ไม่ห้ามแต่ต้องขออนุญาต เล็งเอาผิดอาญากรรมการ

กกท.จ่อแก้ไข พ.ร.บ.มวย พ.ศ.2542 หลัง “เพชรมงคล ส.วิไลทอง” ยอดนักชกรุ่นจิ๋วเสียชีวิตบนสังเวียนผ้าใบ เกิดกระแสวิจารณ์กรรมการไม่ทันเกม เชิญผู้จัดงานและกรรมการมาให้ข้อมูลเพื่อนำเสนอบอร์ดมวยในวันที่ 19 พ.ย.นี้ พร้อมยกระดับกรรมการตัดสินมวยให้เทียบชั้นการตัดสินฟุตบอลอาชีพ

ยังคงเป็นกระแสสังคมอย่างต่อเนื่อง ภายหลัง “เพชรมงคล ส.วิไลทอง” หรือ ด.ช.อนุชา หรือน้องเล็ก ทาสะโก อายุ 13 ปี นักมวยรุ่นจิ๋วยอดนักสู้ เสียชีวิตบนสังเวียนผ้าใบ ขณะขึ้นชกกับคู่ต่อสู้ถูกน็อกคาเวทีชั่วคราว ร.ร.วัดคลองมอญ ต.บ้านคลองสวน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ สลบคาเวที นำส่งรักษาตัวที่ รพ.สมุทรปราการ ต่อมาเสียชีวิต ส่งผลถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์กรรมการไม่ทันเกม และให้แก้ไข พ.ร.บ.มวย พ.ศ.2542 กำหนดมวยเด็กต้องมีเครื่องป้องกัน ขณะที่ญาติร่วมอาลัยทำพิธีฌาปนกิจศพน้องเล็กที่วัดใหม่บางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ บรรยากาศเป็นไปอย่างโศกเศร้า

ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) นายประเสริฐ ตันมี ผอ.สำนักงานคณะกรรมการกีฬามวย กกท. เชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลถึงเหตุการณ์ดังกล่าว นายประเสริฐ เปิดเผยว่า การเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลก่อนนำเสนอคณะกรรมการกีฬามวย มีนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน จะประชุมบอร์ดมวยในวันที่ 19 พ.ย.นี้ และจะหารือถึงข้อสรุปต่างๆในการปรับปรุง พ.ร.บ.มวย พ.ศ.2542 ด้วย สำหรับการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.มวย ถือว่าไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่ได้ห้ามในประเด็นว่าห้ามเยาวชนอายุต่ำกว่า 12 ปีขึ้นชก แต่ระบุไว้ว่านักมวยอายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องได้รับอนุญาตก่อนขึ้นชกเท่านั้น

...

นายประเสริฐเปิดเผยอีกว่า สำหรับการเสียชีวิตของน้องเล็กนั้น คงต้องพิจารณากันอย่างถี่ถ้วนในบอร์ดมวยว่าเกิดจากอะไร เพราะมีหลายปัจจัย ส่วนตัวมองว่าถ้าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีความเข้มงวดกับกติกา มารยาท เหตุการณ์แบบนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้น กรรมการชี้ขาดเมื่อมองเห็นว่านักมวยมีสภาพไม่พร้อมควรให้หยุดทันที ไม่ควรปล่อยให้ต่อยต่อ ขณะที่เจ้าหน้าที่ของ กกท.ในแต่ละจังหวัด มีเพียง 2 คนที่ดูแลเรื่องนี้คือ นายทะเบียนและผู้ช่วยนายทะเบียน บางวันต่อยมวยกันหลายรายการ ทำให้ไม่สามารถไปสอดส่องดูแลได้ครบถ้วน ทำให้ต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.มวย จากเดิมที่ให้ผู้ว่าการ กกท. แต่งตั้งนายทะเบียน เป็นให้ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้แต่งตั้ง เนื่องจากถ้ารัฐมนตรี แต่งตั้งจะสามารถแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ข้ามกระทรวงกันได้ เช่น จะให้เจ้าหน้าที่ในกระทรวงกลาโหมหรือกระทรวงมหาดไทยไปควบคุมดูแลการแข่งขันมวยไทยในพื้นที่ต่างๆ สามารถทำได้ ไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่ กกท.ทำเพียงองค์กรเดียว

“ปัจจุบันกรรมการตัดสินมวยไทยทั่วประเทศมีอยู่ 2,000 คนที่ขึ้นทะเบียนกับ กกท. จะเรียกทุกคนเข้ามาอบรมสัมมนาการตัดสิน และกฎระเบียบต่างๆกันใหม่ เพื่อเพิ่มความเข้มงวดและความรู้ให้กับกรรมการรวมทั้งยังจะแบ่งระดับกรรมการในอนาคต เพื่อให้กรรมการพัฒนาตัวเองเพื่อไปสู่ระดับที่สูงขึ้น มีความเหมาะสมกับระดับของรายการมวยที่แข่งขัน นอกจากนั้น ยังเพิ่มความเข้มงวดในการ จดทะเบียน รับรองกรรมการ จากเดิมที่จดทะเบียนแล้ว รับใบอนุญาตไปตัดสิน หลังจากนี้จะเป็นการจดทะเบียนที่มีผลทางอาญา ถ้ามีความผิดในการทำหน้าที่ อาจจะต้องรับโทษทางคดีอาญาได้ พร้อมจะให้จัดตั้งสมาคมหรือองค์กรของผู้ตัดสินมวยโดยเฉพาะ เหมือนที่ฟุตบอลมีสมาคมผู้ตัดสินฟุตบอลอาชีพ” นายประเสริฐกล่าว