รัฐบาลหาเงิน 8 พันล้านบาท จ่ายเงินเพิ่มค่าเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุที่ยากจน ประมาณ 2.3 ล้านคน โดยเดินหน้าขึ้นภาษีบาป 2% คาดได้เงิน 4 พันล้านบาทพร้อมจูงใจผู้สูงอายุที่มีฐานะสละสิทธิ์การรับเงินเบี้ยยังชีพ นำไปสมทบให้ผู้สูงอายุรายได้น้อยอีกประมาณ 4 พันล้านบาท

คนสูงอายุมีสิทธิ์ได้รับเงินเพิ่ม ทั้งนี้ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ผู้สูงอายุ ฉบับที่...พ.ศ....โดยมีสาระสำคัญให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตที่เรียกว่าภาษีบาป อันเกี่ยวข้องกับสุราและยาสูบ เพิ่มขึ้นอีก 2% จากอัตราที่จัดเก็บในปัจจุบัน เพื่อจะนำเงินดังกล่าวเข้ากองทุนผู้สูงอายุ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ ปีละ 4,000 ล้านบาทและนำเงินดังกล่าวไปจัดสรรให้กับผู้สูงอายุที่เป็นคนยากจน เพิ่มเติมจากเบี้ยยังชีพที่ได้รับในปัจจุบันโดยจะต้องเป็นผู้สูงอายุได้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐด้วย

“การที่มีมติในวันนี้เนื่องจากประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย มีผู้สูงอายุจำนวนมาก ในส่วนนี้เป็นผู้ที่มีรายได้น้อย จากการสำรวจผู้มีรายได้น้อยในปีที่แล้ว พบว่ามีผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนรายได้น้อย จำนวน 2.3 ล้านคน จากจำนวนผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยทั้งหมด 3.5 ล้านคน คิดว่าปีนี้จะมีผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้นถึง 3 ล้านคน ผู้สูงอายุและมีรายได้น้อยเหล่านี้มีรายได้ไม่เพียงพอ โดยปกติจะได้รับเบี้ยยังชีพจากรัฐบาลในระดับขั้นบันได โดยคนที่มีอายุ 60-69 ปี จะได้เงิน 600 บาท/เดือน อายุ 70-79 ปี ได้เงิน 700 บาท/เดือน อายุ 80-89 ปี ได้ 800 บาท/เดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไปได้ 1,000 บาท/เดือน กรณีเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เพียงพอในการยังชีพหรือถูกทอดทิ้ง หรือขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูไม่สามารถประกอบอาชีพได้ด้วยตัวเอง จะได้รับเงินสงเคราะห์การยังชีพเพิ่มเติมรายละ 300 บาท ตามกฎเกณฑ์ของกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจ่ายเงินของการสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งรวมแล้วได้ 900-1,300 บาทต่อเดือน ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอ” นายกอบศักดิ์กล่าว

...

นายกอบศักดิ์กล่าวอีกว่า คณะรัฐมนตรีจึงตัดสินใจว่า จะมีการเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นจากส่วนสุรา เบียร์ และยาสูบ นำมาเป็นรายได้เพิ่มเติมให้ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยต่อไป กระทรวงการคลัง จะจัดโครงการให้ผู้ที่มีเบี้ยยังชีพในปัจจุบันบางส่วนหรือผู้สูงอายุที่มีรายได้ดี สามารถบริจาคเบี้ยยังชีพให้กับกองทุนนี้โดยสมัครใจได้ด้วย คาดว่าส่วนนี้จะมีเงินอีก 4,000 ล้านบาท โดยคิดว่าจะมีมาตรการชักจูงใจและเชิดชูผู้ที่เสียสละเงินดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีการจัดเก็บภาษีที่ได้มาจากยาสูบ สุรา เบียร์ ในปี 2559 จำนวน 212,560 ล้านบาท เป็นภาษียาสูบประมาณ 65,400 ล้านบาท ภาษีสุรา 62,000 ล้านบาทและภาษีเบียร์ประมาณ 86,656 ล้านบาท ส่วนการจัดเก็บภาษีบาปเพิ่ม อีก 2% ตามที่ ครม.เห็นชอบวันนี้คงมีผลในต้นปี 2561 เพราะต้องรอให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้เรียบร้อยก่อน

ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯกล่าวด้วยว่า สำหรับสถานะของกองทุนผู้สูงอายุในปัจจุบัน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณไม่มากนัก โดยมีขึ้นตั้งแต่ปี 2553 รัฐได้จัดสรรงบประมาณปี 2558-2560 ให้ประมาณ 1,464 ล้านบาท มีการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อนำไปสนับสนุนโครงการเพื่อผู้สูงอายุ และนำไปสนับสนุนการปล่อยเงินกู้ ให้ผู้สูงอายุให้ประกอบอาชีพปลอดภาษี 3 ปี ประมาณ 1,000 ล้านบาทขณะนี้เงินเหลือประมาณ 465.9 ล้านบาท