ยอดแจ้งแรงงานต่างด้าว 15 วัน ไม่ถึงล้านคน กทม. ครองแชมป์สูงสุดกว่า 1.5 แสนคน โดยอาชีพก่อสร้างใช้ต่างด้าวสูงสุดกว่า 1.6 แสนคน ปลัดแรงงานย้ำ นายจ้างหูทวนลม ไม่แจ้งใช้คนผิดกฎหมายทำงาน ต้องยอมรับโทษหนัก หลักหมดผ่อนผัน 180 วัน...
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงาน บรรยากาศที่ศูนย์รับแจ้งการใช้คนต่างด้าว ในกระทรวงแรงงาน 1 ใน 100 ศูนย์ฯ ทั่วประเทศ ซึ่งเปิดให้บริการนายจ้างแจ้งใช้ต่างด้าวกลุ่มผิดกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค.-7 ส.ค. ในวันสุดท้าย มีนายจ้างทยอยแจ้งใช้คนต่างด้าวอย่างคึกคัก ทำให้ระบบบันทึกข้อมูลมีปัญหาติดขัด แต่ก็สามารถแก้ไขได้ในเวลาไม่นาน มีนายจ้างบริษัทค้าไม้แห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี ส่งตัวแทนมาแจ้งขอใช้แรงงานเมียนมา ทำงาน 140 คน โดยบอกว่ามีการจ้างคนเมียนมากว่า 800 คนทำงานไม้ แต่ส่วนใหญ่มีใบอนุญาตถูกต้อง จนถึงเวลาปิดศูนย์ฯ ในเวลา 16.30 น. พบว่ามีนายจ้าง 721 ราย แจ้งขอใช้ต่างด้าว 1,734 คน มากกว่าทุกวัน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 800 คน
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า หลังจากนี้จะปิดทุกศูนย์ฯ และจะไม่ขยายเวลาออกไปอีก ซึ่งยอดทั่วประเทศ จนถึงเวลา 16.30 น. มีนายจ้าง 195,996 ราย แจ้งขอใช้ต่างด้าว 694,629 คน ในจำนวนนี้เป็นการแจ้งผ่านออนไลน์ 13,392 ราย ขอใช้ต่างด้าว 36,543 คน สรุปยอด 3 สัญชาติ เป็นเมียนมา มากที่สุด 402,542 คน กัมพูชา 203,732 คน ลาว 88,355 คน โดย กทม.แจ้งขอใช้มากที่สุดกว่า 150,000 คน ส่วน จ.ยโสธร แจ้งขอใช้น้อยที่สุดเพียง 96 คน อาชีพก่อสร้างขอมากที่สุดกว่า 160,000 คน โดยยอดรวมที่เป็นทางการทั่วประเทศ จะสรุปในเช้าวันที่ 8 ส.ค. เนื่องจากยังให้ยื่นผ่านออนไลน์ได้จนถึงเวลา 24.00 น. คาดว่าจะมียอดรวมทั้งหมดประมาณ 7.5 แสนคน เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ว่ากลุ่มแรงงานผิดกฎหมายจะมีประมาณ 7-9 แสนคน ไม่ใช่ 1–3 ล้าน ตามที่นักวิชาการ หรือภาคประชาสังคมพูดกัน
...
ม.ล.ปุณฑริก กล่าวอีกว่า สำหรับขั้นตอนตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. เป็นการพิสูจน์ความเป็นลูกจ้างนายจ้าง ได้พร้อมให้บริการเต็มที่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานในสังกัด อาทิ กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ในพื้นที่ กทม.เปิดให้บริการกว่า 20 หน่วย ต่างจังหวัดกว่า 60 หน่วย รวมทั่วประเทศกว่า 80 หน่วย โดยนายจ้างจะต้องนำลูกจ้างต่างด้าวที่ยื่นลงทะเบียนไว้ มาตามนัดหมาย พร้อมเอกสารที่นำมายื่นในวันขอจ้างมาด้วย หากเป็นนิติบุคคล มีลูกจ้างจำนวนมาก ต้องเตรียมสัญญาจ้าง เอกสารการจ่ายเงินเดือนหรือหลักฐานอื่นเพื่อยืนยัน และนอกจากจะดูว่าเป็นนายจ้างลูกจ้างจริง ยังจะดูด้วยว่าเป็นแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานต้องห้ามหรือไม่
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวด้วยว่า ขั้นตอนที่สอง ในวันแรกที่กระทรวงแรงงาน จะมีนายจ้างกว่า 500 คน นำต่างด้าวกว่า 1,500 คน มาพิสูจน์ความสัมพันธ์ หากพบเป็นลูกจ้างนายจ้างกันจริง เจ้าหน้าที่จะออกใบรับรอง เพื่อไปพิสูจน์สัญชาติ จะสามารถทำงานต่อได้จนถึง 31 มี.ค. 61 และเมื่อสิ้นสุดการอนุญาตแล้ว จะต่ออายุให้ทุกๆ 2 ปี ส่วนนายจ้างที่ไม่แจ้งใช้ต่างด้าวผิดกฎหมายทำงาน เมื่อหมดเวลาผ่อนผัน 180 วัน ก็ต้องยอมรับสภาพ หากต้องโดนโทษหนัก สำหรับการแก้ไข พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯ ให้มีความเหมาะสม 30 ส.ค. จะเชิญตัวแทนสมาคมอาชีพต่างๆ เข้าหารือในการกำหนดอัตราโทษใหม่ และกำหนดอาชีพสงวนคนไทย 39 อาชีพ ให้ตรงกับการใช้งานจริง โดยหลายอาชีพอาจต้องเปิดให้ต่างด้าวทำได้.