กรณี โครงการท่อร้อยสาย หรือ การย้ายสายสื่อสารลงใต้ดินของ กทม. โดยมี บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที ทำสัญญากับผู้ประกอบการโทรคมนาคม มีระยะเวลาในการสัมปทาน 30 ปี กำลังเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคม เนื่องจากมีการออกมาให้ข้อมูลว่า มีการผูกขาดในโครงการนี้

ตามข้อเท็จจริง ศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัด กทม. ได้อธิบายว่า โครงการท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดินในเขต กทม.เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและทัศนียภาพที่สวยงามของ กทม.ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ ตามมติของ คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอี) ครั้งที่ 4/2561 เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2561 และมติที่ประชุม คณะกรรมการดีอี ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2561 โดยทั้งหมดนี้ ครม. ได้รับทราบแนวทางการดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2561 ต่อจากนั้น กทม. จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงมอบหมายภารกิจดังกล่าวให้กับ บริษัทกรุงเทพธนาคม เป็นผู้ดำเนินการในโครงการนี้

จากนั้น บริษัทกรุงเทพธนาคม ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงเช่นการประกาศผ่าน หนังสือพิมพ์ และ เว็บไซต์ของบริษัทกรุงเทพธนาคม รวมไปถึงเปิดให้ลงชื่อแสดงเจตจำนงยื่นข้อเสนอให้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งมีผู้แสดงเจตจำนงจำนวน 9 ราย

ต่อมาได้ส่งหนังสือเชิญชวน ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองจำนวน 16 ราย รวมเป็น 25 ราย และมีผู้มารับเอกสารเชิญชวนจำนวน 16 ราย ในส่วนของการคัดเลือกได้มีการคัดกรองคุณภาพเบื้องต้น เปิดให้มีการยื่นข้อเสนอและคัดเลือกพิจารณาคุณสมบัติทางเทคนิคและความมั่นคงทางการเงินของบริษัทเพื่อไม่ให้เกิดการทิ้งงาน และต้องใช้เทคนิคการขุดเจาะลากท่อ หรือ HDD ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ทางเท้าน้อยที่สุด

ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลและ กสทช. ได้เชิญ กทม. และบริษัทกรุงเทพธนาคมเข้าร่วมหารือเรื่องอัตราค่าบริการซึ่งปัจจุบัน บริษัทกรุงเทพธนาคม ยังไม่ได้กำหนดหรือสรุปราคาค่าเช่าท่อกับ กสทช. อยู่ระหว่างการกำหนดราคาและต้องเป็นไปตามแนวทางที่ กสทช. กำหนดไว้

...

ขณะที่ บริษัททรูคอร์ปอเรชั่น ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวว่า บริษัททรูอินเตอร์เน็ต เป็น 1 ใน 6 บริษัทเอกชนที่ได้รับจดหมายเชิญชวนจาก บริษัทกรุงเทพธนาคม เพื่อให้ยื่นข้อเสนอคัดเลือกเป็นผู้ใช้บริการโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมซึ่ง ทรู เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ได้มายื่นเอกสารข้อเสนอดังกล่าวและผ่านการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ และขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจารายละเอียดและเงื่อนไขต่างๆ โดยไม่มีการสรุปและไม่มีการลงนามในสัญญาสัมปทานแต่อย่างใด นอกจากนี้ การประมูลดังกล่าว ไม่ได้เป็นแบบพิเศษ เพียงแต่มีเอกชนมายื่นประกวดราคาเพียงรายเดียวเท่านั้น

ดังนั้น เพื่อให้ระบบการวางท่อร้อยสายใน กทม.มีประสิทธิภาพและสำเร็จทันตามเป้าหมาย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จึงได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าร่วมประมูลงานในการพัฒนา กทม.ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ต่อไป.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th