กรณีโครงการจัดซื้อจัดจ้างตามแผนปฏิบัติราชการกลุ่มจังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตอ้อย (ซื้อปุ๋ยอินทรีย์) ใช้งบประมาณเหลือจ่ายกลุ่มจังหวัดรวม 5,800,000 บาท ดำเนินการใน 6 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ ในสมัยที่นายภุชงค์ โพธิกุฏสัย เป็น ผวจ.กาฬสินธุ์ ที่ อ.สมเด็จ นายพรชัย ประชุมแดง ปลัดอาวุโสรักษาราชการแทนนายอำเภอสมเด็จไม่ยอมเซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษกับ อ.ต.ก.ผู้ชนะการเสนอราคาขายปุ๋ย กก.ละ 9.90 บาท ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งขัน 10 สตางค์ จากราคากลางที่ตั้งไว้ กก.ละ 10 บาท และเกรงว่าจะมีปัญหาตามมาภายหลัง กระทั่งนายพรชัยถูกอดีต ผวจ.กาฬสินธุ์สั่งย้ายวันเดียว 2 คำสั่ง และถูกตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง โดยนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ หัวหน้าศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ ในขณะนั้นชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวเป็นไปด้วยความสุจริต โปร่งใส ขณะที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจพบว่าราคาปุ๋ยที่ทางการซื้อสูงกว่าท้องตลาดนั้น
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 30 ต.ค. นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบโครงการดังกล่าวว่า การตรวจสอบโครงการจัดซื้อปุ๋ยอินทรีย์ของ จ.กาฬสินธุ์ ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร เรื่องนี้ต้องเอาให้ถึงต้นตอคู่สัญญาด้วยว่าได้ปุ๋ยมาอย่างไร ผลิตเองหรือไม่ ไปซื้อใครมา คุณภาพอย่างไร ผู้ซื้อสำรวจราคาและได้ต่อรองราคาหรือไม่ ทาง สตง. ได้สอบปากคำผู้เกี่ยวข้องและรวบรวมหลักฐานโครงการนี้เกือบจะสมบูรณ์แล้ว
“ปุ๋ยเป็นสินค้าควบคุมต้องติดราคาให้ทราบ หากสรุปแล้วพบผิดปกติอย่างไร ข้าราชการที่เกี่ยวข้องคงหนีไม่พ้นความรับผิดชอบ ขอเตือนไปยังข้าราชการทั้งหลาย การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินต้องซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ อย่าคิดทุจริตต่อภาษีชาติโดยเด็ดขาด ทุกโครงการล้วนเป็นเม็ดเงินภาษีของชาวบ้าน ประโยชน์ต้องเกิดกับประชาชน สมมติมีเงิน 100 บาท แทนที่จะซื้อปุ๋ยตามท้องตลาดได้ 2 กระสอบ กลับซื้อได้เพียงครึ่งกระสอบ ส่วนต่างหายไปไหน โครงการซื้อปุ๋ยอินทรีย์ที่ จ.กาฬสินธุ์ ได้ให้ จนท.สรุปรายงานให้ทราบภายใน 15 วัน และจะมีการแถลงให้ทราบ โดยมีหลักฐานสำคัญเกี่ยวกับราคาปุ๋ย” ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวในที่สุด.
...