นักวิชาการ ติงแนวคิดให้สถานบันเทิงปิดตี 4 อาจมีนักดื่มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่ออุบัติเหตุบนถนนที่จะเพิ่มตาม วอนพิจารณาให้รอบด้าน ผลเสียมากกว่ากระตุ้น ศก. ห่วงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ทำให้นักดื่มเพิ่ม

เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2562 ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวในเวทีเสวนา “จากบุหรี่ไฟฟ้าถึงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ทางเลือกเพื่อสุขภาพหรือการตลาดอาบยาพิษ”ว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ก่อให้เกิดการเสพติดเหมือนบุหรี่ ผลวิจัยจากต่างประเทศ พบว่า นิโคตินก่อให้เกิดการเสพติดสูงกว่าเฮโรอีน แอลกอฮอล์ และกัญชา ซึ่งในปีค.ศ.2008 องค์การอนามัยโลกประกาศว่า บุหรี่ไม่ใช่อุปกรณ์หรือ เครื่องมือสำหรับการเลิกบุหรี่ หลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ไต้หวัน สิงคโปร์ อินเดีย ฮ่องกง มีปัญหาการเพิ่มขึ้นของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นเยาวชน

ผู้ช่วย ผอ.ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ กล่าวต่อว่า มีงานวิจัยที่ยืนยันถึงผลกระทบกับเยาวชนทั้งเกิดภาวะซึมเศร้า พฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย อีกทั้งพบวัยรุ่นซึ่งยังไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน และลองใช้บุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มที่จะริเริ่มสูบบุหรี่แบบปกติในเวลาต่อมา และพัฒนาไปสู่การเสพติดยาเสพติดประเภทอื่น ต้องขอบคุณ รมว.สาธารณสุข และนายกรัฐมนตรีที่แสดงจุดยืนชัดเจนไม่ให้มีการนำเข้า จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า

ด้าน นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าวว่า ศวส.ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เคยดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ 4,000 คนจากทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมิ.ย.-ส.ค.2562พบว่าร้อยละ 69 ที่เคยดื่มเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ในช่วง12เดือนที่ผ่านมา ยังคงดื่มเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ตามปกติเท่าเดิม ส่วนคนที่จะใช้เบียร์ไร้แอลกอฮอล์มาดื่มแทนเบียร์ปกติมีเพียงร้อยละ 4

...

นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ 3 ใน 4 เมื่อได้เห็นแพ็คเกจเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ ทำให้นึกถึงเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ยี่ห้อที่เป็นบริษัทเดียวกัน ร้อยละ 70 เห็นด้วยกับการห้ามโฆษณา จำกัดเวลา สถานที่ขาย และไม่เห็นด้วยที่จะให้เยาวชนดื่ม ทั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องควบคุมเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ เพราะเป็นกลยุทธ์การตลาด ที่หาช่องโหว่ทางกฎหมาย แฝงโฆษณา ใช้สัญลักษณ์ แพ็คเกจ ที่เหมือนหรือคล้ายกับเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ ฝากภาครัฐให้รู้เท่าทัน กำกับดูแลไม่ให้จดทะเบียนการค้า หรือใช้ตราสัญลักษณ์ที่ใกล้เคียงกัน ต้องแยกประเภทเพื่อให้มีความแตกต่าง คำนึงถึงผลกระทบ

นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวถึงข้อเสนอกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะขยายเวลาการปิดสถานบันเทิงถึงตี 4 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจว่า การลดเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และจำกัดเวลาปิดสถานบันเทิงที่ผ่านมาเพื่อต้องการให้คนเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์น้อยลง ลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุ อาชญากรรมและสร้างปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ตามมา จึงต้องชั่งใจและพิจารณาให้รอบด้าน กับผลกระทบที่จะตามมามากมาย การขยายเวลาทำให้เกิดการดื่มที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีในทางกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่ ดร.บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า ปรากฎการณ์เบียร์ไร้แอลกอฮอล์เป็นกระแสแรงมากตอนนี้ เพราะมีการโหมการตลาด ส่งเสริมการขาย โดยใช้แบรนด์ดีเอ็นเอเดียวกันกับเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ เข้าข่ายเป็นการโฆษณาเลี่ยงกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องนำประเด็นนี้ไปพิจารณา หรือปรับแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อควบคุมเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะน่าห่วงเบียร์ไร้แอลกอฮอล์เป็นการปลูกฝังให้เด็กดื่มได้และชินกับเบียร์.