เดินทางมาถึงตอนที่ 3 แล้ว สำหรับสกู๊ปซีรีส์เรื่อง "จุดจอดแท็กซี่ (ไม่) อัจฉริยะ" และจากการลงพื้นที่สำรวจจุดจอดแท็กซี่ดังกล่าวหลายจุดทั่วกรุงเทพ พบว่า หลายจุดยังคงมีไฟฟ้าเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดอยู่กับเครื่อง ประชาชนที่สัญจรไปมา ก็ตั้งข้อสังเกตว่า "เมื่อไม่ได้ใช้งานจริง" หรือ กดใช้งาน กลับไม่มีรถแท็กซี่มารับตามวัตถุประสงค์ที่อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องการ ดังนั้น จะเปิดไฟไว้เพื่ออะไร

ด้วยเหตุนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ให้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ลองให้คำนวณค่าไฟที่ใช้จ่ายในแต่ละวัน จนถึงปัจจุบัน ว่าถึงวันนี้เรา (ประชาชน) เสียค่าไฟฟ้าให้กับจุดจอดรถแท็กซี่ดังกล่าวเท่าไหร่ รวมถึงหากรื้อถอนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ถึงเรื่องการรื้อถอนจุดจอดรถ ในเบื้องต้น เจ้าหน้าที่จากวิศวกรรมสถานฯ ระบุว่า ไม่สามารถคำนวณค่ารื้อถอนได้ เนื่องจากไม่มีข้อมูลที่แท้จริง หากมีการคำนวณแล้ว อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงที่ทาง กทม. ดูแลอยู่

...

นอกจากนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงสอบถามกรณีค่าไฟฟ้า ไปยังแหล่งข่าวจาก การไฟฟ้านครหลวง ซึ่งเผยว่า หากจะคำนวณค่าไฟฟ้าจากเครื่องคอมพิวเตอร์ (PC รุ่นเก่า) 1 เครื่อง จะใช้ไฟฟ้าประมาณ 460 วัตต์/เครื่อง หากเปิดไว้ตลอดตลอด 24 ชั่วโมง จะมีค่าใช้จ่ายเครื่องละ 55 บาท/วัน

ดังนั้น หากคำนวณตามจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะรวม 150 เครื่องทั่วกรุงเทพมหานคร จะใช้ไฟฟ้าคิดเป็นเงินกว่า 8,280 บาท/วัน หากคำนวณ 1 เดือนก็จะประมาณ 248,400 บาท เฉลี่ยเป็นรายปี ประมาณ 2,980,800 บาท ซึ่งถ้าโครงการดำเนินมาแล้วกว่า 9 ปี กรุงเทพมหานคร ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าไปแล้วอย่างน้อย 26,827,200 บาท

นี่คือค่าไฟฟ้าที่คำนวณจากคอมพิวเตอร์ตามบ้านแบบพื้นฐาน 1 เครื่อง ที่เปิดไว้แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใดจนถึงวันนี้ หากรวมค่าไฟฟ้าที่จุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะเปิดไว้ตามป้าย และค่าก่อสร้างทั้ง 150 จุด ลองคำนวณดูว่า 9 ปีที่ผ่านมา เราเสียภาษีอากรของประชาชนอย่างสูญเปล่านี้เท่าไร...!?

อ่านเพิ่มเติม