ทุกครั้งที่เกิดเหตุร้าย ไม่ว่าจะเป็น ลัก จี้ ชิง ปล้น หรือ คนร้ายก่อเหตุครั้งใหญ่ คำถามแรกที่คนในปัจจุบันนึกถึงคือ “เรามีภาพวงจรปิดหรือไม่” และ หลายๆ ครั้งก็มักจะได้คำตอบว่า "กล้องเสีย" ...
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เกิดขึ้นมาซ้ำซากจนคนทั่วไปรู้สึกระอา เมื่อครั้นเกิดเหตุระเบิดทั่วกรุงเทพฯ ปี 2549 สมาคมวิสาหกิจแยกราชประสงค์ ยังได้ทุ่มเงิน 20 ล้าน ติดตั้งกล้องวงจรปิด โดยจะเชื่อมสัญญาณไปที่ศูนย์บัญชาการตำรวจนครบาล 5 และครั้งนี้ก็เช่นกัน เหตุระเบิดที่ราชประสงค์ ผู้คนก็ต่างพุ่งความหวังไปที่กล้องวงจรปิดของ กทม. แต่ก็ได้รับคำตอบที่ไม่น่าประทับใจเช่นเดิม เพราะเจ้าหน้าที่รัฐต้องถามหาภาพจากกล้อง กทม. ที่ได้มาอย่างไม่ "ประติดประต่อ"
ขณะที่ “ผู้รับผิดชอบโดยตรง” อย่าง กทม. เคยอนุมัติเงิน 230 ล้านบาท ซื้อกล้องวงจรปิด 1,700 ตัว เมื่อช่วงปี 2552 นอกจากนี้ยังใช้เงินอีก 426 ล้านบาท ตั้งศูนย์บริหารจัดการด้วย ซึ่งการซื้อกล้องและตั้งศูนย์ครั้งนั้น สืบเนื่องจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบายจะติดตั้งกล้องวงจรปิด 2 หมื่นตัว ภายในระยะเวลา 4 ปี
...
การจัดซื้อโดยใช้ระบบ อี-ออกชั่น (ประมูลราคาผ่านระบบอินเทอร์เน็ต) รวม 3 สัญญา คือ 1. งานติดตั้ง CCTV รวมอุปกรณ์ทำงานใน 10 เขต จำนวน 533 กล้อง 2. งานติดตั้ง CCTV รวมอุปกรณ์ทำงาน 28 เขต จำนวน 490 ตัว และ โครงการ CCTV แบบสแตนด์อโลนเพิ่มเติมอีก 676 กล้อง รวมงบ 230 ล้านบาท
การซื้อครั้งนั้น ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ทุกอย่างผ่านสะดวก
แต่ปี 2554 มีคนตาดีเห็นกล้องวงจรปิดมีแต่กล่อง จนทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องออกมาเฉลยว่า แท้จริงคือ “กล้องดัมมี่” ซื้อในสมัย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จากพรรคประชาธิปัตย์ โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มารับช่วงต่อ
กล้องกลวง...ที่ นายอภิรักษ์ ซื้อ ทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดหวัง แทนที่จะติดกล้องจริง แต่ดันมาติดกล้องกลวงแบบนี้ “มีประโยชน์อะไร” ในเวลาต่อมา 2 ผู้ว่าฯ กทม. จากฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องออกมาชี้แจงให้วุ่น
“ยอมรับว่าการติดกล้องดัมมี่ ได้ดำเนินการจริงในช่วงปี 2550 เพราะตอนนั้นได้เกิดเหตุระเบิดหลายจุดในพื้นที่ กทม. ตอนนั้น กทม. มีกล้องวงจรปิด เพียงหลัก 100 ตัวเท่านั้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเสนอให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเพื่อความมั่นคง แต่มีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงได้ออกสำรวจและติดตั้งกล้องเปล่าเพื่อกำหนดจุดติดตั้ง” อดีตผู้ว่าฯ กทม. ฉายา หล่อเล็ก กล่าว
วันต่อมา “ชายหมู” ก็ตั้งโต๊ะแถลงไข เปิดเผยข้อมูลว่า กล้องชุดนี้ได้ทำการยกร่างประกวดราคาจัดซื้อ (ทีโออาร์) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2550-2551 ใช้งบประมาณ 330 ล้านบาท กล้องจริง 2,046 ตัว กล้องดัมมี่ 1,325 ตัว ขณะนี้ถอดออกแล้วเหลือ 500 ตัว
ส่วนราคานั้น กล้องจริงตัวละ 34,000-130,000 บาท ส่วนกล้องปลอมตัวละ 2,500-2,700 บาท เป็นการติดตั้งเพื่อป้องปรามอาชญากรรมและก่อการร้าย เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษที่ติดกล้องหลอกถึง 5 หมื่นตัว
“หากพรรคเพื่อไทยจะตรวจสอบ ผมยินดีครับ ช่วยกันตรวจสอบหน่อย แห่กันมาเลย จะได้จบๆ เอาเวลาไปทำอย่างอื่น” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว
...
เมื่อบอลมาเข้าเท้า มีหรือเพื่อไทยจะปล่อย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้เข้าร้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ หลังพบว่าอาจไม่โปร่งใส
“ต้องการให้ดีเอสไอตรวจสอบกล้องวงจรปิด ซึ่งตั้งเป็น “กล้องลวงโลก” ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่สบายใจ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า กล้องวงจรปิดในเขตบึงกุ่มที่ใช้ไม่ได้มากที่สุด มากถึง 28 ตัว และขอเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะ นายกรัฐมนตรีเงา ร่วมตรวจสอบ อย่าปกป้องพวกพ้องตัวเอง” นายพร้อมพงศ์กล่าว เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 54
ทั้งนี้ พรรคเพื่อไทย ได้เรียกร้อง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น 30 หน่วยงาน และ พรรคประชาธิปัตย์ ตรวจสอบใน 3 ประเด็น คือ 1. คาดว่ามีการฮั้วประมูล 2. คาดว่ามีการชักเปอร์เซ็นต์กว่า 25 เปอร์เซ็นต์ และ 3. ประสิทธิภาพของกล้องไม่ตรงกับสเปคที่ประกาศประกวดราคา
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ออกมาตอบโต้ทันควันว่า เรื่องการตรวจสอบก็ขอให้ตรวจสอบไป แต่เรื่องกล้องพรางนั้น เป็นสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เริ่มไว้ที่ภาคใต้ โดยเป็นกล้องจริง 3,000 ตัว กล้องพราง 7,000 ตัว
...
อย่างไรก็ดี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ก็ออกมาท้าทายว่า หากพบว่า “ผิดจริง” ก็พร้อมที่จะ “รับผิดชอบ” กระทั่ง นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้ลงนามในหนังสือ ที่ ยธ.(ศ.สร.) 08163/0660 ส่งเรื่องมายัง ป.ป.ช. โดยสรุปการการจัดซื้อจัดจ้างติดตั้งกล้องวงจรปิด 6 โครงการตั้งแต่ปี 2550-2553 พบว่ามีประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างสายเคเบิลเส้นใยนำแสงสูงเกินกว่าหน่วยราชการอื่น ทำให้รัฐเสียหาย 120 ล้านบาท
สุดท้ายมีการเปิดเผยจาก นายชนินทร์ รุ่งแสง ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ.วิสามัญตรวจสอบข้อเท็จจริงการติดตั้งกล้องวงจรปิด ที่มี นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน ระบุว่า การติดตั้งกล้องพรางบางจุด ยังไม่พบว่ามีพยานหลักฐานบ่งชี้ว่ามีการทุจริต
กทม. ได้ซื้อกล้องวงจรปิดด้านความปลอดภัย 4 โครงการ ตั้งแต่ปี 2550-2552 ได้แก่ 1. ติดตั้งเสาเชื่อมสัญญาณไปยังสำนักงานเขตพระนครและเขตดุสิต 106.9 ล้านบาท 2. จ้างเหมาติดตั้งซีซีทีวีในพื้นที่ 1 มูลค่า 67.8 ล้านบาท 3. เหมาติดตั้งซีซีทีวีในพื้นที่ 2 มูลค่า 66.7 ล้านบาท และ 4. จ้างเหมาติดตั้งซีซีทีวีในพื้นที่ กทม. อื่น 86.6 ล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการ ตัวแทน กทม. อ้างว่า ผู้แทนจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ก็ให้ความเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสมแล้ว
...
ทั้งนี้ ผลการรายงานของกมธ. สรุปข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ อาทิ ไม่ควรมีกล้องอำพรางอีกต่อไป ให้ NECTEC ดูราคากลางต่อไป และนำความเห็นส่ง ป.ป.ช.
ด้วยเหตุนี้ มหากาพย์ กล้องดัมมี่ ที่ติดเพื่อ "หลอกโจร" จึงจบลง...
สำหรับวันพรุ่งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะเปิดเผยข้อมูลกล้องวงจรปิดของ กทม. ฮาร์ดดิส ของ กทม. แพงหูฉี่จริงหรือไม่ แล้วปัจจุบัน CCTV ที่ใช้อยู่สเปคกล้องเป็นอย่างไร เรามีคำตอบทุกเรื่อง!