“รายงานวันจันทร์”-“ค่าน้ำเสีย” ให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดการบำบัด

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภากทม.มีมติเห็นชอบร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ให้มีความชัดเจน เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งนี้ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียถือว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะ กทม.มีข้อบัญญัติเรื่องดังกล่าวมาเป็นเวลา 15 ปีแล้ว แต่ไม่สามารถจัดเก็บได้ เพราะแนวทางการจัดเก็บไม่ชัดเจน

“รายงานวันจันทร์” วันนี้ จะไปพูดคุยกับรองผู้ว่าฯ กทม. จักกพันธุ์ ผิวงาม ถึงการดำเนินการหลังจากนี้ว่ามีแนวทางอย่างไร

----------------

ถาม-กทม.จะจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านช่องทางหรือรูปแบบใด

จักกพันธุ์-ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงก่อนว่าการเก็บเงินไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักของการร่างข้อบัญญัติ แต่วัตถุประสงค์หลักคือต้องการให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม เพราะการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมควรเป็นเรื่องที่ประชาชนร่วมมือกับภาครัฐ ปัจจุบัน กทม.มีโรงบำบัดน้ำเสีย8แห่ง รวมมูลค่า 26,578 ล้านบาท รองรับน้ำเสียได้ 1,112,000 ลบ.ม./วันอย่างไรก็ตาม สามารถรับน้ำเสียในพื้นที่กรุงเทพฯได้เพียง 45% กทม.ต้องสร้างโรงบำบัดอีก 19 แห่ง จึงจะครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งต้องใช้งบประมาณกว่า 108,000 ล้านบาท การให้ประชาชนมีส่วนร่วมถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น เริ่มตั้งแต่การใช้น้ำอย่างมีคุณค่า ดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีน้ำเสียลงในที่สาธารณะมากเกินไป

...

สำหรับรูปแบบการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียนั้น ภายหลัง สภา กทม.ได้ให้ความเห็นชอบกับร่างข้อบัญญัติฯ กทม. โดยสำนักการระบายน้ำ (สนน.) ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณากำหนดแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมภายในระยะเวลา 240 วัน หลังจากที่ข้อบัญญัตินี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เบื้องต้นมี 3 แนวคิดคือ 1.กทม.จัดเก็บเอง 2.จ้างเอกชนจัดเก็บ และ 3.ให้รัฐวิสาหกิจจัดเก็บ

ถาม-จะชี้แจงให้ประชาชนรับทราบถึงการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอย่างไร

จักกพันธุ์-การประชาสัมพันธ์จะดำเนินการ 2 ช่วง ช่วงแรกเพื่อให้ทราบถึงข้อบัญญัติ ช่วงที่2 หลังจากได้ข้อสรุปเรื่องวิธีการจัดเก็บ ทั้งนี้ การจัดเก็บแบ่งเป็น 3 ประเภทคือ 1.ที่อยู่อาศัย อัตราค่าธรรมเนียม 2 บาท/ลบ.ม.2.หน่วยงานของรัฐหรืออาคารที่ทำการของเอกชนหรือองค์กรระหว่างประเทศ มูลนิธิ สถานพยาบาล โรงเรียน สถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./เดือน อัตราค่าธรรมเนียม 4 บาท/ลบ.ม. และ3.โรงแรม โรงงานสถานประกอบการที่มีการใช้น้ำเฉลี่ยเกินกว่า 2,000 ลบ.ม./เดือน อัตราค่าธรรมเนียม 8 บาท/ลบ.ม. ทั้งนี้ กรณีที่มีระบบบำบัดน้ำเสียเอง กทม.จะไม่จัดเก็บ แต่ระบบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของ กทม.

ถาม-กทม.จะมีมาตรการอย่างไร กรณีที่ไม่จ่ายค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสีย

จักกพันธุ์-ตามข้อบัญญัติดังกล่าวในข้อ 5 กำหนดว่า กรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดน้ำเสียไม่ชำระค่าธรรมเนียมให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือแจ้งไปชำระค่าธรรมเนียม ณ ที่ที่ระบุไว้ในหนังสือภายใน 30 วัน หากพ้นระยะเวลาที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ระงับการให้บริการบำบัดน้ำเสียชั่วคราวจนกว่าจะชำระค่าธรรมเนียม เบื้องต้น กทม.ได้วางแนวทางไว้คือจะตัดท่อน้ำเสียหรือปิดกั้นท่อน้ำเสียที่เชื่อมกับระบบรับน้ำเสียของ กทม. ซึ่งกรณีนี้หากน้ำเสียไหลลงสู่ที่สาธารณะ ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของ กทม.และ พ.ร.บ.สาธารณสุข ซึ่งโทษปรับสูงกว่าค่าธรรมเนียมมาก.