แบงก์ออมสิน ช่วย ตร.อุดรธานี แนะ หาเงินโปะหนี้ไม่คิดดอกเบี้ย แย้มช่วยได้บางส่วน บางส่วนต้องให้สหกรณ์ฯมาช่วย ด้วยการนำเงินมาโปะหนี้เงินต้น 

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 18 สิงหาคม ที่ห้องประชุมกองบังคับการตำรวจภูธร จ.อุดรธานี พล.ต.ต.ชัยญัติ สายถิ่น ผบก.ภ.จ.อุดรธานี พร้อมด้วย รอง ผบก.ภ.จ.อุดรธานี นายชยพล มบูรณ์ ผช.ผอ.ฝ่ายสินเชื่อ ธนาคารออมสิน และฝ่ายสินเชื่อ พร้อมตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจอุดรธานี ร่วมประชุมหาแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ของตำรวจภูธรอุดรธานี เฉพาะ 13 นาย ยศ ด.ต.-ร.ต.ท. อยู่ระหว่างถูกฟ้องล้มละลาย ถูกอายัดเงินเดือนแล้ว 5 นาย ส่วนตำรวจ 5 นาย ที่ล้มละลาย และถูกปลดออก ไม่ได้นำมาพิจารณา

โดยมีการตรวจสอบหนี้สิน ของตำรวจที่ถูกฟ้องล้มละลาย 13 นาย พบว่า เป็นหนี้กับธนาคารออมสิน รายละ 9.2 แสนบาท – 2.2 ล้านบาท รวมเงินต้น 19.8 ล้านบาท ดอกเบี้ยรายละ 0-6.3 แสนบาท รวมดอกเบี้ย 3.9 ล้านบาท รวมเป็นหนี้ธนาคารออมสิน 23.7 ล้านบาท ส่วนสหกรณ์ฯ เป็นหนี้ รายละ 4 แสน – 1.3 ล้านบาท รวมหนี้สหกรณ์ฯ 13.1 ล้านบาท ขณะที่มีหุ้นสหกรณ์เพียง 5.6 ล้านบาท หรือ รวมเป็นหนี้ทั้ง 2 แห่ง 36.8 ล้านบาท ซึ่งมีภาระต้องส่งหนี้ เดือนละ 21,000-35,000 บาท

นายชยพล กล่าวว่า การฟ้องล้มละลายเป็นไปตามกติกา ไม่ใช่มีแต่ ตำรวจ ครู และข้าราชการหน่วยงานอื่น ๆ ก็ถูกฟ้องเช่นกัน ที่ผ่านมา ก่อนจะมีการฟ้องก็ให้เวลาเจรจา ก่อนจะมีการพิทักษ์ทรัพย์ 2-3 ปี ธนาคารช่วยมาตลอด ซึ่งผู้กู้เข้ามารับปากทำข้อตกลง แต่ส่วนใหญ่ไม่ทำตาม หากถอนฟ้องจะต้องเสนอต่อบอร์ด ให้เห็นชอบเป็นรายๆ ไป สำหรับตำรวจทั้ง 13 นาย สามารถแก้ไขได้บางส่วนแล้ว บางส่วนต้องให้ทางสหกรณ์ฯเข้ามาช่วย ด้วยการนำเงินมาโปะหนี้เงินต้น ธนาคารจะตัดดอกเบี้ยออกทั้งหมด เพราะการฟ้องล้มละลายทำได้ครั้งเดียว

...

พล.ต.ต.ชัยญัติ สายถิ่น ผบก.ภ.จว.อุดรธานี กล่าวว่า มีตำรวจล้มละลายถูกปลดไปแล้ว 5 นาย มีอีก 13 นาย อยู่ในระหว่างการถูกฟ้องล้มละลาย และอีก 168 นาย ที่อยู่ในข่ายที่จะถูกฟ้องล้มละลาย ที่ผ่านมา ได้ร่วมกับสหกรณ์ฯหาทางเยียวยา แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะติดที่ถูกฟ้องเป็นเลขคดีดำ หลังจากพุดคุยกับวันนี้มีแนวทางมากขึ้น จึงจะเรียกตำรวจทั้ง 13 นาย พร้อมภรรยา มาคุยสอบถามความชัดเจน เรื่องหนี้สินอื่นมีอีกหรือไม่ และเท่าไหร่ หากจะต้องหาเงินไปโปะหนี้ออมสินจะทำอย่างไร

“ สหกรณ์ฯมีเพดานเงินกู้ 2 ล้านบาท หากจะกู้เกินไปโปะหนี้ ต้องแก้ระเบียบ และขยายการผ่อนชำระออกไปหลังเกษียณ หากทำได้ก็จะเร่งเดินหน้ากู้เงินสหกรณ์ฯ เมื่อโปะหนี้ธนาคารจะรีบถอนฟ้อง ตำรวจจะได้เป็นหนี้กับสหกรณ์ฯ เพียงแห่งเดียว หรือ หากโปะไม่หมด ก็จะดูจากฐานเงินเดือนว่า พอจะผ่อนชำระธนาคารได้เท่าไหร่ จ่ายสหกรณ์ได้เท่าไหร่ รวมถึงตัวผู้ค้ำที่ถูกฟ้อง จะต้องร่วมพูดคุยกับผู้กู้ด้วย ”