรียกกันว่า “ตีกิน” คือแกล้งจับแล้วเรียกร้องเอาทรัพย์สิน เพื่อแลกกับให้ปล่อยตัว ซึ่งผู้กระทำคือคนที่ไม่สุจริต เรียกกันว่าพวก “นักบิน” โดยคดีละเมิดลิขสิทธิ์นั้น บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์มีอำนาจในการทำซ้ำดัดแปลง, โอนงาน, จำหน่าย หรืออนุญาตให้ผู้อื่นได้ใช้งานนั้นโดยมีค่าตอบแทน การที่มีคนไปทำงานลิขสิทธิ์ซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือทำสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์วางขาย บริษัทจะสืบทราบแล้วส่งตัวแทนไปจับ ตัวแทนหากเป็นทนายความจะมีความรอบคอบ โดยเฉพาะเอกสารการมอบอำนาจ

“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ตัวแทนที่ไปจับ มีใบมอบอำนาจแต่งตั้งจริงหรือไม่ ถ้ามีใบมอบนั้นหมดอายุหรือยัง ใบมอบนั้นครอบคลุมถึงสินค้าที่ให้จับหรือไม่ เป็นเพียงมอบอำนาจเฉพาะหรือมอบทั่วไป ใบอำนาจนั้นปลอมหรือไม่ เรื่องเหล่านี้เมื่อตัวแทนไปพบตำรวจเพื่อพาไปจับ เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะตรวจสอบใบมอบนั้นว่าถูกต้องแท้จริงหรือไม่ เพราะถ้าไปถึงที่เกิดเหตุแผงค้า แทบไม่มีพ่อค้าแม่ค้ารายใดขอดู หรือถ้าดูก็ไม่รู้ว่าจริงหรือปลอม”

ส่วนกรณีที่ตัวแทนเป็นพวกนักบิน อาจใช้ใบมอบปลอม ซึ่งเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม เมื่อจับผู้ค้ามาก็อาจผิดกักขังหน่วงเหนี่ยว กรรโชกทรัพย์ อาจผิดข้อหาแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ข้อหารู้ว่าไม่มีความผิดอาญาเกิดขึ้น แต่แจ้งเท็จต่อเจ้าพนักงานว่ามีความผิดอาญาเกิดขึ้น หรือแจ้งเกินความจริง ส่วนตำรวจหากรู้อยู่แล้ว ว่าใบมอบปลอม แล้วยังฝืนไปกับตัวแทนเพื่อจับกุม ก็อาจมีความผิดฐานกลั่นแกล้งจับกุมบุคคลให้รับโทษทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติหน้ที่โดยมิชอบ และหากมีการจับกุมโดยมิชอบก็จะกระทบถึงอำนาจฟ้องของฝ่ายรัฐ

...

สำหรับคดีละเมิดลิขสิทธิ์เป็นความผิดอาญา เมื่อตำรวจจับมาก็ต้องทำประวัติทำบันทึกต่างๆ หากอ้างว่าเมื่อมีการจับมาแล้ว ตำรวจก็ปล่อยให้ตัวแทนกับพ่อค้าแม่ค้าเจรจากันไป มีการต่อรองกันไป หากเจรจาจ่ายเงินก็จบแยกย้ายกันไป ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเมื่อมาถึงที่ทำการพนักงานสอบสวนแล้วก็ควรจะมีการตั้งเรื่องสอบมีเอกสาร มีคำร้องทุกข์ มีหนังสือตั้งตัวแทน เก็บเป็นสำเนาไว้บ้าง ไม่ใช่ว่าทุกอย่างหายไปหมดหรือไม่เคยมีเลย หากไม่มีเลยทำให้ชวนคิดไปได้ว่า มีการร่วมกัน “ตีกินหรือไม่”

กรณีที่ผู้ถูกจับเป็นเด็ก ต้องขออนุญาตจับก่อน และต้องนำตัวส่งสถานพินิจเพื่อทำประวัติตรวจร่ายกาย และให้ประกันตัวเป็นหลัก ซึ่งหลักทรัพย์ก็ไม่สูงมาก ถามว่าคดีนี้เมื่อจับเด็กมาแล้วได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ เด็กได้พบที่ปรึกษากฎหมายหรือไม่ หรือเจตนาแค่จับแล้วคุยกัน เมื่อจ่ายก็จบ

"คดีลักษณะนี้มีมาก โดยเฉพาะจับกางเกงยีนส์ ละเมิดแบรนด์ดังๆ หากเป็นกรณีพ่อค้าขายกางเกงทั่วไป แล้วตัวแทนกับตำรวจไปล่อให้เขากระทำผิด โดยไปบอกว่าต้องการยี่ห้อดัง ต้องการจ่ายเงินให้ราคาดี เมื่อพ่อค้าตกลงก็ไปสรรหากางเกงมาให้ พอส่งมอบก็ถูกจับ แบบนี้ไม่ใช่ล่อซื้อโดยชอบ เพราะพ่อค้าไม่มีเจตนาค้างานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตมาแต่แรก เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยไม่ชอบ ศาลมักจะไม่รับฟังพยานหลักฐานเหล่านี้".