ศปถ.สรุปอุบัติเหตุทางถนน 7 วัน เทศกาลสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุ 3,724 ครั้ง ตาย 418 ราย เจ็บ 3,827 คน โคราชแชมป์ตายมากสุด เชียงใหม่เกิดอุบัติเหตุ-บาดเจ็บสูงสุด 4 จว. ยอดตายเป็นศูนย์ สาเหตุอันดับหนึ่งมาจาก ‘ดื่มแล้วขับ’
เมื่อวันที่ 18 เม.ย.61 ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2561 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วง7 วันของการ "รณรงค์ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร" ประจำวันที่ 17 เมษายน เกิดอุบัติเหตุ 307 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 26 ศพ บาดเจ็บ 336 ราย
สถิติสะสมระหว่างวันที่ 11 ถึง 17 เมษายนที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุ 3,724 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 418 ศพ บาดเจ็บ 3,897 ราย โดยจังหวัดนครราชสีมามีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 20 ศพ ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีอุบัติเหตุสูงสุดและมีผู้บาดเจ็บสูงสุด โดยสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือดื่มแล้วขับร้อยละ 40 รองลงมาขับรถเร็วเกินกำหนดร้อยละ 26 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ จักรยานยนต์ ขณะที่จังหวัดยอดตายเป็นศูนย์มี 4 จังหวัด คือ ระนอง สมุทรสงคราม หนองคาย และหนองบัวลำภู
...
นายสุธี กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสีย โดยสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการดื่มแล้วขับ และขับรถเร็ว รวมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์เป็นกลุ่มที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าร้อยละ 79 ซึ่งการเดินทางเข้า-ออกจากกรุงเทพมหานครในช่วงเทศกาล มีมากถึง 8 ล้านคัน ขณะที่สถิติประชาชนที่เดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะมีมากถึง 14 ล้านคน เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจรถกว่า 5 ล้านคัน ซึ่งดำเนินคดีผู้กระทำผิด 10 มาตรการ คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย เมาสุรา ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่มีใบขับขี่ ความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณจราจร ขับรถย้อนศร แซงในที่คับขัน ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถ ในช่วง 7 วันถึง 1 ล้าน 1 แสนคน
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องถอดบทเรียนกันต่อไป แต่มีสถิติที่น่าสนใจ คือ ศปถ.ระดับอำเภอ ที่ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นเลยมีถึง 147 อำเภอ ขณะที่กทม.มี 43 เขต ที่ไม่มีอุบัติเหตุเช่นเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากลไกการควบคุมในระดับพื้นที่ได้ผลเป็นอย่างดี
นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงมาตรการ 4 แนวทางในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ดังนี้ 1. ให้ความสำคัญกับระบบข้อมูล โดยจะให้ทุกหน่วยงานมาร่วมกันทำฐานข้อมูลแห่งชาติ เพื่อให้เป็นข้อมูลเดียวกัน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องนำวาระความปลอดภัยทางท้องถนนเข้าประชุมทุกเดือน
2. การลดความเสี่ยงให้ทุกพื้นที่สำรวจ เส้นทางตัดรถไฟและทางโค้งรวมถึงความสว่างของถนนเส้นต่างๆ โดยรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงการจัดซื้อเครื่องวัดแอลกอฮอล์และเครื่องตรวจจับความเร็วที่มีความจำเป็น 3. สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนโดยเฉพาะข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐหากกระทำผิดกฎหมายจราจรจะต้องรับโทษทางวินัยด้วย 4.การเพิ่มโทษทางกฎหมายโดยเสนอให้ผู้ที่ขับขี่โดยไม่มีใบขับขี่จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา