ภาพแม่น้ำโขงเหือดแห้ง สัตว์น้ำตายเกลื่อนตามซอกหินในพื้นที่บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย บ่งชี้ให้เห็นภัยพิบัติทางนิเวศวิทยาครั้งร้ายแรง ยิ่งไปกว่านั้นหลายๆ พื้นที่กำลังเผชิญภัยแล้ง จากปริมาณน้ำลดลงในเขื่อนสำคัญๆ และอ่างเก็บขนาดใหญ่ จากสภาพอากาศปีนี้ร้อนยาวนาน ฝนทิ้งช่วง ตกน้อย คาดกันว่าภัยแล้งปีนี้จะหนักกว่าทุกปี และรุนแรงหนักสุดในรอบหลายสิบปี

เมื่อฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ไม่มีน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรม ซึ่งมีสิ่งหนึ่งเป็นที่พึ่งของคนไทย ด้วยการทำพิธีกรรมจากหลายๆ ความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น เพื่อขอฝน ที่ปฏิบัติกันมายาวนาน บางพื้นที่มีพิธีแห่ดอกไม้เจ้าพ่อ รูปอวัยวะเพศชาย เชื่อกันว่าเป็นเครื่องหมายแห่งการกำเนิด ความอุดมสมบูรณ์ แห่ไปรอบหมู่บ้าน เพื่อขอฝนให้ตก

หรือในตำราพิรุณศาสตร์ ทำพิธีปั้นเมฆ ด้วยการปั้นรูปชายหญิงเปลือยกายเห็นอวัยวะเพศชัดเจน ดูค่อนข้างอุจาดสัปดน จึงไม่ค่อยมีการทำพิธีนี้ และที่เห็นส่วนใหญ่ทำพิธีแห่นางแมว เพราะเชื่อว่าแมวเป็นสัตว์ที่เกลียดฝน หากฝนตกครั้งใดแมวจะร้อง โดยแห่ไปตามหมู่บ้าน และสาดน้ำใส่แมวให้แมวร้อง เพื่อให้เทวดาสงสาร และดลบันดาลให้เกิดฝน

...

“ทีมข่าวไทยรัฐเจาะประเด็น” พุดคุยกับ ”ดร.ศิลป์ชัย เชาว์เจริญรัตน์” นักวิชาการด้านศาสนวิทยา ถึงประเพณีขอฝนของคนไทย ไม่ใช่เฉพาะพิธีแห่นางแมวที่คนรู้จักเท่านั้น โดยพิธีแห่นางแมว เป็น 1 ใน 8 พิธี เช่น ปั้นหุ่นตายายร่วมเพศแห่ในที่แจ้ง หาตัวกาลกิณี และใช้ข้องเสี่ยงทายส่องหาตัวอัปมงคลทำให้ฝนไม่ตก ซึ่งเป็นประเพณีโบราณที่ทำสืบต่อมาจนถึงทุกวันนี้ และส่วนใหญ่ทำในภาคอีสาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีฝนน้อยกว่าภาคอื่นๆ เป็นการผสมผสานระหว่างพิธีพื้นบ้านโบราณ ผสมพุทธ-พราหมณ์บวกความเชื่อภูตผีและไสยศาสตร์ จึงมีการนำร่างทรงเข้ามาเกี่ยวข้องในการทำพิธี หรือบางประเพณีมีการประยุกต์ตามยุคสมัย

“อย่างการแห่นางแมวในปัจจุบัน ดูเหมือนตลก มีการนำหุ่นโดราเอมอนมาแห่แทน อาจด้วยเพราะกฎหมายห้ามทารุณกรรมสัตว์ จึงมีการประยุกต์ขึ้นมา หรือในบางพื้นที่แถวโคราช คนเชื่อกันมาก มีการแห่หุ่นตาหุ่นยายร่วมเพศ เป็นที่นิยมในอีสานตอนล่าง ขณะที่อีสานตอนบนจะแห่นางแมว และอีสานเหนือจะแห่ข้องปลา มีการแต่งข้องปลาให้หน้าตาเหมือนคน แล้วบริกรรมคาถาดูว่าวิญญาณผีจะเข้าคนที่ถือข้องปลาหรือไม่ คล้ายๆ การเข้าทรง หากมีวิญญาณเข้าก็จะให้คนคนนั้นทำหน้าที่ในปีต่อไป”

หากไล่เรียงพิธีขอฝน 8 พิธีที่เป็นที่นิยมที่สุดในยุคนี้ หลายคนอาจเคยเห็นและคุ้นเคย เริ่มจาก 1.พิธี "จุดบั้งไฟ" เพื่อขอฝนจาก "พญาแถน" เพราะคนอีสานเชื่อว่าเป็นเทพที่ทำให้เกิดฝนตก จึงจัดพิธีจุดบั้งไฟบูชาพญาแถน ซึ่งมีปรากฏให้เห็นในวรรณกรรมและตำนานพื้นบ้านของอีสาน อย่างไรก็ตาม ประเพณีบุญบั้งไฟนี้ปัจจุบันจัดขึ้นเพื่อแฝงวัตถุประสงค์บางอย่าง มีการพนันขันแข่งกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งต่างไปจากแต่ก่อน ทำให้ทุกวันนี้ในบางหมู่บ้าน บางชุมชน ได้ยกเลิกไป เพราะด้วยสถานที่ที่ไม่เหมาะสม แต่ในบางแห่งก็ไม่ได้ขอฝนโดยการจุดบั้งไฟ แต่ใช้การแห่นางแมวแทน 

2.พิธีสุดนิยม คนทั่วไปรู้จัก พิธี ”แห่นางแมว” พิธีกรรมขอฝนของเกษตรกรไทยทั้งภาคกลางและภาคอีสาน เมื่อใกล้ฤดูเพาะปลูกแล้ว แต่ฝนยังไม่มา หรือมาล่าช้า ชาวนา ชาวไร่ จะทำพิธีแห่นางแมวขอฝน โดยสมัยโบราณนั้นเชื่อกันว่าที่ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้งไปทั่วนั้นมีอยู่หลายสาเหตุ เช่น ดินฟ้าอากาศแปรปรวน ผู้คนย่อหย่อนศีลธรรม ผู้ปกครองไม่อยู่ในทศพิธราชธรรม และที่ใช้แมวแห่เพื่อขอฝนนั้นมาจากความเชื่อกันว่า แมวเป็นสัตว์ที่กลัวฝน กลัวน้ำ หากฝนตกเมื่อใดแมวจะร้อง คนโบราณถือเคล็ดว่าถ้าแมวร้องแสดงว่าฝนกำลังจะตก

“บ้างก็เชื่อว่า แมวเป็นตัวแทนของความแห้งแล้ง หากแมวถูกสาดน้ำจนเปียกปอน ก็เท่ากับเป็นการขับไล่ความแห้งแล้งออกไปจากเมือง เมื่อบ้านเมืองแห้งแล้งผิดธรรมชาติ จึงใช้อุบายทำให้แมวร้อง ด้วยการนำแมวมาใส่กระบุง หรือตะกร้า แล้วแห่ไปรอบๆ หากขบวนแห่ผ่านหน้าบ้านใครก็ให้สาดน้ำใส่แมว เพื่อให้แมวร้องออกมา แต่บ้างก็เชื่อว่า แมวเป็นสัตว์ที่มีอำนาจลึกลับสามารถเรียกฝนได้”

...

สำหรับการจัดพิธีแห่นางแมว ต้องใช้แมวลักษณะดี สายพันธุ์สีสวาด เพศเมีย 1-3 ตัว ใส่กระบุงหรือตะกร้าออกแห่ไปรอบๆ หมู่บ้าน ฝนจะตกลงมาภายใน 3 วัน 7 วัน ส่วนสาเหตุที่ต้องเลือกแมวสีสวาด เพราะคนโบราณมองว่าขนสีเทาคล้ายกับสีเมฆฝน บางแห่งอาจจะใช้แมวดำแทน และในระหว่างที่แห่นางแมวจะมีคนทำหน้าที่ร้องเพลงเซิ้ง ตีเกราะ เคาะไม้ เพื่อให้เกิดจังหวะสนุกสนานไปด้วย เนื้อหาการเซิ้งจะบรรยายถึงความแห้งแล้ง และอ้อนวอนให้ฝนตกลงมา เมื่อขบวนแห่นางแมวไปถึงบ้านใคร บ้านนั้นจะต้องเอาน้ำสาด

3.พิธีสวดมนต์ปลาช่อน หรือปลาค่อ ของทางอีสาน เมื่อฝนแล้งจะจัดให้มีพิธีสวดมนต์ปลาช่อนเพื่อเสี่ยงทายถามว่า ฝนจะตกต้องตามฤดูกาลหรือไม่ โดยชาวบ้านจะนิมนต์พระสวดเจริญพระพุทธมนต์ และท่องคาถา "มนต์ปลาช่อน" เพื่อขอฝน และทำการเสี่ยงทายปลาช่อนจำนวน 3 ตัว ที่ปล่อยลงหลุมขนาดเล็กที่ชาวบ้านขุดไว้ สูงประมาณ 30 ซม. โยงสายสิญจน์ให้พระ 9 รูปสวดมนต์คาถาปลาช่อน หากปลาช่อนกระโดดออกจากหลุม จะมีความโชคดี น้ำฝนจะตกต้องตามฤดูกาล มีฝนเพียงพอต่อการทำการเกษตรและการดำรงชีวิต 

...

4.พิธีแห่ "ขุนเพ็ด" ตามความเชื่อของบางแห่งจะมีพิธีแห่ดอกไม้เจ้าพ่อ รูปอวัยวะเพศชาย เรียกว่า ขุนเพ็ด ทำด้วยต้นกล้วยหรือต้นข่อยใหญ่ แห่ไปตามหมู่บ้านแล้วเอาไปเก็บไว้ที่ศาลเจ้าแม่ชายทุ่ง โดยเชื่อว่าฝนจะตกทันที เมื่อเจ้าพ่อกับเจ้าแม่ได้อยู่ด้วยกัน และในตำราพิรุณศาสตร์ ใช้วิธีปั้นเมฆ ปั้นรูปชายหญิงเปลือยกาย ใช้สัญลักษณ์ส่อไปทางเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้ไม้มาแกะสลักเป็นอวัยวะเพศชาย เรียกว่า "บักแบ้น" หรือ "ปลัดขิก" ในอีสาน หรือ "ขุนเพ็ด" ในภาคกลาง เข้าร่วมขบวนแห่ ทั้งยังมีการร้องเซิ้งด้วยเนื้อหาที่เกี่ยวกับอวัยวะเพศและเพศสัมพันธ์

“การแห่อวัยวะเพศชายและหญิง เป็นเครื่องหมายของความสัมพันธ์ระหว่างฟ้ากับดิน หญิงกับชาย ที่เป็นพลังก่อกำเนิดชีวิต และเป็นพลังแห่งความอุดมสมบูรณ์ จึงมีความสัมพันธ์กับการขอฝน ซึ่งเป็นที่มาของพลังแห่งการเติบโตของพืช และด้วยพิธีนี้ค่อนข้างอุจาด จึงไม่ให้ทำในพระนคร ต้องไปทำกันตามกลางทุ่งนา”

...

5.พิธีแห่ช้างแห่ม้า ที่เรียกว่า "ช้างปัจจัยนาเคนทร์" ช้างคู่บ้านคู่เมืองสีวีคู่บารมีของพระเวสสันดรที่นำความอุดมสมบูรณ์มาให้ ตามที่ปรากฏในวรรณกรรม จัดขึ้นเนื่องจากจุดบั้งไฟแล้วฝนก็ยังไม่ตก แห่นางแมวแล้วฝนก็ยังไม่ตก เป็นงานที่จัดขึ้นในระดับตำบลหรืออำเภอ มีการจำลองเหตุการณ์เป็นพระเวสสันดร นางมัทรี กัณหา ชาลี เฒ่าชูชก และนำไม้ไผ่ ผ้า กระดาษสีต่างๆ มาทำเป็นช้างตัวใหญ่มหึมาสวยงาม แห่จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง และขับร้องกลอนลำ มีการสาดน้ำ ฟ้อนรำสนุกสนาน

6.พิธีบวงสรวงและอัญเชิญพระอุปคุต แห่รอบหมู่บ้านของพุทธศาสนิกชนชาวอีสาน หวังให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยดลบันดลให้เกิดปาฏิหาริย์ให้ฝนตก เพื่อช่วยบรรเทาความแห้งแล้ง ที่ไม่สามารถประกอบอาชีพทั้งเกษตรกรรมและการประมงเหมือนเช่นทุกๆ ปี เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการทำบุญเดือนสี่ หรือบุญมหาชาติ ตามฮีต 12 คอง 14 ซึ่งเป็นช่วงที่สภาพดินฟ้าอากาศร้อนแล้ง ฝนได้ทิ้งช่วงนาน เชื่อว่าจะช่วยบันดาลให้ฝนตกลงมาบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งที่กำลังประสบ


7.ปั้นหุ่นร่วมเพศ ขอฝนยามแห้งแล้ง เป็นประเพณีโบราณที่ทำสืบทอดมานานกว่า 100 ปี ซึ่งการปั้นหุ่นจะนำเอาดินเหนียวจากทุ่งนามาปั้นเป็นหุ่นผู้ชาย โดยตั้งชื่อว่านายเมฆ ส่วนหุ่นผู้หญิงตั้งชื่อว่านางฝน และหุ่นผู้ชายที่นั่งดูตั้งชื่อว่า นายหมอก เพื่อเป็นการทำภาพประจานต่อสายตาผู้คนที่ผ่านไปมา จนทำให้เกิดอาเพศ และเทวดาทนดูไม่ได้ จึงดลบันดาลให้ฝนตกลงมาชะล้างหุ่นดินเหนียวดังกล่าว

8.พิธีเซียงข้อง หรือ เสี่ยงข้อง ของชาวอีสาน ด้วยการเขียนเป็นหน้าตา ปาก จมูก แล้วใส่เสื้อผ้าให้เหมือนคนที่สุด เพื่อหาตัวต้นเหตุหรือคนที่ทำผิด มักทำเมื่อมีของหายแล้วหาไม่เจอ หากของโดนขโมย เซียงข้องจะไปตามจนเจอ และพิธีนี้ยังทำขึ้นเพื่อขับไล่ผีที่มารบกวนชาวบ้านอีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังใช้เพื่อการขับไล่ผีที่ทำให้ฝนฟ้าไม่ตกตามฤดูกาล ซึ่งผีตนนี้ชื่อว่า "บักฟ้าห่วน" 

จากพิธีขอฝนทั้ง 8 พิธี ทาง ดร.ศิลป์ชัย มองว่า เหมือนพิธีทั่วๆ ไปของชาวบ้านที่ไม่รู้จะแก้อย่างไร จึงปลอบใจตัวเอง และเหมือนเป็นการส่งสัญญาณให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาช่วยเหลือ โดยเฉพาะปีนี้ภัยแล้งเลวร้ายมากๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งฝนอาจจะตกลงมา หรืออาจตกมาช้า ซึ่งพิธีส่วนใหญ่ที่ชาวบ้านทำมักจะเกิดฝนตามมา แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเสมอไป เมื่อชาวบ้านไม่มีหนทางในการแก้ไข จึงร่วมมือร่วมใจในการทำพิธี โดยที่ผ่านมาภาครัฐไม่เคยพยายามชี้แจงให้ชาวบ้านลดความเชื่อเหล่านี้ ยกตัวอย่างเรื่องผีปอบ ได้ส่งผลร้ายต่อบุคคลอย่างมาก

“ที่ผ่านมาไม่เคยมีคนตั้งคำถามถึงความเชื่อเหล่านี้ แต่กลับมีการยอมรับแบบฝังรกราก เป็นความเชื่อทางวัฒนธรรม จนถูกยอมรับโดยชอบธรรมในที่สุด เพราะสังคมไทยไม่มีใครห้ามใคร และพิธีขอฝนเป็นเรื่องของชุมชนกับธรรมชาติ ทำแล้วได้ผลหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่หากหาตัวกาลกิณีมาได้ ตรงนี้จะส่งผลและสร้างความเสียหายมาก จนคนคนนั้นอยู่ในหมู่บ้านไม่ได้ เพราะถูกเชื่อไปแล้วว่าเป็นตัวต้นเหตุทำให้ไม่เกิดฝน มีการใช้ทั้งพุทธ พราหมณ์ โดยใช้ผีนำ และมีพระเข้ามาร่วมประกอบพิธี เพราะต้องตามชาวบ้านเพื่อการอยู่ร่วมกัน โดยไม่มีการตั้งคำถามกับประเพณี ทำให้อยู่คู่สังคมไทยมานาน”.