ค่าตระเวนป่า กว่า 2 หมื่นคน เริ่ม 1 ธ.ค. 2561

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากรมอุทยานฯ 2 หมื่นคนเฮ ตั้งแต่ ธ.ค.2561 สามารถเบิกเงินค่าทำงานล่วงเวลาตระเวนป่า (โอที) ได้วันละ 200 บาท จากเดิมได้ค่าตอบแทนเฉพาะเงินเดือน ชี้เป็นครั้งแรกเพื่อสร้างขวัญกำลังใจใช้เงินรายได้อุทยานฯ มาจ่าย เผยรายได้อุทยานฯ ปี 2561 เกือบ 3 พันล้านบาท โดย 5 อันดับนักท่องเที่ยวเยอะ “เกาะพีพี-สิมิลัน-อ่าวพังงา-เกาะเสม็ด-เขาใหญ่”

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดสวัสดิการให้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ด้วยการให้เงินค่าทำงานล่วงเวลาในการลาดตระเวนป่า เป็นครั้งแรก โดยเมื่อวันที่ 3 พ.ย.นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ อยู่ระหว่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 เพื่อต้องการให้เนื้อหาในกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเรื่องคนอยู่กับป่า รวมไปถึงเรื่องการให้สิทธิทำกินแก่ประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มนายทุนและเรื่องระเบียบการนำเงินรายได้อุทยานมาใช้เพื่อดูแลสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ ซึ่งขณะนี้ พ.ร.บ.อุทยานฯ ผ่านคณะกรรมการกฤษฎีการอรัฐบาลเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ป่า อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

อธิบดีกรมอุทยานฯกล่าวอีกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่รอกระบวนการขั้นตอนการพิจารณากฎหมาย กรมอุทยานฯ มีข่าวดีสำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า นั่นก็คือ กรมอุทยานฯได้ใช้งบประมาณเพื่อการลาดตระเวนของโครงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (smart patrol) สำหรับจัดสวัสดิการให้พนักงานพิทักษ์ป่าที่ทำหน้าที่ออกลาดตระเวนป่า ทั้งในส่วนของอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งแต่เดิมเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท แต่ตั้งแต่เดือน ธ.ค.2561 เป็นต้นไป เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจะได้รับเป็นเงินล่วงเวลาเพิ่มขึ้นอีกชั่วโมงละ 50 บาท แต่ต้องไม่เกินวันละ 200 บาท เช่น หากใครมีหน้าที่ออกลาดตระเวนในป่าเป็นเวลา 3 วัน ก็จะได้รับเงินเพิ่มอีก 600 บาท เป็นต้น ซึ่งก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ไม่เคยได้รับเงินล่วงเวลามาก่อนเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรก โดยเงินที่นำมาจ่ายเป็นค่าล่วงเวลาเป็นเงินรายได้อุทยานฯ ที่เป็นไปตามการใช้เงินรายได้ในมาตรา 23 ที่สามารถนำเงินรายได้มาใช้สำหรับการลาดตระเวนป่า เพื่อคุ้มครองพื้นที่ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าได้

...

นายธัญญากล่าวอีกว่า ขณะนี้กรมอุทยานฯ มีเจ้าหน้าที่ที่ออกปฏิบัติการลาดตระเวนป่า ทั้งส่วนอุทยานฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประมาณ 20,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งการจ่ายเงินค่าล่วงเวลาดังกล่าว แม้จะไม่ใช่เงินที่มากนัก แต่จะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ที่เสียสละทำงานดูแลป่าด้วย เพราะตามกฎหมายเดิมนั้น กรมอุทยานฯไม่สามารถนำรายได้ของอุทยานฯมาใช้สำหรับการดูแลสวัสดิการ คุ้มครองความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ได้ โดยเฉพาะเจ้าพนักงานพิทักษ์ป่าที่เป็นลูกจ้างทีโออาร์ หรือลูกจ้างรายวัน ที่หากเกิดเหตุ เช่น เสียชีวิต หรือประสบอุบัติเหตุระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ จะไม่มีสวัสดิการอะไรดูแลเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้เลย แต่ที่ดูแลกันอยู่เวลานี้ เป็นเงินประกันชีวิตที่องค์กรพัฒนาเอกชน เช่น มูลนิธิเขาใหญ่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมาช่วย แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนป่าทั่วประเทศ จะเริ่มได้รับเงินล่วงเวลาตั้งแต่เดือน ธ.ค.นี้เป็นต้นไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเงินรายได้อุทยานแห่งชาติทั่วประเทศนั้นปีงบประมาณ 2561 ที่สิ้นสุดในวันที่ 31 ต.ค.2561 อยู่ที่ 2,700 ล้านบาท คาดว่า สิ้นปีนี้ น่าจะมีรายได้รวมทั้งสิ้นถึง 3,000 ล้านบาท สำหรับอุทยานแห่งชาติ ที่มีรายได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา จ.พังงา อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จ.ระยอง และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่กินพื้นที่ 4 จังหวัดคือ นครราชสีมา ปราจีนบุรี นครนายก และสระบุรี