กรมอุตุฯ เตือนหลายจังหวัดระวังน้ำท่วมฉับพลัน ตากพื้นที่เสี่ยงภัย เร่งระบายน้ำที่กักเก็บกว่า 79 เปอร์เซ็นต์ออกนอกพื้นที่ หวั่นกระทบย่านเศรษฐกิจ ขณะที่ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ ฝนตกหนัก ตลิ่งริมแม่น้ำน่านทรุด วอนหน่วยงานเร่งช่วยเหลือ

หลังจาก กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศเตือนหลายจังหวัดให้ระวังน้ำท่วมฉับพลัน โดยเมื่อวันที่ 15 ส.ค.58 นายดุสิต แสงสุคนธ์ ผอ.ชลประทานตาก เปิดเผยว่า จังหวัดตากเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เพราะขณะนี้ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอด อำเภอแม่สอด มีน้ำกักเก็บกว่า 79 เปอร์เซ็นต์ ต้องระบายน้ำทิ้งวันละ 3 แสนลูกบาศก์เมตร เพราะหากปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นจะสร้างผลกระทบกับย่านเศรษฐกิจในตลาดแม่สอด เนื่องจากน้ำที่ระบายจะต้องผ่านเข้าเมืองแม่สอดก่อนทะลุออกแม่น้ำเมย

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอด มีน้ำกักเก็บทั้งสิ้น 4,384,000 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 79.70 เปอร์เซ็นต์ของความจุ เมื่อวานนี้( 14 ส.ค.) มีน้ำไหลเข้าอีก 515,000 ลูกบาศก์เมตร ระบายออกวันละ 300,000 ลูกบาศก์เมตร ในขณะที่คลองระบายน้ำเทศบาลนครแม่สอดที่รองรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอด ก็ต้องรีบเร่งระบายน้ำออกไปนอกเมืองเพราะกลัวจะมีฝนตกลงซ้ำ น้ำอาจท่วมตลาดแม่สอด

...

ส่วนสถานการณ์น้ำเขื่อนภูมิพล มีน้ำไหลเข้าต่อเนื่อง ปัจจุบันมีน้ำกักเก็บทั้งสิ้น 4,174 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 31.01 เปอร์เซ็นต์ มีน้ำใช้การได้ 374 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 3.88 เปอร์เซ็นต์ วานนี้มีน้ำไหลเข้า 18.05 ล้าน ลบ.ม. ระบาย 5 ล้าน ลบ.ม.

ขณะที่บริเวณบ้านดง หมู่ที่ 6 ต.วังกะพี้ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์ เมื่อคืนที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนัก จนทำให้ตลิ่งริมแม่น้ำน่านที่มีความสูงกว่า 15 เมตร ทรุดตัวลง พังเสียหายยาวเกือบ 150 เมตร จนเป็นเหตุให้ดินริมตลิ่งดังกล่าวเริ่มทรุดตัวเข้าหาบ้านเรือนของประชาชน ทั้งนี้ สืบเนื่องจากสาเหตุน้ำกัดเซาะกินเนื้อที่ริมตลิ่งเมื่อเดือนกันยายน 2557 จนมีชาวบ้านจำนวน 2 ครัวเรือน ต้องรื้อบ้านหนี ล่าสุดตลิ่งกลับมาทรุดลงและกินเนื้อที่เพิ่มเข้ามามากกว่าเดิม จนเป็นโพรง ทำให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว

นายพศวัฒน์ ยิ้มนิยม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและเจ้าของบ้านที่รื้อหนีตลิ่งทรุด กล่าวว่า ทางจังหวัดเคยเข้ามาตรวจสอบพร้อมหางบป้องกันตลิ่งพังให้ตั้งแต่ปี 57 ที่ผ่านมา โดยส่งนายช่างโยธามาออกแบบในลักษณะเรียงหินและมีบันไดพร้อมทำลานออกกำลังกาย ภายใต้งบประมาณที่ต้องใช้จำนวน 42 ล้านบาท พร้อมเสนอไปทางส่วนกลางไปเมื่อปี 2557 แต่ก็เงียบหายไป เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ทางส่วนกลางกรุงเทพฯ ได้โทรติดต่อมาว่าให้ส่งรูปบ้านและตลิ่งพังไปให้และได้อนุมัติงบแล้ว 20 ล้านบาท แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมาทำตอนไหน เมื่อฝนตกหนักก็ยังคงทำให้ชาวบ้านอีก 10 หลังคาเรือน ต้องอยู่อย่างหวาดผวา