สมัครใช้งานแอป โดนแก๊งคอลฯ ดูดข้อมูลถอนเกลี้ยง
นางแบบสาวฟ้องแพ่งแบงก์ใบโพธิ์ กล่าวหาผิดสัญญาเรียกคืนทรัพย์กว่า 1.6 ล้านบาท โจทก์ฟ้องว่า ผู้เสียหายเป็นลูกค้าของธนาคารหลายบัญชี ต่อมาโจทก์ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวไปสมัครอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนของคนร้าย แล้วเบิกเงินออกไปหลายครั้งกว่า 1.6 ล้านบาทภายใน 8 วัน โดยที่ธนาคารไม่แจ้งเตือน ไม่ตรวจสอบการโอนเงินผิดปกติ จึงฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายกับจำเลยทั้ง 2 พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
นางแบบสาวฟ้องแพ่งธนาคารเรียกเงินที่ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โอนไปคืนรายนี้ เปิดเผยขึ้นที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 15 พ.ย. น.ส.ธนิตา จิรพณิช อายุ 37 ปี อาชีพนางแบบโฆษณา (ปลากระป๋องซีเลคทูน่า) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัทไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ เป็นจำเลยที่ 1-2 ฐานผิดสัญญาและเรียกคืนทรัพย์ คำฟ้องบรรยายว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2549 โจทก์เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์กับจำเลยที่ 1 สาขาเอกมัย พร้อมเปิดบัตรเอสซีบีอีซี่การ์ด ต่อมาวันที่ 26 มิ.ย.2550 โจทก์เปิดใช้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนเปิดเอสซีบีเอฟพี กับจำเลยที่ 2 ที่สาขาเหม่งจ๋าย จากนั้นวันที่ 14 ก.ย.2557 เปิดใช้บริการซื้อขายหน่วยลงทุนดับบลิวไอเอ็นอาร์ และกองทุนตราสารหนี้กับจำเลยที่ 2 ที่สาขาเซ็นทรัลพระรามเก้า พอวันที่ 29 มิ.ย.2559 เปิดบัญชีออมทรัพย์กับจำเลยที่ 1 ที่สาขาบิ๊กซี-รัชดา ดังนั้นจำเลยจึงเป็นผู้ประกอบวิชาชีพรับฝากมีบำเหน็จรับทำธุรกรรมทางการเงินทางระบบอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง หรืออีซีแอป หรืออีซี่เน็ต จะต้องตรวจสอบรักษาความมั่นคงปลอดภัยควบคุมการเข้าถึงข้อมูล ควบคุมการพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้บริการ ให้เป็นไปตามกฎหมายและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย แต่จำเลยกลับเพิกเฉยไม่ระมัดระวัง ทำให้เกิดความเสียหายกล่าวคือ
...
เมื่อเดือน ธ.ค.2560 มีกลุ่มคนร้ายคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงเอาข้อมูลของโจทก์เช่น หมายเลขบัตรประชาชน ข้อมูลเอทีเอ็ม รหัสโอทีพี แล้วสมัครอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้งผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนของคนร้าย เข้าทำธุรกรรมทางการเงินกับจำเลยโดยช่องทางอีซีแอป โอนเงินโจทก์ออกไปหลายครั้งในเวลา 8 วัน เริ่มเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2560 ถึงวันที่ 4 ม.ค.2561 จำนวนเงินตั้งแต่ครั้งละ 10,000 บาทถึง 373,000 บาท ไปเข้าบัญชีเงินฝากของกลุ่มคนร้ายโดยใช้ชื่อบุคคลต่างๆที่เปิดไว้ตามต่างจังหวัด เป็นการถอนโอนเงินอย่างผิดปกติ โดยจำเลยไม่แจ้งเตือน ไม่ตรวจสอบ แต่ต่อมาทราบภายหลังจึงแก้ไขระบบอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง
การกระทำของจำเลย ในฐานะผู้รับฝากเงินมีบำเหน็จ ควรใช้ความระมัดระวังตรวจสอบการเข้าถึงข้อมูล แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ กลับใช้ความระมัดระวังต่ำกว่าผู้รับฝากมีบำเหน็จรายอื่นๆ จำเลยจึงต้องรับผิดในยอดเงิน 1,670,200 บาทของโจทก์ที่สูญเสียไป กับดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,780,830บาท ศาลนัดไว้ไกล่เกลี่ยวันที่ 16 ก.พ.62 เวลา 09.00 น.
น.ส.ธนิตาเผยว่า เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ตนถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์มาหลอกว่า ตนถูกดำเนินคดีกู้เงินไปซื้อที่ดินที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก่อนหลอกพูดคุยเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงินจนถามรหัสยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้แอปพลิเคชันธนาคารทางโทรศัพท์ ภายหลังมาทราบว่า เงินในบัญชีที่ฝากไว้กับธนาคารถูกโอนไปหลายครั้ง เมื่อสอบถามไปยังธนาคารกลับไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ จึงออกมาฟ้องศาลวันนี้ในฐานะประชาชนผู้ใช้บริการ อยากให้ธนาคารมีวิธีป้องกันที่มีมาตรฐาน โดยเฉพาะหากพบว่ามี การทำธุรกรรมที่ผิดปกติ ควรต้องรีบแจ้งหรือตรวจสอบกับเจ้าของบัญชีเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งทุกครั้งที่มีการเข้าระบบเพื่อทำธุรกรรม ควรมีข้อความหรืออีเมลแจ้งมายังเจ้าของบัญชี แต่กรณีนี้กลับไม่ดำเนินการใดๆเลย กระทั่งตนมาตรวจสอบบัญชีเองจึงทราบเรื่องสูญเงินจำนวนมหาศาลไปแล้ว