ใบเหลืองอียู กระทบหนักธุรกิจต้นน้ำ เรือประมงสมุทรสาครที่ไร้อาชญาบัตรต้องหยุดเดิน ผู้ประกอบการขาดทุนหนี้สินเพิ่มสูงขึ้น ซ้ำร้าย! ยังกระทบไปจนถึงธุรกิจต่อเนื่องอย่างโรงงานน้ำแข็งที่เกือบจะล้ม จากรายได้ที่ถดถอยน้อยลง
"สมุทรสาคร" เมืองประมง ดงโรงงาน ย่านอุตสาหกรรม เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบหลังจากที่รัฐบาลเริ่มมีมาตรการคุมเข้มเอาผิดกับเรือประมงที่ผิดกฎหมาย ปัญหาส่วนใหญ่ คงหนีไม่พ้นเรื่องของอาชญาบัตร หรือใบอนุญาตการใช้เครื่องมือประมง และอุปกรณ์ที่ไม่เป็นไปตามหลักมาตรฐานสากล จึงส่งผลให้ธุรกิจต้นน้ำ อย่างประมง หรือแม้กระทั่งธุรกิจต่อเนื่องอย่างโรงน้ำแข็ง ต้องแย่ลงไปตามๆ กัน
หลังจากที่ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้นำเสนอถึงที่มาที่ไปของใบเหลืองอียูและชะตาการส่งออกของสินค้าประมงไทยให้ทราบไปแล้วนั้น ในตอนนี้ทีมข่าวฯ ได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจองค์การสะพานปลา จ.สมุทรสาคร ร่วมพูดคุยกับชาวประมงและเจ้าของธุรกิจต่อเนื่อง ถึงความเดือดร้อนและผลกระทบที่ได้รับจากการแก้ปัญหา พร้อมเปิดมุมมองของคนที่ทำอาชีพนี้โดยตรงมากว่า 20 ปี ว่า เกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาเหล่านี้! สุดท้ายทางออกของปัญหานี้จะเป็นอย่างไร
...
เสียงสะท้อน เรือประมงอวนลาก สมุทรสาคร
เจ้าของเรือประมงผู้ได้รับผลกระทบรายหนึ่ง ในพื้นที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร ให้สัมภาษณ์ว่า ทำอาชีพประมงมานานกว่า 20 ปี โดยอาศัยความรู้เพียงแค่ ม.3 ในการบริหารงานทุกอย่าง ทางครอบครัวและบรรดาญาติๆ เอง ก็ยึดอาชีพนี้เป็นหลักเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตให้อยู่รอดได้ในแต่ละวัน
เมื่อถามว่า ในการออกเรือแต่ละครั้งมีความคาดหวังในปริมาณสัตว์น้ำมากน้อยแค่ไหน เจ้าของเรือประมงผู้ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า หวังเพียงแค่ให้สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ก็เพียงพอแล้ว เพราะคนที่ทำประมงมีทุกรูปแบบ ทั้งทำแล้วฐานะดีขึ้นก็มี ทำพอเลี้ยงครอบครัวก็มี ทำแล้วปิดกิจการไปก็มี เพราะฉะนั้นชาวประมงไม่ได้รวยอย่างที่คิด
ที่ผ่านมายอมรับว่า ใช้เรือประมงที่ผิดกฎหมาย ซึ่งก็คือ เรืออวนลาก แต่ก็มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องมาโดยตลอด แต่ล่าสุดเมื่อปี 2556 รัฐบาลไม่ต่ออาชญาบัตรให้ ก็ไม่สามารถออกเรือหาปลาได้เช่นเดิม ตกอยู่ในภาวะขาดทุนบวกกับหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้น
"การมีเรือประมงหนึ่งลำเทียบกับการมีที่นาหนึ่งผืน ปีนี้ปลูกข้าวไม่ได้ผล ปีหน้าก็เปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่น แต่เรือประมงมันเปลี่ยนไม่ได้ เปลี่ยนแล้วมันขาดทุน ใครอยากจะเปลี่ยนไปทำ"
หากเปรียบเทียบระหว่างช่วงน้ำมันแพงกับตอนนี้ที่มีการกีดกันชาวประมงเรืออวนลากว่าห้ามออกจับสัตว์น้ำเด็ดขาดนั้น ช่วงไหนที่ได้รับผลกระทบหนักกว่ากัน?? ผมคิดว่า ช่วงนี้หนักสุด เพราะถึงแม้ในช่วงที่ราคาน้ำมันแพงแต่เรามีความชำนาญในการจับสัตว์น้ำก็พอจะสู้ไหว หากเป็นตอนนี้ถึงจะมีฝีมือแต่ออกเรือไม่ได้ ก็จบ ไม่มีรายได้อีกต่อไป ก็คงต้องขายเรือทิ้ง
"ถามว่าประมงทำลายล้าง เราจะทำลายล้างเพื่ออะไร เพราะสุดท้ายคนที่ได้รับผลกระทบก็คือ ชาวประมงเอง เนื่องจากมีเขตจับปลา 3 ไมล์ห้ามลาก ก็เข้าไปไม่ได้อยู่แล้ว เราก็ต้องการที่จะทำประมงให้ยั่งยืนเหมือนกัน ไม่ต้องการที่จะทำเพื่อทำลายล้าง ถ้าวันนี้สัตว์น้ำน้อย วันข้างหน้าก็กระทบเราอยู่ดี สิ่งที่เราเรียกร้องไม่ใช่เงินเพื่อมาชดเชย ไม่ใช่เงินมาเยียวยา ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เพราะว่ารัฐไม่ออกอาชญาบัตร ก็ทำอะไรไม่ได้ เรือที่ผิดก็ผิดอยู่อย่างนั้น"
เจ้าของเรือประมงคนเดิม กล่าวต่อว่า รัฐบาลบอกว่าให้เวลาแล้ว แต่ไม่ยอมทำ ไม่ใช่ว่าชาวประมงดื้อ แต่เราก็ทำในสิ่งที่พอจะทำได้ ทางที่ดีการที่รัฐออกมาตรการห้ามใช้อวนลาก ก็จะต้องมีมาตรการรองรับว่า เรือที่ใช้เครื่องมือเหล่านี้ไปแล้ว จะทำยังไงต่อไปกับการลงทุนหลายสิบล้าน ถ้าขาดรายได้จากการไม่ได้ออกเรือ ครอบครัว คนงาน และธุรกิจที่รอความหวังจากคนพวกนี้อยู่จะทำอย่างไร อย่างที่บอกเรือไม่ออก โรงแล่ปลาก็ไม่มีปลาแล่ แล้วพวกเราจะดำเนินชีวิตอยู่ต่อไปได้ยังไงกัน เจ๊งพอดี!!
...
หลังจากที่เกิดปัญหานี้ทำให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่อเนื่องประมงในจังหวัดสมุทรสาครทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจโรงน้ำแข็ง โรงงานแปรรูป และอู่ซ่อมเรือ เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการบางรายทนต่อต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นและรายได้ที่ลดน้อยลงไม่ไหว จนต้องปิดกิจการไปตามๆ กัน
ขณะเดียวกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชาวประมงหรือเจ้าของธุรกิจเพียงอย่างเดียว ยังส่งผลกระทบลุกลามไปถึงลูกจ้าง ที่ตอนนี้เริ่มมีการปลดออก เนื่องจากไม่มีของให้ทำ บางทีของน้อยก็ต้องใช้คนน้อย เลี้ยงไว้ก็ไม่ไหว
สถานการณ์เศรษฐกิจของ จ.สมุทรสาคร ตอนนี้ เรียกได้ว่าได้รับผลกระทบเป็นโดมิโน่ เพราะมีอาชีพประมงเป็นธุรกิจต้นน้ำ ฉะนั้น เมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ ธุรกิจอื่นๆ ก็พลอยเจ๊งตามไปด้วย!!
……และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนของชาวประมง จ.สมุทรสาคร ที่ยึดอาชีพนี้เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัวมานานกว่า 20 ปี...
จริงหรือไม่!! แก้ประมงผิดกฎหมาย ทำธุรกิจต่อเนื่องรายได้หด
ผู้สื่อข่าวไทยรัฐออนไลน์ต่อสายตรงไปยัง นางสาว กนกวรรณ มณีโรจน์ หรือคุณส้ม ผู้ประกอบการธุรกิจโรงน้ำแข็งบางหญ้า สมุทรสาคร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจต่อเนื่องจากการทำประมง รายได้ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกให้กับเรือประมง ตนสืบทอดอาชีพนี้มาจากพ่อซึ่งเคยเป็นผู้จัดการโรงงานในฐานะหุ้นส่วนมานานกว่า 19 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540
...
ธุรกิจโรงน้ำแข็งสร้างรายได้ให้กับคุณส้มและหุ้นส่วนมากกว่า 2 ล้านบาทต่อเดือน แต่ในขณะเดียวกันต้นทุนก็เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะค่าไฟที่ต้องจ่ายมากถึง 1,800,000 บาทต่อเดือน นอกจากนี้ยังเป็นค่าแรงงาน คนละ 300 บาทต่อวัน รวมไปถึงค่าเกลือ ค่าน้ำยาเคมีและค่าน้ำบาดาล ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำแข็งแต่ละครั้ง
เมื่อถามว่า จากปัญหาเรือประมงหยุดเดิน ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงน้ำแข็งอย่างไรนั้น คุณส้ม เผยว่า จากเดิมเคยส่งน้ำแข็งได้มากกว่า 1,000 ถุงต่อวัน ขณะนี้ยอดการสั่งซื้อลดลงเหลือเพียงวันละ 300 ถุงเท่านั้น รายได้ที่เคยได้มากกว่า 2 ล้านบาท เหลือแค่ประมาณ 1,500,000 บาทต่อเดือน ยังไม่บวกลบค่าใช้จ่าย ทำให้ตอนนี้ตกอยู่ในภาวะขาดทุนตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
...
สำหรับการรับมือกับรายได้ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางโรงน้ำแข็งบางหญ้า อาศัยวิธีการลดต้นทุนด้านพลังงานค่าไฟฟ้า ถ้าหากลดได้จริง ต้นทุนการผลิตในแต่ละครั้งก็จะลดน้อยลง ทำให้เกิดความสมดุลกับรายได้จากยอดสั่งซื้อ เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดต่อไปได้
นักวิชาการแนะ กำหนดมาตรการให้ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องลดจำนวนเรือ
ผู้ประกอบการธุรกิจโรงน้ำแข็ง ได้ส่งต่อข้อมูลเพิ่มเติมมายังทีมข่าวของเรา ถึงการแสดงทัศนะของ รศ.ดร.กังวาลย์ จันทรโชติ ภาควิชาการจัดการประมง คณะประมง ม.เกษตรฯ บางเขน เกี่ยวกับแนวทางในการแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย ว่า การแก้ปัญหาประมงที่ไทยทำอยู่ตอนนี้ เหมือนกับเราต้องการไล่หนูและแมลงสาบด้วยการเผาบ้าน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจัดการประมงมันมีหลายวิธี ทำไมเราไม่ทำการออกอาชญาบัตรให้ถูกต้อง แล้วใช้มาตรการกำหนดขนาดตาอวน ขนาดสัตว์น้ำที่อนุญาตให้จับ แบ่งเขตการประมงให้ชัดเจน ใช้ประโยชน์จากระบบติดตามเรือ (vms) อย่างเต็มที่ ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะทำให้ทุกคนที่ทำอาชีพประมงสามารถอยู่รอดได้ ในกฎของอียูไม่ได้บอกเลยว่าต้องลดจำนวนเรือ แต่เขาบอกแค่ว่าต้องมีการจัดการประมงอย่างยั่งยืน
"ผมขอยืนยันว่า ชาวประมงส่วนใหญ่ไม่ได้ร่ำรวยอย่างที่เราคิด แต่ละคนมีหนี้สินกันไม่ใช่น้อย ที่รวยจริงๆ มีน้อยมาก ผมเองพยายามบอกกับคนมีอำนาจในเรื่องนี้ ลองคิดกันดูนะครับว่า ระหว่างส่งออกไม่ได้ กับไม่มีสัตว์น้ำส่งออก อันไหนร้ายแรงกว่ากัน"
ทางออกวิกฤติทะเลไทย เน้นการมีส่วนร่วม!! สู่การจัดการประมงอย่างยั่งยืน
ขณะเดียวกัน นางสาวอัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เสนอแนะว่า การจัดการประมงอย่างยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันเฝ้าระวังการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เปิดใจรับฟังถึงปัญหาที่แท้จริงและดำเนินการแก้ไขร่วมกัน
สำหรับชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ ค่อนข้างที่จะเห็นใจและเข้าใจ แต่อันดับแรกต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า เครื่องมือที่ใช้ทำการประมงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหน้าดินและทำลายสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งถ้าหากไม่มีปลาให้จับ อาชีพประมงก็อาจจะสูญหายไป เมื่อปัญหาเกิดขึ้นแล้ว ทางรัฐบาลเองก็จะต้องมีเครื่องมือมาปรับเปลี่ยนให้ถูกต้อง เพื่อที่จะสามารถทำให้ชาวประมงดำเนินธุรกิจต่อไปได้
"จากการสอบถามข้อมูลของเรือประมงพาณิชย์ ทราบว่า ต้องการให้มีกองทุนประมง เพื่อที่จะมีงบประมาณในการปรับเปลี่ยนเครื่องมือหรือดำเนินอุตสาหกรรมประมงให้ถูกต้องตามกฎหมาย"
เมื่อภาครัฐมีกฎหมายที่ครอบคลุมแล้ว คนที่จะรับไม้ต่อ ก็คือ อุตสาหกรรม ที่จะต้องคำนึงถึงผู้บริโภคมากกว่าผลกำไรและรายได้มหาศาล จะต้องสร้างเครื่องมือ เช่น ระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าอาหารทะเลและให้ข้อมูลกับผู้บริโภคเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าสินค้าอาหารทะเลที่เลือกซื้อ มีคุณภาพและได้มาจากการประมงที่ถูกกฎหมาย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ด้านผู้บริโภคเอง ก็มีส่วนสำคัญที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงให้เกิดความยั่งยืนได้ คือ จะต้องมีความรับผิดชอบต่อการเลือกซื้อสินค้า ไม่สนับสนุนการบริโภคปลาขนาดเล็ก หรือสัตว์น้ำที่กำลังจะสูญพันธุ์ และจะต้องตั้งคำถามก่อนเสมอว่า ถ้ากินอาหารทะเลที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีก จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางท้องทะเลอย่างไรบ้าง เพราะ ถ้าสนับสนุนคนที่ขายปลาตัวเล็ก เขาก็ยังขายได้ต่อไป แต่ถ้าปฏิเสธสินค้าเหล่านั้น ไม่มีคนซื้อ ก็จะไม่มีคนขาย
นาทีนี้! ชาวประมงและเจ้าของธุรกิจต่อเนื่องอยู่ในสภาพหมดหวัง กับการแก้ปัญหาใบเหลืองอียู ส่วนอนาคตการส่งออกสินค้าประมงไทยจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับการจัดการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระยะเวลาที่เหลืออยู่ โดยเป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ การออกใบเขียว ยกเลิกการเตือนสินค้าประมง พิจารณาให้ใบแดง ห้ามนำเข้าสินค้าประมงไทยหรือตัวเลือกสุดท้ายคือ ยืดเวลาเพื่อให้ไทยแก้ไขปัญหา คงต้องติดตามกันต่อไป