“อดุลย์” ไม่ทบทวนปรับค่าจ้าง 308–330 บาท ยัน ทำตามมติบอร์ด จ่อ ชงครม.พิจารณาสัปดาห์หน้า พร้อมรับฟัง คสรท.ค้านลดเงินประกันสังคม 1% อุ้มนายจ้าง ไม่ให้กระทบคนส่วนใหญ่ เร่งจับตาต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย
ที่กระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 22 ม.ค. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จะยื่นหนังสือคัดค้านมติบอร์ดค่าจ้าง ซึ่งให้ปรับขึ้นค่าจ้างทั่วประเทศ 5 - 22 บาท ไม่เท่ากันทุกจังหวัด ที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 23 ม.ค. ว่า จะยังไม่มีการนำมติดังกล่าวเข้าที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์นี้ ส่วนข้อโต้แย้งของกลุ่ม คสรท. และเครือข่ายแรงงานที่ไม่เห็นด้วยและขอให้ทบทวน คงทบทวนให้ไม่ได้ เพราะเป็นมติดังกล่าวอาจไม่ถูกใจทุกคน ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เพราะการจะปรับให้ค่าแรงเท่ากันทุกจังหวัดเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเศรษฐกิจแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน โดยมีอนุกรรมการค่าจ้างแต่ละจังหวัดเป็นคนเสนอตัวเลขค่าจ้างเข้ามาให้บอร์ดพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ และคาดว่าจะนำมติบอร์ดค่าจ้างเข้า ครม. ในสัปดาห์หน้า
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของมาตรการเยียวยานายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ เป็นวันละ 308 - 330 บาท ที่มีการเสนอให้ลดภาษีค่าจ้างแรงงาน 1.5 เท่า และลดเงินสมทบประกันสังคม ทั้งนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 1% เป็นเวลา 1 ปีนั้น ในส่วนของปรับลดเงินสมทบ หากเครือข่ายแรงงานไม่เห็นด้วย ก็พร้อมจะรับมาพิจารณาและทบทวน โดยจะฟังทุกความคิดเห็นและทำเรื่องนี้ให้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับคนส่วนใหญ่
“ผมพร้อมจะรับฟังทุกคนทุกเรื่อง มีอะไรก็มาพูดกัน จะได้รู้ปัญหา ผมทำงานมา 2 เดือนแล้ว ทุกวันนี้เริ่มทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้า ยังทำงานไม่ทัน มีหลายเรื่องหลายปัญหา แต่ทุกอย่างกำลังไปได้ดี ทั้งจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่ต้องพิสูจน์สัญชาติอีก 8 แสนคน คนต่างด้าวแย่งอาชีพคนไทย ปล่อยกันจนกลายเป็นความเคยชิน จากนี้ต้องทำให้เรียบร้อย รวมทั้งการหลอกลวงคนไทยไปทำงานต่างประเทศ ผมกำลังติดดาบทางความคิดให้ผู้บริหารระดับสูงตั้งแต่รองอธิบดีขึ้นไป เข้าอบรมปลูกฐานความคิดใหม่ ถ้าความคิดดี การทำงานก็จะดีด้วย” พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าว
...
ด้านนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ในวันที่ 23 ม.ค. ภาคแรงงานไม่เกิน 100 คน จะยื่นหนังสือแสดงจุดยืน ที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้ทบทวนปรับค่าจ้างต้องเท่ากันทุกจังหวัด พร้อมให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด และห้ามปรับลดเงินสมทบประกันสังคม 1% เพื่ออุ้มนายจ้าง เชื่อว่าในเรื่องลดเงินสมทบ ถ้าให้ลดนายจ้างฝ่ายเดียวจะถูกต่อต้านจึงพ่วงให้ลดในส่วนของลูกจ้างด้วย คงคิดว่าจะไม่มีแรงต้าน เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่กล้ายุ่งแล้ว เพราะเห็นว่าลูกจ้างพร้อมจะจ่าย 5% เท่าเดิม เพราะการปรับลด 1% จะไปกระทบกับกองทุนและเงินออมในอนาคต รวมถึงกระทบกับสิทธิผู้ประกันตนกว่า 10 ล้านคน.