ปรับค่าจ้างล่ม ถกนาน 4 ชม. ไม่ได้ข้อยุติ ปลัดแรงงานแจงหน้าเจื่อน เลื่อนอีก หลังยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 60 เผย ขณะบึงกาฬ เสนอตัวเลขสูงลิบ แต่ยังอุบไม่ใช่ 15 บาท นัดประชุมอีกที 4 โมงเย็น วันที่ 17 ม.ค. ยันปรับขึ้นแน่นอนทุกจังหวัด แต่ไม่เท่ากัน
บอร์ดค่าจ้าง ยังไม่เคาะค่าจ้างใหม่ หลังถกนาน 4 ชม. ไม่ได้ข้อยุติ ตัวแทนลูกจ้าง และนายจ้าง ไม่เห็นด้วยกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ โดยเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ที่กระทรวงแรงงาน นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ได้ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 ครั้งที่ 1/2561 เพื่อพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ที่ตามกำหนด จะเริ่มการประชุมในเวลา 09.30 น. แต่เนื่องจากการจราจรติดขัด เพราะมีฝนตกหนัก ทำให้คณะกรรมการหลายคนมาไม่ทันเวลา จนถึงเวลา 10.20 น. นายอาทิตย์ อิสโม กรรมการฝ่ายรัฐบาล นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการฝ่ายนายจ้าง และนายมานะ จุลรัตน์ กรรมการฝ่ายลูกจ้าง ยังเดินทางมาไม่ถึง ทำให้ต้องเลื่อนการประชุมออกไปประมาณ 1 ชม. โดยนายจรินทร์ กล่าวว่า มั่นใจวันนี้ จะสามารถประชุมพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจนได้ข้อสรุปอย่างแน่นอน ส่วนจะเคาะอัตราเท่าไร ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการไตรภาคี
เวลา 13.00 น. นายจรินทร์ ได้ออกจากห้องประชุมมาชี้แจงกับสื่อมวลชน ที่มารอรายงานการแถลงข่าวผลการประชุมบอร์ดค่าจ้าง ที่กำหนดไว้ในเวลา 13.00 น. ว่า บอร์ดเข้าประชุมครบเกือบทุกคน ขาดเพียงตัวแทนฝ่ายรัฐบาล 1 คน และการประชุมยังไม่ได้ข้อยุติ ที่ประชุมรับทราบในหลักการทุกอย่างแล้ว แต่ยังรอพิจารณาอัตราตัวเลขแต่ละจังหวัด ซึ่งจะพิจารณารายจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่มีอัตราเท่ากัน อาจยังต้องใช้เวลาอีกนาน ส่วนที่มีบอร์ดตัวแทนนายจ้างและลูกจ้างบางส่วนกลับไปก่อน เป็นเพราะมีธุระ แต่ได้ฝากความเห็นไว้ในที่ประชุมแล้ว ถ้าคุยกันเข้าใจก็สามารถสรุปตัวเลขค่าจ้างทุกจังหวัดได้ในวันนี้ โดยจะปรับเป็นรายจังหวัด ไม่เท่ากันทั้งประเทศ ตามที่กลุ่มแรงงานเรียกร้อง ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะสภาพเศรษฐกิจแต่ละจังหวัดไม่เหมือนกัน ขณะนี้มีการเสนอตัวเลขครบทุกจังหวัดแล้ว แต่ยังต้องรอสรุปตัวเลขที่เหมาะสม
...
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บอร์ดค่าจ้างใช้เวลาประชุมนาน 4 ชม. แต่ยังสรุปตัวเลขไม่ได้จึงยุติการประชุมในเวลา 14.20 น. โดยนายจรินทร์ กล่าวว่า บอร์ดยังไม่มีมติเคาะค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 เพราะฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ยังมีความเห็นต่างกัน จึงให้กลับไปจัดทำตัวเลขและจัดกลุ่มจังหวัดเสนอเข้าพิจารณาอีกครั้ง ในเวลา 16.00 น. วันที่ 17 ม.ค. เพราะครั้งนี้ยังมีตัวเลขที่ไม่ชัดเจน บางจังหวัดอยู่ใกล้กัน แต่ตัวเลขค่าจ้างต่างกันมาก ไม่เท่าเทียมกัน บางจังหวัดบอกขึ้นแค่ 2 บาท มันน้อยไป ขณะที่บางจังหวัดเสนอมาสูงไป เช่น จ.บึงกาฬ เป็นจังหวัดเล็กมีประชากรน้อย คณะกรรมการจึงขอให้ไปดูอีกที จังหวัดไหนมีสภาพใกล้เคียงกัน มีรายได้ใกล้เคียงกัน รวมทั้งพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ และปริมณฑล ค่าจ้างต้องสอดคล้องกัน
“นายกฯ พูดชัดเจนว่าค่าจ้างขั้นต่ำมีความจำเป็น บางจังหวัดเสนอน้อย บางจังหวัดมากเกินไป แต่มีบางจังหวัดไม่เสนอปรับ จึงต้องให้กลับไปพิจารณา ต้องทำให้รอบคอบ ตอบสังคมได้ว่าทำไม ซึ่งมันเหนื่อยที่ต้องทำให้เห็นพ้องต้องกัน ผมก็อยากให้เคาะตัวเลขวันนี้ แต่ในเมื่อความเห็นมันไม่ตรงกัน ก็ต้องให้ทำข้อมูลเพิ่มเติมมาใหม่ เพื่อให้ทุกฝ่ายพอใจ โดยให้ไปจัดกลุ่มใหม่ ปรับภาพรวมดูมาใหม่หมดเลย แต่ให้อยู่บนพื้นฐานเดิมที่อนุกรรมการจังหวัดเสนอมา กรุงเทพฯ ปริมณฑล จะปรับเท่ากัน ผมเชื่อว่าวันที่ 17 ม.ค. จบแน่นอน และจะปรับเพิ่มทุกจังหวัด ส่วนจะมากถึง 15 บาทหรือไม่ ไม่อยากพูดล่วงหน้า เพราะมันจะไม่ให้เกียรติบอร์ด แต่ก็มั่นใจลูกจ้างรับได้ ส่วนที่มองว่าบอร์ดชุดนี้ยื้อเคาะค่าจ้าง เพราะหมดวาระ อย่าไปคิดแบบนั้น ขอให้ 2 ฝ่าย ลดอัตตาลง ก็เคาะค่าจ้างใหม่ได้ ยังไงบอร์ดชุดนี้ต้องเคาะค่าจ้างให้จบ เพื่อนำเข้า ครม. ในสัปดาห์ถัดไป ให้มีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค.” นายจรินทร์ กล่าว
ด้านนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน (คสรท.) กล่าวว่า เป็นไปตามที่คาดไว้ว่าบอร์ดค่าจ้างจะไม่เคาะค่าจ้าง เพราะทั้งตัวแทนนายจ้างและลูกจ้าง ต่างมีธงของตัวเอง ปลัดแรงงานในฐานะประธานบอร์ดต้องคุยนอกรอบหาข้อยุติในกรอบที่ยอมรับทั้ง 2 ฝ่าย แต่ไม่ใช้การล็อบบี้ ถ้ายังเป็นแบบนี้วันที่ 17 ม.ค. ก็ยังเคาะไม่ได้ เพราะระบบไตรภาคีทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องกัน แต่ปลัดมาจากกระทรวงมหาดไทยที่สามารถใช้อำนาจทุบโต๊ะได้ มันจึงต่างกัน อยากถามว่าถ้าเลื่อนไปอีก 2-3 เดือน ภาคแรงงานเกิดความเสียหายใครจะรับผิดชอบ ถ้าเรื่องแค่นี้ยังทำไม่ได้ เรื่องใหญ่กว่านี้จะทำได้ยังไง ส่วน คสรท.ยังยืนยันให้ปรับ 360 บาท เท่ากันทั้งประเทศ และขอให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เพราะเสนอตัวเลขมาก็ถูกตีกลับไปทบทวน จึงไม่มีประโยชน์ และถ้าค่าจ้างยังยืดเยื้อหาข้อยุติไม่ได้ สุดท้ายอาจต้องใช้มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการค่าจ้างชุดใหม่ขึ้นมาพิจารณา