น่าห่วงคดีที่ พ.ต.อ.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบก.สส.บช.น. และ นายปราโมทย์ ลลิกิตติ ประธานชมรมป้องกันทุจริตบัตรเครดิตภายใต้สมาคมธนาคารไทย ร่วมกันแถลงผลการจับกุม นายธนากร สงวนศักดิ์ อายุ 27 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาธนบุรี
ความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน พร้อมของกลางโทรศัพท์มือถือที่ใช้ทำธุรกรรมและข้อมูลบัตรเครดิต 20 รายการ
คดีนี้มีผู้เสียหาย 25 ราย ถูกคนร้ายนำบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้า
เสียเงินรวม 280,000 บาท เจ้าหน้าที่สืบทราบว่าคนร้ายคือนายธนากร จึงรวบรวมหลักฐานก่อนขอหมายจับ ก่อนจับกุมตัวดำเนินคดี
นายธนากรประกอบอาชีพเป็นพนักงานสินเชื่อรถยนต์ของธนาคารแห่งหนึ่งและเคยเป็นเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ของธนาคาร จะรู้ข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า หมายเลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์และหมายเลขบัตรเครดิต รวมถึงขั้นตอนการติดต่อทำธุรกรรมเกี่ยวกับบัตรเครดิต
ต้องตอบคำถามอะไรบ้าง
อาศัยช่องทางการทำงานเป็นพนักงานขายประกันรถยนต์และขายรถยนต์มือสอง ติดต่อไปที่คอลเซ็นเตอร์ของบริษัทบัตรเครดิตที่ลูกค้าใช้ ขอเปลี่ยนแปลงเบอร์โทรศัพท์ของผู้เสียหายให้มาเป็นเบอร์ของนายธนากร
เพื่อป้องกันไม่ให้มีข้อความแจ้งเตือนเข้าไปยังโทรศัพท์ผู้ถือบัตรเครดิตตัวจริง และขอรับรหัสรักษาความปลอดภัย เมื่อได้มาจะนำไปชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าผ่านคิวอาร์โค้ด
นายธนากรจะเลือกก่อเหตุในช่วงเวลากลางคืน เป็นเวลาที่ผู้เสียหายนอนหลับไม่ทราบความเคลื่อนไหวทางการเงิน ผู้ต้องหาล้วงข้อมูลบัตรเครดิตของลูกค้าไปแล้วกว่า 20 ใบ ส่วนใหญ่จะเป็นคนรู้จักทั้งหมด
เนื่องจากมีข้อมูลส่วนตัว
...
ผู้เสียหายรายหนึ่งบอกว่า รู้จักกับผู้ต้องหาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัย เป็นเพื่อนในกลุ่มเดียวกัน ผู้ต้องหาเป็นพนักงานไฟแนนซ์ ดูแลทำสัญญาซื้อขายของตัวเอง ก่อนเกิดเหตุผู้ต้องหาสอบถามข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลบัตรเครดิต 2 ใบ ช่วงดึกได้รับข้อความจากธนาคารว่ามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเบอร์โทรศัพท์และมีการใช้จ่ายบัตรเครดิตกว่า 4 หมื่นบาท
สอบถามทางธนาคารว่าผู้ต้องหาเอาข้อมูลไปใช้เปลี่ยนข้อมูลกับทางธนาคาร
ปกติทางธนาคารจะมีขั้นตอนตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมง ส่งแจ้งเตือนเวลามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลบัตรเครดิตของลูกค้าอยู่แล้ว ผู้ที่ใช้บัตรเครดิต ขอให้เก็บรักษาข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลบัตรให้ดี อย่าบอกข้อมูลส่วนตัวกับคนอื่น เพื่อป้องกันการเข้าถึงของคนร้าย
สุดท้ายเป็นภัยที่ต้องเตือนตัวเอง.
“เพลิงพยัคฆ์”