โครงการทางพิเศษกะทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นับเป็นโครงการแรกที่ กทพ.จะก่อสร้างในเขตภูมิภาค อีกทั้งเป็นโครงการแรกที่จะก่อสร้างเป็นอุโมงค์สำหรับทางพิเศษลอดภูเขา เชื่อมการเดินทางระหว่างเมืองกะทู้ กับชายหาดป่าตอง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดภูเก็ต

ดังนั้น กทพ.จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องการบริหารจัดการ และเรียนรู้เทคนิคการก่อสร้าง โดยเมื่อเร็วๆนี้ กทพ. ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญการก่อสร้างอุโมงค์สำหรับทางพิเศษจากประเทศญี่ปุ่น มาถ่ายทอดประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างคนในองค์กรและภายนอก เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และศักยภาพการทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บริษัท West Nippon Expressway Engineer Chugoku จำกัด หรือ NEXCO E.C. ผู้เชี่ยวชาญการก่อสร้างทางพิเศษและอุโมงค์สำหรับทางพิเศษจากประเทศญี่ปุ่น แนะนำว่า การก่อสร้างอุโมงค์สำหรับทางพิเศษ สิ่งแรกที่จะต้องคำนึงก็คือ เรื่องความปลอดภัยทั้งในระหว่างก่อสร้างและหลังการเปิดใช้ จะต้องวางระบบการบริหารจัดการ ควบคุม ดูแล และติดตาม อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การติดตั้งระบบเซ็นเซอร์ตรวจวัดการเคลื่อนตัวของอุโมงค์ ระหว่างการก่อสร้าง เครื่องตรวจวัดมลพิษและปริมาณจราจรในอุโมงค์ กรณีมีปัญหาระบบจะส่งสัญญาณแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุมเพื่อแก้ไขหรือให้การช่วยเหลือโดยเร่งด่วน

...


ทั้งนี้ การทำสัญญาก่อสร้างกับผู้รับจ้างมีส่วนสำคัญมาก ต้องทำให้รัดกุม เนื่องจากเป็นการทำงานในอุโมงค์ โอกาสเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดค่อนข้างสูง จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการทำงานมากกว่าปกติ ต้องพิจารณาจากประสบการณ์การทำงานและความรับผิดชอบ รวมถึงการบริหารจัดการก่อนและหลังการก่อสร้าง เช่น วิธีการก่อสร้าง การขนส่งวัสดุอุปกรณ์ การลำเลียงเศษดิน หิน จากการเจาะอุโมงค์ไปทิ้ง หรือไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เป็นต้น

สำหรับเทคนิคการก่อสร้างอุโมงค์สำหรับทางพิเศษ ปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนาวิธีการขุดเจาะอุโมงค์โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยลักษณะของอุโมงค์จะเป็นรูปเกือกม้า มากกว่าวงกลม เนื่องจากพื้นอุโมงค์จะเป็นผิวจราจรสำหรับให้รถวิ่ง ส่วนวิธีการเจาะอุโมงค์นั้น ต่างจากอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดิน หรืออุโมงค์ส่งน้ำที่ส่วนใหญ่เจาะผ่านดินอ่อน สามารถใช้หัวเจาะเพื่อขุดเจาะต่อเนื่องได้แต่อุโมงค์ที่เจาะลอดผ่านภูเขา พื้นที่เป็นดินแข็งและหิน จะใช้สว่านเจาะบริเวณตำแหน่งที่จะก่อสร้าง เปิดทางก่อน จากนั้นจะฝังระเบิดรอบๆจุดที่เจาะไว้ เพื่อระเบิดหิน ได้ระยะทางประมาณ 2-3 เมตร/ครั้ง รัศมีกว้างของอุโมงค์ประมาณ 10 เมตร

จากนั้นใช้คอนกรีตฉาบหนังอุโมงค์ ตามด้วยน้ำยากันซึม แล้วติดตั้งโครงเหล็กรอบผนัง พร้อมกับฉีดคอนกรีตทำเป็นผนังอุโมงค์ โดยทำแบบนี้ไปเรื่อยๆจนทะลุปากอุโมงค์อีกด้าน จากเดิมการเจาะอุโมงค์ลอดภูเขา จะใช้ไฟเผาหินให้ร้อนจากนั้นใช้น้ำเย็นราดเพื่อให้หินเปราะและแตกออกแล้วสกัดให้เข้ารูปตามแบบที่วางไว้ การก่อสร้างจึงใช้เวลานานและค่อนข้างเสี่ยงต่อการที่อุโมงค์จะถล่มลงมา

สำหรับรูปแบบทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง ก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ช่วงกลางเส้นทางมีอุโมงค์ทางลอด รวมระยะทาง 3.98 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมต่อถนนพระเมตตา ตำบลป่าตอง อำเภอกะทู้ เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจรต่อทิศทาง แบ่งเป็นสำหรับรถยนต์ 2 ช่อง และรถจักรยานยนต์ 2 ช่อง แนวสายทางยกระดับข้ามถนนพิศิษฐ์กรณีย์ จนถึงเขานาคเกิด จากนั้นเป็นอุโมงค์ลอดเขานาคเกิด ระยะทาง 1.85 กิโลเมตร

ลักษณะอุโมงค์เป็นอุโมงค์คู่ แยกทิศทางการจราจร ระหว่างอุโมงค์จะมีทางเชื่อมสำหรับเบี่ยงการจราจร กรณีเกิดอุบัติเหตุภายในอุโมงค์ หลังจากผ่านช่วงภูเขาจึงเป็นทางยกระดับ สิ้นสุดในพื้นที่ตำบลกะทู้ บริเวณจุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 อาคารด่านเก็บเงินจะตั้งฝั่งกะทู้

ล่าสุดการศึกษาออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว รออนุมัติ EIA ทั้งนี้ ประชาชนในและนอกพื้นที่ต่างให้การสนับสนุนโครงการ ซึ่งทาง กทพ.ตั้งเป้าจะเริ่มก่อสร้างประมาณกลางปี 2559 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยให้นักท่องเที่ยวเดินทางสะดวก และแก้ปัญหาจราจรติดขัดบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029.