สหราชอาณาจักรประกาศเรียกเก็บ “ค่าบริการทางการแพทย์” เพิ่มเติม สำหรับพลเมืองที่อยู่นอกยุโรป รวมทั้งชาวไทยที่พำนักในสหราชอาญาจักรเกินกว่า 6 เดือน แต่ไม่รวมนักท่องเท่ียว ตั้งแต่ 6 เม.ย.นี้เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 26 มี.ค.58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมารค์ เคนท์ เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่าตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน นี้เป็นต้นไป พลเมืองของประเทศนอกทวีปยุโรป รวมถึงพลเมืองของประเทศไทย ที่ประสงค์จะเดินทางไปพำนักอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรเป็นระยะเวลานานเกินกว่า 6 เดือน จะต้องชำระค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มเติม (Health Surcharge) เพื่อจะสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) ได้ในกรณีเจ็บป่วย
เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ที่ไม่ใช่พลเมืองของยุโรปที่เดินทางมาทำงาน ศึกษาต่อ หรือแม้แต่ติดตามสมาชิกในครอบครัว ได้รับการรักษาพยาบาลโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ภายใต้ระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่นเดียวกับผู้ที่มีถิ่นฐานพำนักอาศัยถาวร การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ผู้ที่ประสงค์จะพำนักอยู่ในสหราชอาณาจักรนานเกินกว่า 6 เดือนมีส่วนร่วมในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษาพยาบาลของตนเอง โดยค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มเติมจะอยู่ที่ 200 ปอนด์ และ 150 ปอนด์ต่อปีสำหรับนักเรียน ซึ่งต้องชำระในขณะดำเนินการยื่นคำร้องขอวีซ่าผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้ ผู้ยื่นคำร้องขอวีซ่าจะต้องชำระค่าบริการทางแพทย์ล่วงหน้าตามระยะเวลาของวีซ่าที่ท่านจะได้รับ
นายมาร์ค เคนท์ เผยว่า การเปลี่ยนแปลงนี้จะไม่มีผลกับผู้ที่มีความประสงค์จะเดินทางไปยังสหราชอาณาจักรเพื่อการท่องเที่ยว (Visit visa) ผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวยังคงต้องชำระค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในทุกกรณี หากมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลขณะอยู่ในสหราชอาณาจักร ค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มเติมที่ต้องชำระจะอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าประกันสุขภาพในบางประเทศ สำหรับนักเรียนจะเสียค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มเติมซึ่งคิดเพียงร้อยละ 1 ของค่าเล่าเรียนเป็นเวลา 3 ปี ในระดับปริญญาตรีที่สหราชอาณาจักรเท่านั้น ผู้ที่ชำระค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มเติมแล้วจะสามารถใช้บริการระบบประกันสุขภาพแห่งชาติได้เช่นเดียวกับผู้มีถิ่นพำนักถาวรตลอดระยะเวลาของวีซ่า จำนวนเงินที่เรียกเก็บเพื่อเป็นค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มเติมจะนำเข้ากองทุนสำหรับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ
...
“สหราชอาณาจักรมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมากในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติที่ให้บริการชั้นนำแก่ผู้ป่วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย ผู้ที่ประสงค์จะเดินทางไปยังสหราชอาณาจักรเพื่อพำนักหรือศึกษาต่อ จึงควรให้การสนับสนุนทางการเงินกับบริการสาธารณะที่ตนมีสิทธิเข้าใช้บริการ ซึ่งเป็นเหตุผลที่เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ เราตระหนักถึงเงินสนับสนุนจากผู้ที่เดินทางไปศึกษาและทำงานในสหราชอาณาจักรที่นับว่ามีมูลค่าเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังนั้น เราจึงเรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มเติมในอัตราที่เหมาะสม ซึ่งต่ำกว่าประกันสุขภาพของบริษัทเอกชนส่วนใหญ่” เอกอัครราชทูตอังกฤษ กล่าว.