กลายเป็นเรื่องการเมืองไปแล้ว หลังยืดเยื้อถกเถียงกันมานานกว่า 2 ปี จะยกเลิกจริงหรือไม่? ในการใช้ 3 สารเคมีทางการเกษตร ทั้งพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส คาดว่า 22 ต.ค.นี้ น่าจะชัดเจนในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพราะที่ผ่านมามีทั้งฝ่ายหนุน และฝ่ายต้าน ทำให้สังคมต่างคลางแคลงตกลงว่ามันมีประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน
- ประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส หรือยาฆ่าหญ้า เป็นที่นิยมของเกษตรกรไทย เพราะต้นทุนต่ำ ออกฤทธิ์เร็ว กระทั่งประเทศเพื่อนบ้าน และอีก 53 ประเทศทั่วโลก ได้สั่งแบนไม่ให้ใช้ เพราะปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม และกระทบต่อสุขภาพ
- พาราควอตเป็นสารเคมีที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1882 ถูกรู้จักในฐานะเป็นสารพิษกำจัดวัชพืชในปี 1955 และผลิตในทางการค้าครั้งแรกเพื่อเป็นสารกำจัดวัชพืชในปี 1962 โดยบริษัทไอซีไอ ประเทศอังกฤษ และได้แบนสารพิษนี้ เมื่อปี 2007
- 5 เม.ย. 2560 จุดเริ่มแบนสาร 3 ชนิด ภายหลังคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีมติให้ยุตินำเข้าภายในเดือน ธ.ค. 2561 และยุติการใช้ทั้งหมดภายในเดือนธ.ค. 2562
- มูลนิธิชีววิถี ยืนยันข้อมูลประเทศที่ยกเลิกใช้พาราควอต ร้อยละ 48 เห็นว่าเป็นพิษสูงและกระทบสุขภาพ, ร้อยละ 30 เพราะทำให้เกิดโรคพาร์กินสัน, ร้อยละ 16 ตกค้างในสิ่งแวดล้อม และมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่ป้องกันการใช้ฆ่าตัวตาย
...
- 7 ต.ค. 2562 “มนัญญา ไทยเศรษฐ์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากพรรคภูมิใจไทย นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะทำงาน 4 ฝ่าย มีมติเป็นเอกฉันท์แบนสาร 3 ชนิด เช่นเดียวกับ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข ออกมาสนับสนุนเต็มที่
- ตัวแทนฝ่ายเกษตรกร ออกมาคัดค้านการแบนสารทั้ง 3 ชนิด เนื่องจากยังมีความจำเป็นเพื่อกำจัดวัชพืช ศัตรูพืช และยืนยันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเกรงว่าจะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าเกษตรพุ่ง จากการกักตุนสารเคมี กระทบต่อเศรษฐกิจ และการส่งออก พร้อมตั้งข้อสังเกตถึงความพยายามอย่างผิดปกติในการแบนสาร 3 ตัวนี
- เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ออกมารณรงค์ระดมรายชื่อประชาชนให้ได้ 1 แสนราย ผ่านแคมเปญ Change.org/paraquat ร้องเรียนไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแบนการใช้สารเคมี โดยระบุว่าตั้งแต่ปี 2559 มีผู้เสียชีวิตจากสารกำจัดศัตรูพืช 2,193 ราย
- “เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์” อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาระบุ อนุทิน และรัฐมนตรีในสังกัด โดนหลอกให้เป็นเครื่องมือในการแบนสารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด โดยมองว่าการแบนพาราควอต เป็นการทำร้ายเกษตรกรที่ใช้สารอย่างถูกต้อง จึงควรฟังข้อมูลให้รอบด้าน
- “ศักดินัย นุ่มหนู” ส.ส.ตราด พรรคอนาคตใหม่ ได้ออกมาคัดค้านการแบนสารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด แบบหักดิบ เพื่อเปิดทางให้ใช้สารเคมีตัวใหม่ แต่เห็นด้วยกับการลดการใช้ และค่อยๆ ขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์ และคิดค้นชีวภัณฑ์อื่นมาทดแทน.