รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แนะแนวทางแก้ปัญหา “ล้งจีน” ครอบงำธุรกิจค้าผลไม้ไทย กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทยควรดำเนินการให้ล้งจีนขึ้นทะเบียนธุรกิจให้ชัดเจน ส่วนกระทรวงการคลังต้องเก็บภาษีล้งจีน เพื่อให้มีต้นทุนการทำธุรกิจมีความ เป็นธรรมเท่ากับพ่อค้าไทย

จากการรายงานปฏิบัติการข่าว “จับตาล้งจีนเข้ามาครอบงำการค้าผลไม้ไทย” ซึ่งทีมข่าวไทยรัฐนำเสนอกรณีที่มีพ่อค้านายทุนชาวจีนและต่างชาติเข้ามาตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้หรือล้งในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะที่ จ.จันทบุรี จังหวัดหนึ่งของภาคตะวันออกที่มีปริมาณผลผลิตผลไม้จำนวนมาก มีล้งจีนและเวียดนามเข้ามาลงทุนเข้าหุ้นกับชาวไทย และส่วนใหญ่ถือหุ้นมากกว่าคนไทย มีจำนวนล้งทุเรียน 107 แห่ง ล้งลำไย 53 แห่ง ล้งมังคุด 122 แห่ง และล้งกล้วยไข่ 47 แห่ง โดยพ่อค้าจีนที่มีทุนมากกว่าพ่อค้าไทยส่งคนเข้ากว้านซื้อสินค้าจากชาวสวนโดยตรง ตัดพ่อค้าคนกลางไทย บางรายเช่าสวนและจ้างเจ้าของเดิมปลูก บางรายจ้างคนไทยเป็นนอมินีซื้อสวนมาปลูกผลไม้เอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกลไกการค้าผลไม้ไทย และเกษตรกรชาวสวนเริ่มหวั่นเกรงว่า อนาคตผลไม้ไทยจะถูกกำหนดราคาโดยพ่อค้าชาวจีน หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐไม่เข้ามาวางมาตรการในเรื่องนี้


เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายคณิต ลิขิตวิทยาวุฒิ รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเมื่อบ่ายวันที่ 23 มิ.ย.ว่า กรณีชาวจีนเข้ามาประกอบธุรกิจรับซื้อและโรงคัดบรรจุผลไม้หรือล้งในประเทศ ไทย เท่าที่ได้ติดตามมีการเข้ามารวบรวมพืชผลไม้ไทยหลายชนิด ที่เห็นได้ชัดได้แก่ลำไยอบแห้ง ลำไยสด ทุเรียน และมังคุด โดยระยะแรกผู้ประกอบการจีนเหล่านี้เข้ามา คือเข้ามารับซื้อตามฤดูกาล หิ้วกระเป๋าหอบเงินสดเข้ามา แล้วมาตั้งโต๊ะรับซื้อผลไม้ในพื้นที่ แต่ระยะหลังเริ่มกลายเป็นการทำธุรกิจถาวรผ่านนอมินีชาวไทย

...

“ในแง่ดีของล้งชาวจีน คือคนเหล่านี้เข้ามารับซื้อผลไม้จากเกษตรกรในราคาสูงกว่าพ่อค้าในประเทศ เพราะราคาผลไม้ไทยที่ตลาดปลายทางในประเทศจีนมีราคาสูงมาก ทำให้ราคาผลไม้ของเกษตรกรไม่ประสบปัญหาตกต่ำมาหลายปีแล้ว แต่ล้งไทยและผู้ส่งออกไทยได้รับผลกระทบ เพราะไปแย่งซื้อผลไม้สู้ราคาพ่อค้าจีนไม่ได้ ขณะที่เวลาส่งออกไปยังตลาดจีนก็มีเงื่อนไขยุ่งยาก และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ให้แก่ทางการจีนอีก 3%” นายคณิตกล่าว

ส่วนมาตรการในการป้องกันชาวจีนครอบงำการค้าและกดราคาผลไม้ไทยในอนาคตนั้น นายคณิต กล่าวว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการจัดตั้งธุรกิจและการทำธุรกิจต่างด้าว ทั้งกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ให้ลงพื้นที่จดทะเบียนการประกอบธุรกิจของล้งจีนให้มีความชัดเจน ในแง่หนึ่งก็เพื่อความมั่นคงของเกษตรกรที่ไม่ควรให้มีการผูกขาดกำหนดราคาจากพ่อค้าต่างชาติ แม้วันนี้จะยังให้ราคาดี แต่มีบางช่วงที่พ่อค้าจีนก็หาวิธีกดราคาผลไม้ไทยเหมือนกัน เช่น การตัดทุเรียนอ่อนนำมาออกขาย เพื่อให้ผู้บริโภคไม่กล้าซื้อของ จะได้ใช้โอกาสนี้กดราคาซื้อจากเกษตรกร นอกจากนี้กระทรวงการคลัง ควรเข้าไปติดตามการเสียภาษีอากรของล้งจีนด้วย เพื่อให้รัฐมีรายได้ และให้ผู้ประกอบการชาวจีนรับต้นทุนทางภาษีเท่ากับผู้ประกอบการไทย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขัน