อีกมุมหนึ่งจากกรณีนักมวยเด็กวัย 13 ปี เพชรมงคล ถูกน็อกและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทางการแพทย์มีผลวิจัยน่าสนใจ พร้อมเรียกร้องแก้ พ.ร.บ.มวยเพื่อปกป้องสมองเด็ก...

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีนักมวยเด็กวัย 13 ปี "เพชรมงคล" เสียชีวิตสืบเนื่องจากการขึ้นชกและถูกน็อกบนเวที เกี่ยวกับกรณีด้านนี้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า (ไอแมค) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ดำเนินโครงการวิจัยและติดตามกลุ่มนักมวยเด็ก มี พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ เป็นหัวหน้าโครงการ นพ.วิทยา สังขรัตน์ และตนพร้อมทีมงาน ร่วมวิจัยเพื่อศึกษาความแตกต่างระหว่างสมองของเด็กที่ชกมวย 335 คน เปรียบเทียบกับเด็กทั่วไปที่ไม่ได้ชกมวย 252 คน ผลวิจัยพิสูจน์ให้เห็นว่า การชกมวยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีผลต่อสมองของเด็ก ดังนี้

1. มีเลือดออกในสมองจากการถูกชกหัว ทำให้มีธาตุเหล็กสะสมเป็นสารพิษต่อเนื้อสมอง

2. เซลล์สมอง และใยประสาทฉีกขาดและถูกทำลาย ทำให้สมองไม่สั่งการได้ตามปกติ

3. การทำงานของสมองด้านความจำลดลง นำไปสู่อาการบกพร่องทางปัญญาหรือภาวะสมองเสื่อมได้

4. ระดับสติปัญญา (IQ) ของเด็กที่ชกมวยน้อยกว่าของเด็กทั่วไปเกือบ 10 คะแนน และยังลดลงอย่างต่อเนื่องตามระยะเวลาในการชก ระดับไอคิวเด็กทั่วไปในประเทศไทยอยู่ระหว่าง 90-110 สามารถเรียนจบระดับอนุปริญญา หรือปริญญาตรี ส่วนนักมวยเด็กที่ขึ้นชกมากกว่า 5 ปี มีไอคิว 84 คะแนน จะสามารถเรียนจบระดับมัธยมปลายเท่านั้น

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ผลการบาดเจ็บของสมองนักมวยเด็ก ส่งผลต่อการศึกษาและการดำรงชีวิตของเด็กในอนาคต หากเด็กเหล่านี้โตขึ้นไปแล้ว ไม่ได้เข้าสู่วงการมวย ไม่ได้เป็นนักกีฬามวยระดับชาติ จะกลับเข้าสู่สังคมและใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไปอย่างไร เด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีลงไป ผู้ปกครองไม่ควรตัดสินให้เด็กถูกทำร้าย หากจะฝึกมวยควรเป็นไปในเชิงวัฒนธรรมและสุขภาพ เป็นกีฬาแบบไม่ปะทะ ส่วนอายุ 13-15 ปี เริ่มเป็นกีฬาปะทะ แต่ต้องปรับเปลี่ยนกฎกติกาและหาอุปกรณ์และมาตรการต่างๆ จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์การกีฬามาลดผลกระทบต่อสมอง มีการดูแลนักมวยหลังหยุดชกอย่างเหมาะสม

...

ทั้งนี้ ปัจจุบันการชกมวยเด็กเป็นลักษณะมวยอาชีพมีค่าตอบแทน นับเป็นการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมาย อีกทั้งมีการระบุในระดับสากล กระทรวงแรงงานของสหรัฐอเมริกาว่า มวยเด็กเป็นการทารุณกรรม หรือเป็นการใช้แรงงานเด็กในขั้นเลวร้ายที่สุด และเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักทำให้ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในระดับเทียร์ 3 ด้านการค้ามนุษย์ แพทย์ นักวิชาการ และเครือข่ายคุ้มครองเด็ก ขอเรียกร้องให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและรัฐบาลไทยสนับสนุนการแก้ไข พระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 เพื่อปกป้องสมองเด็ก และส่งเสริมมวยไทยให้เป็นวัฒนธรรมที่สวยงาม ไม่ป่าเถื่อน และเป็นกีฬาสำหรับเด็กทุกวัยอย่างแท้จริง.