มท. อนุมัติ อปท.ใช้จ่ายเงินสะสม มุ่งแก้ไขความเดือดร้อนประชาชน กระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนตามนโยบาย รบ.
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยกำหนดมาตรการหลายมาตรการ เช่น การใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะงบลงทุนเศรษฐกิจฐานรากด้านการเกษตร การท่องเที่ยว การลงทุน และได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย ส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้จ่ายเงินสะสม เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งนี้กระทรวงมหาดไทยเห็นว่า เพื่อให้ อปท.สามารถนำเงินสะสมมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น และใช้ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้ตามอำนาจหน้าที่ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ จึงได้อนุมัติยกเว้นการใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท. และเพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล
สำหรับแนวทางการใช้จ่ายเงินสะสมนั้น กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องตรวจสอบยอดเงินสะสมที่นำไปใช้ได้ ณ ปัจจุบัน โดยหักเงินสะสมส่งสมทบกองทุนส่งเสริมกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท แล้วนำไปหักรายการเงินสะสมที่ได้รับอนุมัติแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือยังไม่ได้เบิกจ่าย เพื่อพิสูจน์ยอดเงินสะสมคงเหลือ ณ ปัจจุบันที่สามารถนำไปใช้ได้ และก่อนจะนำเงินสะสมไปใช้ ก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกันเงินสำรองเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน และค่าใช้จ่ายกรณีที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้นตามความจำเป็น โดยให้คำนึงถึงสถานะทางการเงินการคลัง โดยโครงการหรือกิจการที่จะดำเนินการต้องอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท.โดยการบริการชุมชนและสังคม กิจการที่เป็นการเพิ่มพูนรายได้ของ อปท.หรือกิจการที่จัดทำขึ้นเพื่อบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน และเป็นไปตามแผนพัฒนาของ อปท.เพื่อให้ อปท.นำเงินสะสมไปใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยให้ความสำคัญกับโครงการต่างๆ ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมสร้างทางคมนาคม การจราจร ระบบส่งน้ำเพื่อการเกษตร ระบบประปา โครงการขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืชและก่อสร้างฝาย ฯลฯ 2. ด้านการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เช่น โครงการส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน, โครงการจัดตั้ง/ส่งเสริมกลุ่มอาชีพในชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส /ยากจน /พิการ 3. ด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น โครงการฝึกอาชีพให้กับเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้ศึกษาต่อ หรือประชาชนที่ว่างงาน เพื่อให้มีทักษะในการประกอบอาชีพ 4. ด้านส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชน, โครงการมัคคุเทศก์ท่องเที่ยววิถีชุมชน และ 5. ด้านการศึกษา เช่น โครงการปรับปรุงอาคารสถานศึกษา, โครงการก่อสร้างสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา และโครงการจัดให้มีสถานที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน
...
อธิบดี สถ. กล่าวต่อว่า การใช้จ่ายเงินสะสมเพื่อดำเนินโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน การกีฬา หรือการจัดหาวัสดุอุปกรณ์เพื่อการศึกษานั้น ก็ขอความร่วมมือ อปท.ได้ช่วยให้ความสำคัญกับการใช้ยางพาราเป็นส่วนประกอบตามนโยบายรัฐบาล และการทำโครงการที่ต้องใช้แรงงาน ให้เน้นการใช้แรงงานในท้องถิ่น เว้นแต่ไม่มีแรงงานในท้องถิ่น ก็อาจพิจารณาใช้แรงงานนอกเขตพื้นที่ได้ตามความเหมาะสมและขอให้ อปท. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่น ในด้านต่างๆ เพื่อเน้นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ตามแนวนโยบายของรัฐบาล โดยนำเงินสะสม ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศต่อไปด้วย