"ลองหลับตาลง" แล้ววาดฝันถึงสถาปัตยกรรมที่สวยสดงดงาม ประหนึ่งวังเจ้าหญิงเจ้าชายในเทพนิยายที่คุณจินตนาการ เชื่อได้ว่าหลายคนต้องพากันจดจ้องไปยังสถาปัตยกรรมในรูปแบบเดียวกัน ทว่าย้อนกลับไปเมื่อ 100 กว่าปีก่อน ความหรูหราอลังการของ "วังวินด์เซอร์" ที่เคยตั้งตระหง่านกลางทุ่งปทุมวัน ทำเอาแขกบ้านแขกเมือง ฝรั่งมังค่า หรือแม้กระทั่งชาวไทยที่พบเห็น ถึงกับต้องตะลึงในความงดงามตระการตามานักต่อนัก 

น่าเสียดาย ที่ทุกความทรงจำกลายเป็นอดีต เพราะ "วังวินด์เซอร์" ซึ่งมีประวัติความเป็นมาอันน่าจดจำระลึกถึง ได้ถูกทุบแล้วรื้อทิ้งเหลือเพียงเศษซากบางส่วนที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพอจะเก็บไว้ได้ ส่วนพื้นที่บริเวณวังวินเซอร์ ถูกสร้างเป็น "สนามศุภชลาศัย" ใจกลางเมือง ใกล้เคียงกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และห้างสรรพสินค้าชั้นนำที่ตั้งอยู่ในยุคปัจจุบัน ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์ เรียบเรียงเรื่องราวความเป็นมาของวังในตำนาน ซึ่งถูกสร้างขึ้นเมื่อรัชสมัยรัชกาลที่5 "ให้คนรุ่นใหม่" ที่ไม่มีแม้แต่โอกาสจะได้หวนกลับไปเห็นความงดงามของวังวินด์เซอร์ ด้วย 2 ตาของตัวเอง

ภาพจากโบราณนานมา
ภาพจากโบราณนานมา

...

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร องค์แรกแห่งสยามประเทศ

เมื่อสมัยก่อน ชาวสยามมักจะเรียกวังวินด์เซอร์ว่า "วังประทุมวัน วังกลางทุ่ง หรือ วังใหม่" ซึ่งวังแห่งนี้ สร้างขึ้นโดยพระประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5)  พระราชทานเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร องค์แรกแห่งสยามประเทศ  ตั้งอยู่บริเวณทุ่งประทุมวัน กรุงเทพมหานคร ถือเป็นการขยายขอบเขตวังออกนอกเขตพระนคร จึงเป็นเหตุให้เรียกชื่อ วังกลางทุ่ง ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2424 ได้การออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษ ทว่าตัววังสร้างได้อย่างเทียบเคียงเสมือนกับพระราชวังวินด์เซอร์ ที่ประเทศอังกฤษ จึงเป็นเหตุให้เรียกว่า "วังวินด์เซอร์"

นายร้อยโท สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร หรือ สมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระองค์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรกของประเทศไทย แต่หลังจากดำรงตำแหน่ง 

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ประชวรด้วยพระโรคไข้รากสาดน้อย เสด็จสวรรคตเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 9 ค่ำ ปีมะเมีย ฉศก จ.ศ. 1256 ตรงกับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2437 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2438) ขณะมีพระชนมายุ 16 พรรษา 191 วัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ประดิษฐานพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และให้ราชการไว้ทุกข์ 1 เดือน 

"วังวินด์เซอร์" สวยงามใครเห็นต้องตะลึงพรึงเพริด

อย่างที่เกริ่นไปแล้วข้างต้นว่า "วังวินด์เซอร์" ถูกถอดแบบมาจากพระราชวังวินด์เซอร์ ที่ประเทศอังกฤษ อีกทั้งยังตั้งตระหง่าใหญ่โตเป็นที่สะดุดตา และได้ชื่อว่า "สวยสดงดงามที่สุดในเวลานั้น โดยพระตำหนักหอวัง ได้รับการออกแบบเป็นอาคาร 3 ชั้น มีบันไดขึ้นลงตรงกลางอันเป็นรูปแบบของสถาปัตยกรรมกอธิก ใช้วัสดุก่อสร้างเป็นหินอ่อนนำเข้าจากต่างประเทศทั้งสิ้น หัวเสาได้รับการสลักศิลปะแบบโรมัน หากแต่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มิได้เสด็จมาประทับ ณ พระราชวังแห่งนี้ด้วยเสด็จทิวงคตในปี พ.ศ. 2437 วังดังกล่าวจึงตกเป็นสมบัติของแผ่นดินในเวลาต่อมา 

จากนั้นจึงได้ใช้เป็นอาคารเรียนของมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ อาคารชั้น2 มีห้องเรียนสำหรับเรียนวิชาครู นอกจากนี้ยังใช้เป็นอาคารเรียนของโรงเรียนหอวังด้วย อาจารย์ที่เคยเข้าไปใช้วังวินด์เซอร์เพื่อการเรียนการสอน คืออาจารย์ เอส เอช โอนีล และหลวงปราโมทย์ จรรยาวิภาค นอกจากนั้นยังมีอาจารย์อีกหลายท่าน อาทิ หลวงวิจิตรวาทการ ม.จ.ทองฑีฆายุ ทองใหญ่ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ส่วนด้านหลังของพระตำหนักวินเซอร์มีสนามเทนนิสอีก 3-4 สนามสำหรับนิสิต ด้านหน้าพระตำหนักเป็นสนามฟุตบอล ซึ่งกีฬาทั้งสองชนิดเป็นที่นิยมของนิสิตในสมัยนั้น

ทุบวังทิ้งบีบหัวใจผู้เป็นแม่

ข้อมูลจาก คลังประวัติศาสตร์ไทย ยังระบุไว้ว่า ...หากมองเยื้องมาอีกฝั่งของวังวินด์เซอร์ ณ จุดนั้นเป็นที่ตั้งของ "วังสระปทุม" วังที่ประทับของ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ผู้เป็นพระชนนี ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารองค์แรกแห่งสยามประเทศ (แม่) ด้วยความอาลัยที่ต้องสูญเสียพระโอรสไป "วังวินด์เซอร์" ก็เปรียบเสมือนเป็นอนุสรณ์ลูกชาย เมื่อมองไปไกลๆ ได้เห็นยอดหลังคาวังก็ทำให้หายคิดถึงได้บ้าง แต่เมื่อรัฐยืนยันจะทำเช่นนั้น พระองค์ก็ทรงทำได้เพียงประทับอยู่ที่เฉลียงวังสระปทุม ฟังเสียงคนทุบวังลูกอยู่ทุกวัน ด้วยหัวอกคนเป็นแม่ พระองค์ถึงกับทรงตรัสกับนางข้าหลวงผู้ใกล้ชิดว่า “ได้ยินเสียงเขาทุบวังลูกฉันทีไร มันเหมือนกับกำลังทุบใจฉันอย่างนั้น” น้ำเสียงของพระองค์สั่นน้ำพระเนตรคลอด้วยความอัดอั้นตันใจ เล่ากันว่าถ้าไม่จำเป็นพระองค์จะไม่เสด็จผ่านไปทางที่ดินผืนนั้นเลย 

...

ภาพจากโบราณนานมา
ภาพจากโบราณนานมา

พระตำหนักวินเซอร์ ในความทรงจำของคนที่ผูกพัน 

ศ.ม.ล.จิรายุ นพวงศ์ ปูชนียบุคคลทางด้านภาษาและวรรณคดีไทย จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ที่คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า เคยได้เรียนที่ตึกอักษรเก่า และตึกคณะวิทยาศาสตร์ (ตึกขาว) ห้อง 200 พอขึ้นปีที่ 3 จึงย้ายไปเรียนที่พระตำหนักวินด์เซอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่เป็นสนามศุภชลาศัย หรือสนามกีฬาแห่งชาติในปัจจุบัน วิชาเรียนชั้นปีที่ 3 เป็นวิชาครูเมื่อจบปีที่ 3 แล้วจะต้องออกฝึกสอน (ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ) 1ปี

โรงเรียนที่ทางมหาวิทยาลัยใช้เป็นโรงเรียนฝึกสอนคือ "โรงเรียนหอวัง" ซึ่งก็อยู่ในบริเวณพระตำหนักวินด์เซอร์ นั่นเอง นอกจากโรงเรียนหอวัง แล้วยังมีโรงเรียนอื่นๆ ภายนอกด้วย ท่านเป็นนักเรียนทุนได้เงินเดือน เดือนละ 15 บาท ได้อยู่หอพักฟรี ซึ่งหอพักมี 5 หลัง ตั้งอยู่หลังพระตำหนักวินด์เซอร์ เรียกว่า ก ข ค ง หอพักอาคาร ก และ ง เป็นอาคารเตี้ย อาคารหอพัก ข และ ค เป็นอาคารใต้ถุนสูง ชั้นล่างให้เป็นที่รับประทานอาหารและทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย

...

"ท่านอาจารย์" เล่าว่า รู้สึกประทับใจหอวังมาก มีอาคารหอพัก นิสิตอยู่สบายดี ห้องใหญ่ มีเตียงนอน ตู้เสื้อผ้า ชั้นหนังสือพร้อม แต่เวลานอนต้องกางมุ้งเพราะยุงชุมมาก ปกติจะอ่านหนังสือนอกห้องพัก แต่พอใกล้สอบนิสิตหลายคนก็จะเอาโต๊ะทำงานเข้าไปตั้งในมุ้ง ท่องหนังสือ และทำงานในมุ้ง พอง่วงมากๆ ก็จะมุดลงไปนอนใต้โต๊ะนั้น ตอนนั้น พระยาภะรตราชา เป็นผู้ดูแลหอพัก ซึ่งก็มีตำแหน่งเป็นอนุสาสกเช่นกัน พระยาภะรตราชา ท่านเป็นคนเข้มงวดมาก คอยกวดขันความประพฤติของนิสิต เช่นคอยเตือนไม่ให้นิสิตนั่งไขว่ห้างฟังคำบรรยาย เป็นต้น 

พระตำหนักหอวังเมื่อครั้งใช้เป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนเกษตราธิการ
พระตำหนักหอวังเมื่อครั้งใช้เป็นสถานที่ตั้งของโรงเรียนเกษตราธิการ

ในปี พ.ศ.2478 นับเป็นอักษรศาสตรบัณฑิตรุ่นที่ 1 บริเวณหน้าหอประชุมใหญ่ในตอนนั้นเป็นป่าจามจุรี ร่มครึ้ม ส่วนบริเวณพระตำหนักวังวินเซอร์ เต็มไปด้วยป่าไม้ประดู่ลำต้นสูงใหญ่ ถ้าเดินผ่านตอนกลางคืนก็น่ากลัวอยู่เหมือนกัน ต่อมาอาคารพระตำหนักวินด์เซอร์ก็ถูกรื้อไป เมื่อทางราชการจะเอาสถานที่นี้ไปสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ ทำให้บรรดาผู้ที่เคยร่ำเรียนที่พระตำหนักวินด์เซอร์โกรธมากโดยเฉพาะผู้ที่เป็นต้นคิดถูกโกรธเป็นอันดับหนึ่ง..."

...

(ข้อมูลส่วนหนึ่งจากบทความของ ร.ศ.รุจิระ สุภรณ์ไพบูลย์. "รำลึกประวัติศาสตร์จุฬาฯ กับ “พระตำหนักวินด์เซอร์” "หนังสือจามจุรี สื่อเชื่อมสายใย น้ำใจน้องพี่ กรกฎาคม-ตุลาคม ๒๕๔๐)

พระราชวงศ์ถูกยึดอำนาจจากคณะราษฎร วังวินด์เซอร์ถูกทุบทิ้ง 

ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 หลังจากพระราชวงศ์ถูกยึดอำนาจจากคณะราษฎร เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระราชวงศ์อยู่ในช่วงถูกลดพระราชอำนาจลงอย่างมาก "หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษา" ในรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีแนวคิดที่จะหาพื้นที่ก่อสร้างกรีฑาสถานแห่งชาติขึ้น และได้พิจารณาว่าที่ดินบริเวณวังประทุมวันเหมาะแก่การสร้างที่สุด ขณะนั้นบริเวณโดยรอบๆ วังเป็นทุ่งนาว่างเปล่า และพื้นที่วังวินด์เซอร์ เพียงแค่เสี้ยวเดียว ได้ไปทับแปลนของสนามกีฬาที่หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษา อยากจะสร้างขึ้นมา 

จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ระบุไว้ชัดเจนว่า หลวงศุภชลาศัย ได้นับคนมานับร้อยชีวิต เพื่อรื้อถอนพระตำหนักรวมถึงสิ่งปลูกสร้างโดยรอบออกจากที่ดินแห่งนี้จนหมดสิ้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสนามศุภชลาศัย ตามชื่อของ "หลวงศุภชลาศัย"

ภาพจากหอประวัติ
ภาพจากหอประวัติ

ประวัติ หลวงศุภชลาศัย หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร ผู้สั่งทุบวัง 

หลวงศุภชลาศัย เป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงมีอำนาจสั่งทุบวังวินด์เซอร์ ? "นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย" ร.น. มีชื่อจริงว่า "บุง ศุภชลาศัย" รองผู้บัญชาการทหารเรือ อธิบดีกรมพลศึกษาคนแรก และเป็นผู้ดำเนินการจัดสร้าง กรีฑาสถานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2481  "บุง ศุภชลาศัย" เริ่มต้นชีวิตราชการทหารเรือ เมื่อประมาณ พ.ศ. 2461 ประจำการบนเรือรบหลวง "สุครีพครองเมือง" ตำแหน่งสุดท้ายก่อนออกจากกองทัพเรือ คือรองผู้บัญชาการทหารเรือ ต่อมาในรัฐบาล พระยาพหลพลพยุหเสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้สถาปนากรมใหม่ขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 เพื่อจัดการงานด้านพลศึกษาของชาติ

หลวงศุภชลาศัย เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช เป็นระบอบประชาธิปไตย โดยถือเป็นนายทหารเรือที่มีอาวุโสสูงสุดของคณะราษฎร ด้วยอายุ 37 ปี ซึ่งในขณะนั้น หลวงศุภชลาศัย มียศเป็น นาวาตรี (น.ต.) ในยุคสมัยของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อีกทั้งยัง เคยได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดพระนคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ในการเลือกตั้งในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 อีกด้วย 

หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษา
หลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษา
เศษซากที่หลงเหลือ ถูกวางเก็บไว้ที่ คณะวิทยศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เศษซากที่หลงเหลือ ถูกวางเก็บไว้ที่ คณะวิทยศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สร้างสนามกีฬาแห่งชาติ ดำเนินการของบประมาณแผ่นดิน 

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2478 กรมพลศึกษา ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน เนื้อที่ 114 ไร่ 1 งาน 25.12 ตารางวา ตรงบริเวณที่เดิมเป็นวังวินด์เซอร์ ซึ่งเป็นวังที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ สร้างพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อจัดสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ และได้ดำเนินการของบประมาณแผ่นดิน เพื่อใช้การจัดสร้างสนามกีฬา ใช้ชื่อว่า สนามกรีฑาสถาน (National Stadium) และโรงเรียนพลศึกษากลาง เริ่มงานตั้งแต่ วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2480 จวบจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2484

ในขณะที่สนามกรีฑาสถานยังสร้างไม่เสร็จ กระทรวงศึกษาธิการได้จัดการแข่งขันกีฬาประชาชน ประจำปี พ.ศ. 2481 โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขัน ณ สนามกรีฑาสถาน เป็นครั้งแรก เมื่อ

กระทั่งเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 กรมพลศึกษา ได้เปลี่ยนชื่อสนามกรีฑาสถาน เป็น "สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ" เพื่อเป็นเกียรติแก่ หลวงศุภชลาศัย ปัจจุบัน นิยมเรียกสั้นๆ เพียงว่า สนามศุภชลาศัย หรือ สนามกีฬาแห่งชาติ

ช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2485-2487 นาวาเอก หลวงศุภชลาศัย ร.น. ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หลวงศุภชลาศัย ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2508 ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 กรมพลศึกษา ได้ยกย่องและเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็น บุคคลพลศึกษาของชาติ สาขาการบริหารการพลศึกษา

ภาพจากหอประวัติ
ภาพจากหอประวัติ