ล่าสุดสังคมไทย ไม่เพียงย่างเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ตามต่างจังหวัดยังเกิดภาวะที่นักประชากรศาสตร์เรียกว่า “ครอบครัวข้ามรุ่น” หรือ “ครอบครัวแหว่งกลาง”
“สังคมผู้สูงอายุ” หมายถึง สังคมซึ่งมีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วน ร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมดในสังคมนั้น หรือพูดอีกอย่าง จะมีผู้สูงอายุ 1 คน ในประชากรทุกๆ 5 คน
คาดกันว่า ภาวะนี้จะเกิดขึ้นกับสังคมไทยภายในไม่เกินปี 2568 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า มีผลให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society)
เทียบกับปัจจุบัน ประเทศไทยมีคนแก่หรือประชากรสูงอายุอยู่ราวๆ ร้อยละ 14.5 ของประชากรทั้งประเทศ โดยมีอัตราเพิ่มของผู้สูงอายุเฉลี่ยปีละ 5 แสนราย จึงคาดว่าในอีก 9 ปีข้างหน้า ทั้งประเทศจะมีประชากรสูงอายุจำนวน 14.4 ล้านคน
เคยมีการศึกษาปัญหาการเจ็บป่วยของผู้สูงอายุในเมืองไทยไว้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว พบว่าในผู้สูงอายุ 7 ล้านกว่าคน ร้อยละ 85 หรือประมาณ 6 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุที่ยังสามารถดูแลตัวเองได้ และมีผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง หรือต้องพึ่งผู้อื่นให้ช่วยดูแลอีกร้อยละ 15 หรือประมาณกว่า 1 ล้านคน
โรคภัยไข้เจ็บเรื้อรัง 4 อันดับแรกที่มักจะรุมเร้าเล่นงานผู้สูงอายุเมืองไทย คือ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วนลงพุง และ โรคข้อเสื่อม นอกจากนี้ยังมีผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 70 ที่ สายตาไม่ดี หรือมองเห็นไม่ชัดเจน และอีกเกือบครึ่งหนึ่ง มีปัญหาในการบดเคี้ยวอาหาร เพราะเหลือฟันแท้ในปากไม่ถึง 20 ซี่
ส่วนคำว่า “ครอบครัวข้ามรุ่น” หรือ “ครอบครัวแหว่งกลาง” หมายถึง ครอบครัวที่มีเฉพาะประชากรรุ่นปู่ ย่า ตา ยาย กับรุ่นหลานอาศัยอยู่ด้วยกัน โดยไม่มีคนรุ่นอื่นอาศัยด้วย
...
ภาวะดังกล่าวเกิดจากการที่คนวัยทำงานย้ายถิ่นจากชนบทเข้าสู่เมือง เพื่อไปหางานทำ ครั้นเมื่อคนเหล่านี้มีลูกก็มักจะนำไปฝากไว้ให้ปู่ ย่า ตา ยายช่วยเลี้ยงดู แม้ว่าคนวัยทำงานเหล่านั้นไม่ต้องการจะทอดทิ้งลูกของตนไว้กับปู่ ย่า ตา ยายก็ตาม แต่เพราะความจำเป็นบังคับให้ต้องดิ้นรนทำมาหากินหาเลี้ยงปากท้องและครอบครัว จึงไม่มีปัญญากระเตงลูกไปเลี้ยงดูในขณะที่ตัวเองต้องทำงาน
กาญจนา เทียนลาย นักวิจัยจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า จากการสำรวจภาวะการทำงานของคนไทย ช่วงระหว่างปี 2530-2556 พบว่า ทั้งจำนวนและร้อยละของครอบครัวข้ามรุ่น หรือครอบครัวแหว่งกลางในสังคมไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
เช่น เมื่อปี 2530 สังคมไทยมีครอบครัวประเภทนี้อยู่เพียงร้อยละ 0.95 ปี 2550 ขยับเพิ่มขึ้นไปเป็นร้อยละ 1.97 และเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หรือในปี 2556 สังคมไทยมีครอบครัวแหว่งกลางเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.07
แม้จะดูเหมือนมีความเปลี่ยนแปลงไม่มาก แต่เธอว่าผลกระทบที่ตามมามีความน่าสนใจ
กล่าวคือ ประชากรวัยทำงานที่ย้ายถิ่นมักจะคิดว่าการให้ลูกของตนไปอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย น่าจะเป็นผลดีและปลอดภัยกับลูก ในขณะที่ตัวเองต้องไปทำงานหากินในเมือง
แต่คนเหล่านั้นอาจลืมนึกไปว่า การผลักภาระดังกล่าวไปให้พ่อแม่ของตนช่วยเลี้ยงดูหลาน ทำให้การใช้ชีวิตของปู่ ย่า ตา ยาย ซึ่งล้วนเป็นผู้สูงวัยมีความลำบากมากขึ้น เพราะไหนจะต้องผจญกับปัญหาสุขภาพของตัวเองที่เสื่อมถอยลงตามวัย ยังต้องมาแบกรับภาระเลี้ยงดูหลานอีก
ยิ่งกรณีที่คนเหล่านั้นโยนภาระไปให้พ่อแม่ที่ต่างจังหวัดช่วยเลี้ยงลูกให้ โดยที่ตัวเองไม่ได้ส่งเงินกลับไปช่วยหรือหายเข้ากลีบเมฆ ขาดการติดต่อกับทางพ่อแม่ไปเลย ยิ่งเหมือนผีซ้ำด้ำพลอยให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นมีความยากลำบากแสนสาหัสในการดำรงชีวิตอีกหลายเท่า
ขณะที่ ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ นักวิจัยจากสถาบันเดียวกัน เห็นว่า การเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงอายุที่มักจะกล่าวกันถึงในเรื่องการปรับตัวของสังคม เพื่อรองรับประชากรกลุ่มนี้ที่จะมีทั้งจำนวนและสัดส่วนเพิ่มขึ้นนั้น โดยมากเป็นมุมมองที่รัฐจะให้ความเกื้อหนุนด้วยการสร้างสาธารณูปโภคเพื่อบริการแก่ผู้สูงวัย
เช่น โรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคในผู้สูงอายุ หรือการสร้างและปรับปรุงอาคาร รวมทั้งระบบขนส่งสาธารณะเพื่ออำนวยความสะดวกและให้สอดคล้องกับความเสื่อมถอยของสุขภาพ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตและเดินทางด้วยตนเองอย่างไม่ลำบาก
แต่ในอีกมุมหนึ่ง เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ประกอบการผลิตสินค้าต่างๆ ยังต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการเปลี่ยนไปตามวัยที่สูงขึ้นด้วย
เธอยกตัวอย่างพฤติกรรมการบริโภค หรือจับจ่ายใช้สอยของครอบครัว สะท้อนถึงลักษณะของสมาชิกแต่ละครอบครัว เช่น ครอบครัวที่มีเด็กเล็กมักต้องการนมผงสูตรที่เหมาะกับวัย เสื้อผ้า และผ้าอ้อมสำเร็จรูป สำหรับเด็ก
“ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุก็เช่นกัน ต้องการทั้งอาหารและของใช้ส่วนตัวที่เหมาะกับวัย เช่น ผ้าอ้อมสำเร็จรูปของผู้ใหญ่ ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และมีรูปแบบการใช้ชีวิตที่ต้องการความสะดวกสบาย แถมยังมีเบี้ยยังชีพ และเงินออมไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ ประชากรสูงอายุจึงเป็นอีกกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพในการซื้อ”
ดร.จงจิตต์บอกว่า การสำรวจพฤติกรรมการบริโภคด้วยการศึกษาจากสินค้าในตะกร้าช็อปปิ้งของผู้สูงอายุ จึงเป็นการทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคได้โดยตรง
เธอยกตัวอย่าง สำหรับผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในเมือง มีความต้องการในสินค้าบางประเภทเพิ่มขึ้น เช่น นม ผู้บริโภคสูงวัยมีความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นถึง 1.4% อาหารสุนัข และ แมว มีความต้องการเพิ่มขึ้น 0.8% ข้าวสารบรรจุถุง 0.6% เครื่องดื่มรังนก และ ซุปไก่สกัด 0.5% ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ซักผ้า และ โปรตีนชนิดแคปซูล 0.5% เครื่องดื่มชูกำลัง 0.4% โลชั่นทาผิว และ น้ำผลไม้ มีความต้องการเพิ่มขึ้น 0.3% เป็นต้น
...
ในขณะที่สินค้าบางอย่างในกลุ่มประชากรสูงอายุมีแนวโน้มความต้องการลดลง เช่น บุหรี่ ลดลง 0.3% ยาสีฟัน และ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ลดลง 0.2% น้ำมันพืช ไวน์ สบู่ ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย และ ผงชูรส มีความต้องการซื้อลดลง 0.1%
ยกเว้น ไข่ไก่ กับ ครีมเทียม ผู้บริโภคสูงวัยยังมีความต้องการทรงตัว ดร.จงจิตต์อธิบายว่า ไม่เพียงครอบครัวที่มีผู้สูงอายุมีความต้องการบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพและอาหารเสริมเพิ่มขึ้น การที่ผู้สูงอายุมักจะเลี้ยงสุนัขและแมวไว้เป็นเพื่อนคลายเหงา ยังมีส่วนทำให้ตลาดอาหารสัตว์เติบโตอัตราสูงในผู้บริโภคกลุ่มนี้ สวนทางกับความต้องการสินค้าในกลุ่มบั่นทอนสุขภาพที่ลดลง
“การที่ผู้บริโภคสูงอายุซื้อของใช้ประจำวัน เช่น ยาสีฟัน สบู่ และน้ำยาระงับกลิ่นกายน้อยลง อาจเป็นเพราะความไม่สะดวกในการอาบน้ำ หรือความจำเป็นที่ต้องทำกิจกรรมนอกบ้านลดลง จึงทำให้จำนวนครั้งในการอาบน้ำต่อวันลดลงตาม หรือกรณีของสุขภาพช่องปาก ซึ่งวัดโดยจำนวนฟันที่ใช้ในการบดเคี้ยวอาหารเหลือน้อยลง อาจมีส่วนทำให้ปริมาณยาสีฟันที่ใช้ลดลงตามไปด้วย”
อย่างไรก็ตาม เธอตั้งข้อสังเกตว่า การศึกษาวิจัยข้างต้นเป็นการศึกษาจากตะกร้าสินค้าของผู้สูงอายุที่ยังมีสุขภาพดี และสามารถออกจากบ้านไปซื้อของเองได้ ยังไม่รวมถึงความต้องการสินค้าของผู้สูงวัยที่มีความลำบากในการเคลื่อนไหว
รู้อย่างนี้แล้วก่อนจะถึงปี 2568 วันที่สังคมไทยเต็มไปด้วยประชากรสูงวัยพรึบไปทั้งเมือง ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงควรเตรียมพร้อมรับมืออย่างเข้าใจกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นไว้แต่เนิ่นๆ.