ขนของจ่ายเพิ่ม จ่อแก้กฎหมาย ป้ายดำหากินได้

ผู้โดยสารรถแท็กซี่ต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มแล้ว เมื่อ รมว.คมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เห็นดีเห็นงามไฟเขียวปล่อยผีแท็กซี่ปรับขึ้นค่าโดยสาร 10% ปรับค่าเซอร์วิสชาร์จรถแท็กซี่สนามบินจาก 50 บาท เป็น 70 บาท แถมเดินหน้าเต็มสูบจัดแต่งตัวจัดระเบียบรถผิดกฎหมายไทยให้ถูกกฎหมาย ทุกอย่างต้องแล้วเสร็จ มีผลตามกฎหมายภายใน 1 เดือน สั่งกรมการขนส่งทางบกเปิดแอปพลิเคชันจัดระเบียบแท็กซี่ป้ายเหลือง ขยายอายุรถแท็กซี่ 9 ปี เป็น 12 ปี

บรรดาแท็กซี่ได้เฮ เมื่อ รมว.คมนาคม ไฟเขียวเอาใจแท็กซี่ ประกาศให้มีการปรับอัตราค่าโดยสาร โดยเมื่อวันที่ 7 ส.ค. นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมหารือเพื่อแก้ไขปัญหาผู้ให้บริการรถแท็กซี่มิเตอร์ว่า ขณะนี้ที่ประชุมร่วม 2 ฝ่าย คือกระทรวงคมนาคมและแท็กซี่ เห็นชอบร่วมกันที่จะให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่เพิ่มขึ้น สาเหตุที่ให้ปรับค่าโดยสารเนื่องจากให้มีความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการมีต้นทุนทั้งค่าเชื้อเพลิง ค่ารถ ค่าอะไหล่สูงขึ้น ตามขั้นตอนหลังจากนี้ให้กรมการขนส่งทางบก จัดทำประกาศอัตราค่าโดยสารใหม่ก่อนเสนอกลับมาให้ตนลงนามเห็นชอบภายใน 1 เดือน

รมว.คมนาคมกล่าวอีกว่า สำหรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์จะเริ่มต้นที่ 35 บาท 1 กม.แรก-10 กม.จากเดิม 5.50 บาท/กม. ปรับเป็น 6.50 บาท/กม., ระยะทาง 10 กม.-20 กม. จากเดิมคิดอัตรา 6.50 บาท/กม. ปรับเป็น 7 บาท/กม. ระยะทาง 20-40 กม.จากเดิมคิดอัตรา 7.50 บาท/กม. ปรับเป็น 8 บาท/กม. ระยะทาง 40-60 กม. จากเดิมคิดอัตรา 8 บาท/กม. ปรับเป็น 8.50 บาท/กม. ระยะทาง 60-80 กม. ยังคงราคาเดิมที่ 9 บาท/กม. ระยะทางจาก 80 กม.เป็นต้นไป คงคิดอัตราค่าโดยสารเดิมที่ 10.50 บาท/กม. ส่วนการคิดค่าบริการในเวลารถติดจากเดิมให้เฉพาะรถแท็กซี่วีไอพี ปรับเป็นให้ทุกคันในอัตราช่วงรถติด ที่มีความเร็วไม่เกิน 6 กม./ชม.จากนาทีละ 2 บาท เป็น 3 บาท

...

นายศักดิ์สยามกล่าวอีกว่า ยังได้ให้กรมการขนส่งทางบกไปจัดทำแอปพลิเคชันใหม่ เพื่อมาทดแทนแอปพลิเคชันแท็กซี่ โอเค การจัดทำแอปพลิเคชันใหม่ถือเป็นการจัดระเบียบรถแท็กซี่ป้ายเหลืองในปัจจุบัน เนื่องจากผู้ประกอบการที่ให้บริการแท็กซี่ โอเค มีต้นทุนการบริหารจัดการ ทั้งค่าติดตั้งจีพีเอส ติดตั้งกล้อง ติดตั้งระบบฉุกเฉิน เป็นต้นทุนเฉลี่ยกว่าปีละ 20,000-30,000 บาท จึงให้กรมการขนส่งทางบกเร่งพัฒนาระบบแอปพลิเคชันใหม่ภายใน 1 เดือน จะเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่จะอนุมัติให้ผู้ขับขี่รถแท็กซี่ปรับราคาตามข้อเรียกร้องที่ได้มีการอนุมัติเห็นชอบในครั้งนี้

นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะมาให้บริการรถแท็กซี่วีไอพี นั้น จากเดิมกรมการขนส่งทางบกกำหนดให้ผู้ที่มาให้บริการต้องมาจดทะเบียนในนามนิติบุคคล ถึงจะให้บริการได้ แต่มาวันนี้ได้เปลี่ยนให้แท็กซี่บุคคลธรรมดา มาจดทะเบียนเป็นแท็กซี่วีไอพีได้ แต่รถที่มาจดทะเบียนต้องได้มาตรฐานตามที่ ขบ.กำหนดไว้ ส่วนกรณีข้อเสนอขอขยายอายุรถรับจ้างสาธารณะ จาก 9 ปี เป็น 12 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ที่ปัจจุบันรถมีราคาสูงขึ้น กรมการขนส่งทางบกไม่ขัดข้อง แต่จะกำหนดรถแท็กซี่ที่จะให้บริการต้องมีมาตรฐาน ตรวจสภาพทุก 3 เดือน ถ้าคุณภาพเป็นไปตามกำหนดก็ให้บริการได้ แต่ถ้าไม่ถึงต้องหยุดให้บริการทันที ไม่ว่าจะอายุรถยนต์กี่ปีก็ตาม เพื่อให้ความปลอดภัยกับประชาชน พร้อมทั้งขอให้ประชาชนช่วยกันตรวจคุณภาพรถแท็กซี่ พร้อมแจ้งรายละเอียดเข้ามาที่ ขบ.ด้วย

รมว.คมนาคมกล่าวด้วยว่า ขณะที่การเก็บค่าบรรทุกวัสดุหรืออุปกรณ์ที่มีขนาดใหญ่ ที่จะต้องมีค่า ธรรมเนียมบริการสำหรับแท็กซี่มิเตอร์ ที่ให้บริการในสนามบิน มีข้อเรียกร้องขอปรับในส่วนของรถขนาดปกติ จากเดิม 50 บาท เป็น 70 บาท รถขนาดใหญ่จากเดิม 70 บาท เป็น 90 บาท พร้อมขอค่าขนส่งสัมภาระ ขนาด 26 นิ้วขึ้นไป คิดโดย 2 ชิ้นแรกไม่เก็บค่าบริการ แต่ชิ้นที่ 3 คิดเพิ่มชิ้นละ 20 บาท เรื่องนี้ขนส่งทางบกจะต้องมีการประสานงานไปยังบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อประกาศและติดให้เป็นมาตรฐาน โดยส่วนตัวเชื่อว่ารถแต่ละประเภทจะขนสัมภาระได้ไม่เกิน 6 ชิ้น

นายศักดิ์สยามกล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันให้กรมการขนส่งทางบกไปปรับแก้ไขกฎหมายให้สามารถนำรถป้ายดำหรือรถส่วนบุคคล มาให้บริการสาธารณะได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ผูกขาดกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนและเสียภาษีในประเทศไทย รถส่วนบุคคลที่จะมาให้บริการและขึ้นทะเบียน จะต้องมาขึ้นทะเบียนกับบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องโดยบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้อง จะต้องมาขึ้นทะเบียนถูกต้องกับกรมการขนส่งทางบกและปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ เช่น การเสียภาษีรายได้ เป็นต้น คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จากการหารือครั้งนี้ แท็กซี่ยอมให้พัฒนาระบบแท็กซี่ด้วยดิจิทัล เพื่อให้บริการรถสาธารณะทั้งหมดอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ไม่ปฏิเสธการแก้กฎหมาย เพื่อให้รถแท็กซี่มีมาตรฐานเดียวกัน ขั้นตอนหลังจากนี้กรมการขนส่งทางบกต้องเร่งดำเนินการทำแอปพลิเคชันเพื่อนำแท็กซี่เข้าระบบ