ช่วงที่การเล่น #10 Years Challenge 2009 VS 2019 โดยใช้รูปถ่ายเก่ากับรูปปัจจุบันมาโพสต์เทียบให้เห็นถึงความแตกต่างของหน้าตาในรอบ 10 ปีลงเฟซบุ๊ก กำลังได้รับความนิยมอย่างอุ่นหนา
Brandthink.com หนึ่งในเพจฮอตฮิต เลือกที่จะหยิบยกเอาตารางขึ้นมาเปรียบเทียบ เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพความต่างของราคาสินค้าอุปโภคบริโภค และค่าใช้จ่ายต่างๆรอบตัวเรา เทียบให้เห็นว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีอะไรบ้างที่เปลี่ยนไป และแต่ละอย่าง เปลี่ยนไปกี่มากน้อย?
เริ่มจาก ราคาทองคำแท่ง เมื่อปี 2009 (พ.ศ.2552) ร้านทองขายออกน้ำหนักบาทละประมาณ 14,000 บาท ปัจจุบันปี 2019 ราคาขายออกทะยานขึ้นไปที่บาทละ 19,000-19,300 บาท
เท่ากับวันนี้ต้องซื้อทองคำแท่งในราคาที่แพงขึ้น บาทละประมาณ 5,000 บาท
น้ำมันดีเซล หนึ่งในปัจจัยซึ่งเป็นตัวแปรเกี่ยวโยงไปถึงค่าขนส่งและราคาสินค้า เมื่อปี 2009 มีราคาลิตรละ 16.84 บาท วันนี้ขยับขึ้นมาเป็นลิตรละ 26.09 บาท
เท่ากับวันนี้คนไทยต้องเติมดีเซลหรือโซลาในราคาที่แพงขึ้นลิตรละ 9.25 บาท
ค่าแรงขั้นต่ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (จังหวัดโดยรอบที่มีเขตแดนติดกับกทม.) ปี 2009 กฎหมายกำหนดไว้ที่วันละ 206 บาท ปัจจุบันวันละ 325 บาท
เท่ากับในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คนที่ทำงานในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มขึ้นวันละ 119 บาท
...
ข้าวผัดกะเพรา+ไข่ดาว 1 จาน เมื่อสิบปีก่อน ร้านอาหารตามสั่งทั่วไปขายกันอยู่จานละ 30 บาท วันนี้ส่วนใหญ่ขายกันจานละ 50 บาท
เท่ากับว่า “เมนูสิ้นคิดขวัญใจคนไทย” ปรับราคาขึ้นมาจานละ 20 หรือเทียบกับเมื่อสิบปีที่แล้ว เงิน 50 บาท ซื้อกินได้เกือบ 2 จาน
บะหมี่ซองยอดนิยม อย่างมาม่า หรือไวไว เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ราคาซองละ 6 บาท นับเป็นโชคดีของนักเรียน นักศึกษาตามหอพัก และคนไทยที่เงินช็อต วันนี้ราคายังน่ารักดังเดิมคือ ซองละ 6 บาท
เอสเพรสโซ่ (กาแฟเพียวๆ ไม่ผสมอะไรเลย) ที่ร้านอเมซอนตามปั๊มน้ำมัน ปตท. เมื่อ 10 ปีก่อน คอกาแฟสามารถหาดื่มเพื่อช่วยถ่างตาเวลาขับรถได้ในราคาแก้วละ 40 บาท ปัจจุบันปรับราคาขึ้นมาเป็นแก้วละ 55 บาท หรือต้องจ่ายแพงขึ้นแก้วละ 15 บาท
ตั๋วหนัง ตามโรงภาพยนตร์ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ราคาใบละ 140 บาท เทียบกับวันนี้ปรับราคาขึ้นมาเป็นใบละ 240 บาท
หมายความว่า เมื่อ 10 ปีก่อน เงิน 500 บาท สามารถซื้อตั๋วดูหนังได้ถึง 3 ที่ แถมยังมีเงินทอนเหลืออีก 80 บาท แต่วันนี้อานุภาพของแบงก์สีม่วง แลกตั๋วหนังได้เพียง 2 ใบ กับเงินทอนอีก 20 บาท
ค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) คิดตามระยะจากสถานที่ใกล้-ไกลสุด เมื่อปี 2009 เริ่มต้นที่ราคา 15-40 บาท ปัจจุบัน เริ่มต้นที่ราคา 15-59 บาท
เท่ากับว่าการโดยสารบีทีเอส จากสถานีต้นสายถึงปลายทาง ต้องควักเพิ่มอีก 19 บาท
ค่ารถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที (MRT) เมื่อสิบปีที่แล้ว คิดตามระยะจากสถานีใกล้-ไกลสุด เริ่มต้นที่ราคา 16-41 บาท ปัจจุบันเริ่มต้นที่ 16-42 บาท
หรือเท่ากับนั่งจากต้นสายถึงปลายทาง จ่ายเพิ่มอีก 1 บาท
เครื่องมือสื่อสารอย่าง โทรศัพท์มือถือ ยี่ห้อไอโฟน (iPhone) รุ่นท็อป เมื่อปี 2009 ราคาเครื่องละ 28,500 บาท มาวันนี้อยากมีแบบนั้นใช้สักเครื่อง ต้องใช้เงินถึง 57,900 บาท
หรืออยากให้ความฝันเป็นจริงได้ ต้องจ่ายเพิ่มอีกถึง 29,400 บาท
เทียบกับราคาเก๋งซีดาน ฮอนด้า ซีวิค ตัวท็อป รถป้ายแดงถอยจากโชว์รูม เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซื้อได้ในราคาคันละ 1,101,000 บาท แต่วันนี้อยากได้รถในฝันรุ่นเดียวกัน ต้องจ่ายในราคา 1,199,000 บาท
เท่ากับว่า ต้องควักเพิ่มอีกคันละ 98,000 บาท
ตัวชี้วัดสุดท้าย ราคาบ้านจัดสรร พร้อมที่ดิน 50 ตารางวา เมื่อปี 2009 หลายทำเลเคยหาซื้อได้ในราคาหลังละ 2,800,000 บาท
มาวันนี้ถ้าอยากได้บ้านแบบเดียวกัน บนเนื้อที่เท่ากัน ในทำเลเดียวหรือใกล้เคียงกัน ต้องจ่ายถึงหลังละประมาณ 4,500,000 บาท
หรือเท่ากับจ่ายเพิ่มขึ้น หลังละ 1,700,000 บาท
แต่ในสภาพเป็นจริง...การใช้ชีวิต “มนุษย์เงินเดือน” ในสังคมกรุงเทพฯ แบบที่คนส่วนใหญ่ใช้กันอยู่ใน พ.ศ.นี้ ยังมีอีกสารพันขวากหนามให้ต้องเจอะเจอ
ดูอย่าง วุฒิไกร พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
เขาระบายความคับข้องจากการยอมจำนนใช้ชีวิตมนุษย์เงินเดือน ยุค 4.0 ในเมืองหลวงว่า
ปกติผู้ให้สินเชื่อทั้งหลายมักจะแนะนำว่า โดยหลักแล้ว ภาระการผ่อนส่งต่างๆ เช่น ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ฯลฯ ไม่ควรสูงเกินกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ต่อเดือน
...
เช่น คนที่มีเงินเดือน 30,000 บาท ควรมีภาระหนี้สินจากการผ่อนส่งต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ที่เหลือกันไว้เป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเงินออมเผื่อต้องใช้ยามฉุกเฉิน
แต่ไกรบอกว่า นั่นเป็นแค่ทฤษฎี ในความเป็นจริงมนุษย์เงินเดือนหลายคน รวมทั้งเขาด้วยซึ่งไม่ได้ร่ำรวยมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่...ยากที่จะทำได้
“ปีนี้ผมอายุ 35 เป็นแค่พนักงานทั่วไป มีรายได้เดือนละ 22,000 บาท ก่อนหน้านี้เช่าบ้านอยู่ เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตัดสินใจผ่อนทาวน์เฮาส์หลังเล็กๆ แถวรังสิต ราคาล้านกว่าบาท มีภาระต้องจ่ายค่างวดเดือนละ 8,000 กว่าบาท ผ่อนยาว 30 ปี ยอมแลกกับภาระเงินต้นค่างวด 8 พันบาท ซึ่งหักเป็นค่าดอกเบี้ยปาเข้าไปก็เดือนละ 5 พันกว่าบาทแล้ว เท่ากับแต่ละงวด ภาระหนี้เงินต้นลดลงไปแค่เดือนละ 2 พันต้นๆเอง”
ไกรบอกว่า เท่านั้นไม่พอ เขายังต้องส่งเงินให้พ่อกับแม่ใช้อีกเดือนละ 5,000 บาท ไหนจะค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเน็ตมือถือ ค่าเดินทาง และค่ากินอยู่ของตัวเองอีก ทำให้เวลานี้มนุษย์เงินเดือนอย่างเขา ต้องใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน ไม่เคยได้เที่ยว หรือสังสรรค์กับใคร เลิกงานก็รีบกลับบ้านทันที
“นี่ขนาดผมเลือกซื้อบ้านแบบไม่เกินตัว พยายามใช้ชีวิตแบบตัวลีบสุดโต่ง งดกิจกรรมทุกอย่าง ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ยังจุกขนาดนี้ เพื่อนบางคนแนะนำว่า อยากส่งค่างวดบ้านให้หมดไวๆ ทุก 3 ปีควรเอาบ้านไปทำรีไฟแนนซ์ ดอกเบี้ยจะได้ลด และจะให้ดีกว่านั้น ควรหาคู่ชีวิตสักคนมาช่วยกันผ่อน ช่วยกันโปะ”
ไกรทิ้งท้ายว่า “โธ่ แค่ตัวคนเดียวผมยังเอาตัวแทบไม่รอด จะมีผู้หญิงตาบอดที่ไหนยอมมาแบกภาระกินเกลือกับผม”
นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของ “ราคา” ที่มนุษย์เงินเดือนในเมืองหลวงยุค 4.0...ต้องจ่าย! และยิ่งในยุคที่ค่ารถเมล์ปรับขึ้นราคาอย่างนี้ คนมีเงินคงไม่ระคาย แต่คนหาเช้ากินค่ำปวดหัวใจไม่น้อยทีเดียว.
...