"การแปลงเพศ" หรือเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Sex Reassignment หรือศัลยกรรมผ่าตัดเปลี่ยนแปลงเพศสภาพภายนอก จากชายเป็นหญิง หรือจากหญิงเป็นชาย โดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีใบรับรอง และการจะแปลงเพศผู้ป่วยควรตัดสินใจอย่างรอบคอบ ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
ประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาอีกครั้งในสังคม จากละครดังช่องหนึ่ง "ใบไม้ที่ปลิดปลิว" โดยนักแสดงนำ หรือนางเอกของเรื่อง คือ "นิรา คงสวัสดิ์" สาวสวยที่มาพร้อมกับชีวิตใหม่หลังแปลงเพศมาจากต่างประเทศ ในเนื้อเรื่อง "นิรา" เป็นหญิงสาวที่โดดเด่น มีความเชื่อมั่น เป็นดาราดัง แต่กลับไม่มีใครใกล้ตัวระแคะระคาย ทราบเรื่องการแปลงเพศของเธอ ทั้งศัลยกรรมหน้าอก และผ่าตัดเปลี่ยนแปลงอวัยวะเพศ เรียกได้ว่า ทำทุกอย่างให้เป็น "ผู้หญิงที่สุด" หากความลับไม่แตกเพราะแรงหึงหวง คงไม่มีใครรู้
“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ค้นข้อมูล "ไขปริศนา" ตอบคำถามที่หลายๆ คนอยากรู้ เมื่อแปลงเพศเปลี่ยนจากชายเป็นหญิงแล้ว เป็นไปได้จริงๆ หรือที่ว่า คนทั่วไปจะมองไม่ออก สำหรับขั้นตอนวิธีแปลงเพศเป็นอย่างไร เมื่อแปลงเพศแล้วจะแตกต่างจากผู้หญิงจริงๆ หรือไม่? นายแพทย์รุ่งกิตต์ ตัญจพัฒน์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการศัลยกรรม ได้มาไขข้อข้องใจตรงนี้
...
แปลงเพศ โรคทางจิตใจ กายเป็นชาย ใจเป็นหญิง
การแปลงเพศ ถือเป็นผ่าตัดใหญ่ซับซ้อน ปัญหาของการแปลงเพศเป็นโรคทางจิตใจ ซึ่งเมื่อย้อนไป 30-40 ปีก่อน เชื่อว่าเป็นเรื่องของจิตใจที่ไม่ตรงกับร่างกาย เช่น ร่างกายเป็นชาย แต่จิตใจเป็นหญิง ซึ่งสมัยก่อนเราโฟกัสไปถึงพฤติกรรมการเลี้ยงดู เราพยายามรักษาเพื่อแก้ปัญหาให้เขา แต่คราวนี้ในปัจจุบันเป็นโรคทางกาย โอกาสที่จะใช้ยาเลยยาก ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องใช้การผ่าตัด เพื่อรักษา ในเมื่อเราไม่สามารถปรับจิตใจเขาให้เป็นเหมือนร่างกายได้ เราก็ใช้วิธีปรับร่างกายให้เหมือนจิตใจแทน ดังนั้นข้อสำคัญคือเราต้องแยกก่อน ต้องแน่ใจว่าคนไข้เป็นโรคกลุ่มไหน
ดังนั้นจึงต้องมีจิตแพทย์เข้ามาเพื่อซักประวัติ รวมทั้งหมอผ่าตัดก็ต้องซักประวัติคนไข้ด้วย ว่าจิตใจกับร่างกายมันแตกต่างกันอย่างชัดเจน เพื่อแยกโรคที่เป็นทางจิตแพทย์ออกไปก่อน โรคนี้แพทย์จะใช้ลักษณะในการวินิจฉัย เช่นโรคนี้มีความรู้สึกที่ไม่ตรงกับใจมาตั้งแต่อายุเท่าไหร่ แล้วหลังจากนั้นการใช้ชีวิตแบบผู้อยู่อย่างปกติสุขดี แต่งตัวเป็นผู้หญิงมา 10 กว่าปี ไม่มีปัญหาเลย ใช้ห้องน้ำร่วมกับผู้หญิงได้อย่างสบายใจ ทั้งหมดนี้เป็นคาแรกเตอร์รวม ที่คุณหมอทางผ่าตัดและคุณหมอจิตแพทย์ต้องเอามารวมๆ กัน เขาเรียกว่าเป็นข้อบ่งชี้ ซึ่งเราจะมารวมคะแนนอีกทีว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน
กินฮอร์โมน ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เลิกกินก็กลับมาเหมือนเดิม
ส่วนเรื่องการเทคฮอร์โมน หรือการกินฮอร์โมน จากภายนอกเข้าไป ถือว่าอยู่ในกลุ่มที่กลับไปที่จุดเดิมได้ ถามว่าจำเป็นทุกคนหรือไม่ มันก็ไม่จำเป็นมาก แล้วจริงๆ การเทคฮอร์โมน มีผลเรื่องการเจริญเติบโตพอสมควร และต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ อย่างไรก็ตามคนไข้ไม่จำเป็นต้องเทคฮอร์โมน ก่อนถึงจะแปลงได้ จริงๆ ถ้าเอาตามหลักการ ควรจะต้องผ่านจิตแพทย์มาก่อนว่าเราอยู่ในกลุ่มคนที่ว่าจิตใจกับเพศไม่ตรงกัน เนื่องจากเป็นข้อบ่งชี้ ความถูกต้องมันก็ไม่ใช่แบบ 100 เปอร์เซ็นต์มาก
ดังนั้นการเทคฮอร์โมน จึงไม่ใช้การปรับเปลี่ยนเพศสภาพที่ถาวร เพราะเมื่อเลิก หรือหยุดไป ร่างกายก็สามารถกลับมาเป็นปกติได้เหมือนเดิม แต่การแปลงเพศนั้นหมายความว่าจะไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามเพศกำเนิดเดิมได้อีก จึงควรตรวจสภาพร่างกายและสภาพจิตใจให้แน่ชัดว่าพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตจริงหรือไม่
บางคนยังรู้สึกก้ำกึ่ง ไม่ได้รู้สึกข้ามเพศไปโดยสิ้นเชิง
เรื่องของจิตใจกับเพศ ไม่ตรงกัน มันเป็นเรื่องของข้อบ่งชี้ ความถูกต้องมันจึงไม่ค่อยชัดเจนมาก จึงมีคนไข้บางประเภทที่ยังรู้สึกก้ำกึ่งๆ ดังนั้นถ้าเราได้มีหัตถการ หรืออะไรบางอย่างที่ให้เขาได้ทดลองใช้ชีวิตในเพศที่เขาชอบแต่กลับกลายเป็นไม่มีความสุขขึ้นมา ลักษณะนี้ มันยังทำให้เขากลับไปใช้ชีวิตยังจุดเริ่มต้น ตามเพศสภาพที่เขาเกิดมาได้ แต่ถ้าแปลงเพศไปแล้ว นั่นหมายความว่า จะกลับมาเป็นแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว
การตัดสินใจจะแปลงเพศจึงควรต้องละเอียดถี่ถ้วน พบแพทย์ ปรึกษาแพทย์และทำตามกระบวนการที่แนะนำไว้เบื้องต้นเสียก่อน อย่าตัดสินใจอะไรฉับพลันโดยไม่ไตร่ตรอง เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มากของชีวิต
ตัดสินใจแปลงเพศแล้ว หลังการศัลยกรรม จะเกิดอะไรขึ้น
เราพูดกันถึงการแปลงเพศส่วนใหญ่ เช่น การเปลี่ยนจากเพศชายมาเป็นเพศหญิง โดยขั้นตอนจะมีการตัดตัวลูกอัณฑะ ซึ่งลูกอัณฑะ เป็นแหล่งผลิตฮอร์โมน เพศชายอยู่แล้ว ซึ่งการตัดทิ้งไปนั้นหมายความว่า ฮอร์โมนเพศพวกนี้มันจะหายไป แต่เราจะใช้วิธีการทานเข้าไป หรือรับเข้ามาจากฮอร์โมนภายนอก ในแง่ของการเจริญเติบโตนั้น หากมองในแง่จุดที่ร่างกายเจริญเติบโตผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ดังนั้นการดำเนินชีวิตอะไรก็ไม่แตกต่าง
...
แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือ ฮอร์โมนเพศชายจะสร้างทั้งชีวิต ดังนั้นจะสังเกตเห็นว่ากระดูกของเพศชายจะแข็งแรงกว่า ในขณะที่ผู้หญิงพอถึงวัยหมดประจำเดือน พอฮอร์โมนหายไปกระดูกก็จะอ่อน แต่เรื่องราวเหล่านี้จะไม่มีปัญหาอะไรเลยตั้งแต่ต้น จะมีหลังการแปลงเพศ จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้น เราพูดกันในส่วนใหญ่ เช่นแปลงจากชายเป็นหญิง ฮอร์โมนเพศชายสร้างทั้งชีวิต ส่วนคนไข้ที่แปลงเพศจากชายมาเป็นหญิง นั่นหมายความว่าจะต้องเทคฮอร์โมนไปตลอดชีวิตก็ได้
พอถึงจุดนึงความเสี่ยงก็จะเกิดขึ้น เช่น ผู้หญิงหมดประจำเดือนแล้วไปกินฮอร์โมน ก็จะมีความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งเต้านม ในขณะที่เพศชายแม้จะเนื้อเต้านมน้อย แต่การที่กินฮอร์โมน นานๆ ก็อาจจะต้องเข้าโปรแกรมของการตรวจมะเร็งเต้านมเช่นกัน
การแปลงเพศจากหญิงเป็นชาย แตกต่างกันอย่างไร?
การแปลงเพศจากหญิงเป็นชาย ในขั้นตอนเริ่มต้นก็เหมือนกัน แต่จะมีความแตกต่างจากชายเป็นหญิงเล็กน้อย คือด้วยเทคโนโลยีความก้าวหน้าทางการแพทย์ โดยผ่าตัดจากชายเป็นหญิงเราค่อนข้างจะประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่ของรูปร่าง ลักษณะภายนอก รวมทั้งในเรื่องของฟังก์ชั่น เรื่องการมีเพศสัมพันธ์หลังการผ่าตัด ค่อนข้างเหมือนผู้หญิงมาก อาจจะเป็นบางประเด็นที่แพทย์ยังทำให้เขาไม่ได้ คือการ "ทำให้เขาท้อง" ซึ่งมันต้องมีการปลูกถ่ายมดลูก
ที่สำคัญ การแปลงเพศหญิงเป็นเพศชาย ต้องเข้าใจว่าลักษณะอวัยวะเพศชายมันจะซับซ้อนกว่า เพราะมีเนื้อเยื่อบางอย่างที่เราไม่สามารถหาได้ ส่วนเรื่องขั้นตอนการแปลงเพศ สมมติว่าคนไข้ได้ผ่านการทดสอบจิตใจมาแล้วว่าพร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นชาย ซึ่งการผ่าตัดมีปัจจัยสำคัญ 2 อย่าง คือ 1.ความคาดหวังของคนไข้ ว่าเขาคาดหวังขนาดไหน อยากจะเป็นผู้ชายที่ไม่มีหน้าอก ยืนฉี่ได้ตามปกติ มีเพศสัมพันธ์แล้วรู้สึกอย่างไร ซึ่งการผ่าตัดขึ้นตอนบางอย่างก็จะถูกลดทอนไป
...
2.คนไข้บางคนความต้องการสูงสุดเลย ทำทุกอย่างให้เป็นผู้ชายหมด คือตัดหน้าอก ปิดช่องคลอด ปั้นอวัยวะเพศมา ยืนฉี่ มีความสัมพันธ์ทางเพศมา อันนี้ก็จะซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นการผ่าตัดจากหญิงเป็นชายต้องมีเรื่องที่พูดคุยกัน ระหว่างคนไข้กับหมอ
ทำตามขั้นตอนถูกต้องปลอดภัย อารมณ์ทางเพศ เหมือนเดิม
ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิงหรือเพศชาย ถ้าเราสามารถเก็บรักษาปลายประสาทที่รับรู้ถึงความต้องการทางเพศไว้ได้ ความต้องการมันก็ไม่เปลี่ยน ซึ่งแน่นอนว่า หากคุณทำกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมปฏิบัติตามขั้นตอนที่แนะนำ ความต้องการทางเพศของคนไข้ก็จะเหมือนเดิม ส่วนคนที่ไม่มีอารมณ์ทางเพศ น่าจะเป็นเรื่องเทคนิคของการผ่าตัดมากกว่า เช่น ในการผ่าตัดเทคนิคเก่าๆ เขาไม่ได้เก็บปลายเส้นประสาทไว้ อย่างไรก็ตามการรักษาความสะอาด สำคัญมาก ใช้ทั้งแท่งโม หรือใช้นิ้วล้วง นี่คือสิ่งที่ควรทำหลังการผ่าตัด
แปลงเพศเป็นผู้หญิงทั้งตัว ดูออกหรือไม่? ไม่ใช่หญิงแท้
อย่างที่บอกว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการศัลยกรรมแปลงเพศมันไปไกลมาก ความเหมือนจริงภายนอกในหลายเคสแทบจะแยกไม่ออก ซึ่งตรงจุดนี้นอกจากจะแปลงแล้วออกมาเหมือนจริง มันต้องขึ้นอยู่ที่ตัวคนไข้ด้วยว่ามีบุคลิกภาพภายนอกอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นท่าทางการเดิน การใช้ชีวิต รวมไปถึงเสียงที่พูดออกมา แต่ในหลายๆ รายก็มีการผ่าตัดกล่องเสียง เมื่อพูดออกมาเหมือนผู้หญิงก็มี ดังนั้นขึ้นอยู่ที่การมองของแต่บุคคลว่าจะมองออกหรือว่ามองไม่ออกอย่างไร
...
ส่วนภายใน หากถอดเสื้อผ้าออกมา มองรวมๆ อาจจะไม่รู้ แต่หากพิจารณาเปรียบเทียบกันจริงๆ อย่างไรก็ไม่เหมือน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ไม่ได้แตกต่างมาก ทว่าเรื่องของการลองมีเพศสัมพันธ์กับสาวแปลงเพศ ความซับซ้อนของอวัยวะเพศที่แปลงมาจะน้อยกว่าผู้หญิงจริงๆ เพราะอย่าลืมว่า ผู้หญิงมีรังไข่ มีมดลูก มีการบีบรัดและความเป็นธรรมชาติที่มากกว่า ส่วนความรู้สึกสัมผัสจะเหมือนกัน
"การแปลงเพศ ไม่ว่าจะจากหญิงมาชาย หรือว่าชายไปเป็นหญิง ค่อนข้างมีเทคนิคที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน และมีวิธีการทำที่ละเอียด หากให้อธิบายต้องอธิบายยาว ดังนั้นแนะนำว่าให้ผู้ที่สนใจจะผ่าตัดศัลยกรรมเปลี่ยนเพศ เข้าปรึกษาหมอเฉพาะด้านโดยตรงจริงๆ เท่านั้น โดยศัลยแพทย์ที่ทางแพทยสภา มีการระบุรายชื่อว่าสามารถศัลยกรรมผ่าตัดแปลงเพศได้ ปัจจุบันมีเพียง 300 กว่าคนเท่านั้น" นายแพทย์รุ่งกิตต์ กล่าวทิ้งท้าย