เรื่องของธุรกิจพลังงานกำลังมาแรง ความขัดแย้งจากผลประโยชน์ธุรกิจด้านพลังงานก็แรงไม่แพ้กัน เกิด 1 โครงการย่อมมีผลกระทบกับอีก 1 โครงการ เพราะฉะนั้น การแทรกแซงแผนพลังงานแห่งชาติ ที่ทำให้เป้าหมายความต้องการใช้พลังงานเพื่อการพัฒนาประเทศต้องได้รับผลกระทบ เป็นความรับผิดชอบที่ รัฐในฐานะผู้คุมนโยบายและกลุ่มผู้คัดค้าน เอ็นจีโอ จะต้องร่วมกันรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

เพราะถ้าจะปล่อยให้มีการ แสวงหาผลประโยชน์บนความเสียหายของชาติ รัฐก็จะเข้าข่ายถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่จนทำให้เกิดความเสียหายขึ้นได้เช่นกัน

เมื่อวันก่อน รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ กฟผ. สหรัฐ บุญโพธิภักดี ทำหน้าที่โฆษก กฟผ.ชี้แจงว่า โครงการโรงไฟฟ้าเทพา จ.สงขลา เป็นโครงการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 เพื่อแก้ปัญหาความไม่มั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ที่ต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง โดยที่ กฟผ.รับผิดชอบศึกษาโครงการตามที่ ครม.มีมติเห็นชอบไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย.2555

จากนั้น กฟผ. ได้เริ่มลงพื้นที่สำรวจผลกระทบและสภาพแวดล้อม สุขภาพของชาวบ้าน เปิดให้ประชาชนทั่วไปที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งที่ จ.สงขลา และจังหวัดใกล้เคียง เช่น ปัตตานี มีส่วนร่วมในการจัดทำกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างโปร่งใส มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

การรับฟังความคิดเห็นใช้เวลา 1 ปี คณะกรรมการผู้ชำนาญการ ใช้เวลาในการพิจารณารายงานอีก 1 ปี 10 เดือน เห็นว่าข้อมูลมีความครบถ้วนแล้วทำเป็นรายงานฉบับสมบูรณ์เสนอไปยัง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ตามลำดับ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของ ครม.

...

ทั้งหมดนี้สามารถตรวจสอบได้ที่ www.egat.co.th

นี่คือหนึ่งตัวอย่างที่จะทำให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อประเทศอย่างชัดเจน ทั้งๆที่ทุกอย่างผ่านตามขั้นตอนกระบวนการทุกขั้นตอน ปรากฏว่าคนกลุ่มหนึ่งเพียงแค่หยิบยกเรื่องของสภาพแวดล้อมมาอ้างเท่านั้น นโยบายทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงทันที

การทำแผนพัฒนาการผลิตไฟฟ้า แต่ละฉบับไม่ใช่ทำกันภายในวันสองวัน หรือแค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่เป็นแผนที่ต้องใช้เวลาศึกษาและคาดการณ์ผลได้ผลเสียในอนาคตเอาไว้อย่างละเอียด

เป็นแผนระดับชาติ

เพราะฉะนั้นถ้าโครงการผลิตไฟฟ้าจะต้องมีผลกระทบถึงเศรษฐกิจและประชาชนผู้บริโภคในอนาคต ใครจะรับผิดชอบ ความเสียหายไม่ใช่บาทสองบาท เช่นเดียวกับการคัดค้านโครงการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 หรือโครงการผันน้ำเพื่อใช้กับภาคอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

ความเป็นผู้นำก็จะวัดกันได้ตรงนี้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจว่าจะรักษาผลประโยชน์ของประเทศหรือผลประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง ที่จ้องแสวงหาผลประโยชน์จากการล้มโครงการของรัฐตามแผนที่กำหนดไว้.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th