รมช.ลักษณ์ นำทัพคณะผู้แทนไทย ร่วมประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 40 ที่กรุงฮานอย แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาระดับภูมิภาคตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2568 ในด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้...

เมื่อวันที่ 16 ต.ค.61 นายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านเกษตรและป่าไม้ ครั้งที่ 40 (ASEAN Ministers on Agriculture and Forestry: 40th AMAF) ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 61 ที่ผ่านมา ได้มีการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการพัฒนาระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ปี 2568 และรับทราบความสำเร็จในการดำเนินงานด้านอาหาร เกษตร และป่าไม้ ในปี 2560-2561 ภายใต้วิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์ความร่วมมืออาเซียนด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ปี 2559–2568 โดยในที่ประชุม ได้มีการรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบายบูรณาการความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน และแผนกลยุทธ์ความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียน ปี 2558-2563 และให้ความเห็นชอบกรอบแนวคิดหลายสาขาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านเกษตรและป่าไม้ ที่มีต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเกิดความมั่นคงด้านอาหาร โดยการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ป่าไม้ น้ำ และแหล่งน้ำอย่างยั่งยืน ให้มีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

...

สำหรับการดำเนินงานในด้านอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ในปี 2561 มีความสำเร็จของผลงานสำคัญ 6 ด้าน คือ 1. แนวปฏิบัติของอาเซียนในการเสริมสร้างศักยภาพในการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบในภาคอาหารเกษตรและป่าไม้ 2. แนวทางการดำเนินการของรัฐมนตรีอาเซียนด้านการเกษตรและป่าไม้เกี่ยวกับการบรรจุเรื่องมิติด้านเพศในภาคอาหาร การเกษตร และป่าไม้ ของอาเซียน 3. ค่าสารพิษตกค้างสูงสุดและค่ามาตรฐานของอาเซียน 4. นโยบายในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสาขาป่าไม้และสาขาอื่นๆ ของอาเซียน 5. มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสุกรของอาเซียน และ 6. แผนงานอาเซียนเพื่อเสริมสร้างบทบาทของสหกรณ์การเกษตรในห่วงโซ่คุณค่าอาหารของโลกด้านการเกษตร ปี 2561–2568

"ความสำคัญของการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยภาคการเกษตรต้องสามารถเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าของโลกได้ จะต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีส่งเสริมเกษตรสีเขียวและเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตรได้มากยิ่งขึ้น และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลกับเอกชน (PPP) อีกทั้งขอให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งได้เสนอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมมือกันภายใต้กรอบแนวคิดหลายสาขา ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้านเกษตรและป่าไม้ที่มีต่อความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้ภาคการเกษตรสามารถปรับตัวและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ นอกจากนี้ ได้เน้นย้ำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนแลกเปลี่ยนข้อมูลภายใต้ระบบแจ้งเตือนความปลอดภัยอาหารและอาหารสัตว์ของอาเซียน (ASEAN Rapid Alert System for Food and Feed: ARASFF) เพื่อติดตามสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยทางด้านอาหาร และใช้มาตรการที่รวดเร็วและเหมาะสมในการคุ้มครอง" นายลักษณ์ กล่าว.