หลังจากลงพื้นที่สำรวจป้ายแท็กซี่อัจฉริยะในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงการสอบถามความคิดเห็นประชาชน และคนขับรถแท็กซี่มาแล้ว ตอนที่ 2 ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พยายามหาคำตอบ โดยสอบถามผู้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ โดยเริ่มต้นจาก นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ริเริ่มโครงการนี้

นายอภิรักษ์ ตอบเพียงสั้นๆ ผ่านสายโทรศัพท์ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ โทรหาว่า "ไม่สะดวกให้ข้อมูล และให้ไปสอบถามชุดบริหารปัจจุบัน"

ขณะที่ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง ดร.วัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ฝ่ายการศึกษา กลับถามกลับว่าจะรื้อฟื้นเรื่องนี้ทำไม และไม่สามารถให้คำตอบได้ เนื่องจากเป็นโครงการในยุคนายอภิรักษ์ ไม่ใช่ยุคของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร พร้อมกับฝากไปบอกบรรณาธิการด้วยว่า จะทำไปเพื่ออะไร

...

เมื่อผู้สื่อข่าวได้ติดต่อ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับคำตอบเพียงแค่ ไม่ได้อยู่ในหน้าที่

นอกจากนี้ ยังได้สอบถามไปยัง นายวสันต์ มีวงษ์ โฆษกประจำตัวของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับคำตอบว่า โครงการจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ เป็นโครงการของนายอภิรักษ์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับชุดบริหารปัจจุบัน อีกทั้ง ตอนนี้คณะผู้บริหารยังไม่ได้หยิบยกโครงการดังกล่าวมาพิจารณาถึงประเด็นการพัฒนา หรือซ่อมปรับปรุงแต่อย่างใด เนื่องจากสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย และไม่สามารถใช้งานได้ทุกจุด และถ้าโครงการไม่ประสบความสำเร็จก็จะไม่กล่าวถึง

นายวสันต์ ยังแนะนำให้สอบถามข้อมูลเรื่องงบประมาณ การพัฒนาและปรับปรุงซ่อมแซม ที่สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร เมื่อผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร (สจส.) แต่ทาง สจส. ให้ทีมข่าวทำเอกสาร เพื่อขอนัดสัมภาษณ์ นายไตรภพ ขันตยาภรณ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบจราจร

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงเดินหน้าต่อ สอบถามไปยัง นายไตรภพ ผอ.กองพัฒนาจราจรฯ เผยว่า โครงการจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ เป็นโครงการของอดีตผู้ว่าฯ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2549 ซึ่งมีวิสัยทัศน์ของโครงการคือ ต้องการพัฒนาให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับประชาชน และปรับการเดินทางให้เข้ากับยุคสมัย อีกทั้งยังมีแผนพัฒนาไปสร้างในจุดห้างสรรพสินค้าทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งช่วงเวลา ณ ขณะนั้นมีการระดมความคิดการเขียนโปรแกรม และสร้างระบบกันอย่างมากมาย แต่ทางกรุงเทพมหานครให้สิทธิเอกชนในการดูแล ใช้ระยะเวลาในการบริหารงานมากกว่า 9 ปี มีการซ่อมแซม ปรับปรุง และพัฒนาอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จ

...

ให้เอกชนดูแลตลอดเวลา

นายไตรภพ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครให้สิทธิเอกชนในการดูแลโครงการจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะเพื่อความเป็นธรรมในการดำเนินการ อีกทั้งเอกชนที่ชนะการประมูลก็เป็นบริษัทเอกชนที่มีรถแท็กซี่เป็นของตนเอง โดยต้องจัดทำสิ่งพื้นฐานบริเวณจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ อาทิ ไฟส่องสว่าง คีออส (ใช้เพื่อติดต่อกับศูนย์แท็กซี่ ที่อยู่ในโครงการ) เพราะเมื่อก่อนระบบของโทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่สัญญาณ จีพีเอส (GPS) ยังไม่เสถียรและดีเท่าที่ควร ซึ่งเป็นการใช้ระบบ 2 จี ในการติดต่อระหว่างโทรศัพท์ของศูนย์แท็กซี่ เพื่อใช้ในการเรียกแท็กซี่ให้มารับผู้โดยสาร โดยคาดหวังว่าจะให้ความสะดวก และความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการ จะมีการบอกชื่อผู้ให้บริการ หมายเลขทะเบียน และเวลาที่จะมาถึงจุดจอด ซึ่งจะมีการบันทึกข้อมูลทุกครั้งตลอดการใช้งาน

จุดบอดของโครงการคือ 

นายไตรภพ กล่าวต่อว่า ในช่วงการดำเนินงาน มีแผนที่จะพัฒนาในส่วนของจุดจอดรถโดยสารประจำทาง โครงการจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะไม่ประสบความสำเร็จหลายด้าน ทั้งการประชาสัมพันธ์ที่ไม่แพร่หลาย แต่ปัญหาหลักที่ทำให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีผู้โดยสารที่ไปกดเรียกแท็กซี่ แต่เมื่อรอนาน จึงเรียกแท็กซี่ที่สัญจรในละแวกนั้นแทน ทำให้รถแท็กซี่ที่ถูกเรียกมา ไม่คุ้มกับค่าเดินทาง อีกทั้งรัฐบาลขณะนั้นเปิดรับแท็กซี่เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้โดยสารไม่เลือกที่จะรอแท็กซี่ที่เรียกมาจากศูนย์ โดยจะมีการรวบรวมสถิติไว้ทุกครั้ง 

...

พัฒนาต่อ แต่มองไกลเกินเทคโนโลยี !?

นายไตรภพ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องการพัฒนาโครงการ ทางกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการประชุม ปรึกษาหารือกันอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องวิสัยทัศน์ และโปรแกรมที่คิดค้นนั้นไกลเกินเทคโนโลยีในช่วงเวลานั้น จึงไม่สามารถดำเนินงานออกมาได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่ในตอนนี้ได้มีการประชุมกับหน่วยงานต่างๆ ร่วมกัน โดยมีแผนจะพัฒนาจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะให้มีประสิทธิภาพที่มากขึ้น โดยตู้แสดงผลเรียกแท็กซี่จะสามารถทำให้เห็นสภาพการจราจร และอาจจะเปลี่ยนเป็นจอสัมผัส ให้ใช้งานได้ง่าย และมีข้อมูลแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อคนต่างชาติในกรุงเทพมหานคร และมีการคำนวณอัตราค่าโดยสารให้ล่วงหน้าอีกด้วย

นอกจากนี้จะมีการพัฒนาระบบ GPS ให้เชื่อมต่อกับแท็กซี่ที่ร่วมโครงการ โดยจะให้ผู้โดยสารเลือกแท็กซี่ที่อยู่ใกล้ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องให้ศูนย์แท็กซี่เป็นผู้เลือก ซึ่งจะทำให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อีกทั้งถ้าหากจุดจอดแท็กซี่อยู่ในบริเวณชุมชน หรือหมู่บ้าน จะมีการโครงการพัฒนาให้มีการก่อสร้างที่จอดจักรยาน เพื่อให้คนในชุมชนและหมู่บ้านสามารถนำจักรยานมาจอด และใช้บริการแท็กซี่ต่อได้ สำหรับความปลอดภัยของจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ กรุงเทพมหานคร จะติดตั้งกล้องวงจรปิดบริเวณจุดนั่งรอทั้ง 150 จุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้บริการ 

คนพิการ และผู้สูงอายุ ขึ้นแท็กซี่ฟรี !!

นายไตรภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครมีโครงการบริการรับส่งคนพิการ และผู้สูงอายุด้วยรถแท็กซี่ ซึ่งในโครงการมีแท็กซี่อยู่กว่า 80 คัน ซึ่งผู้พิการต้องมาลงทะเบียนกับกรุงเทพมหานคร โดยสามารถโทรศัพท์มาแจ้งรับความประสงค์ในการใช้งานได้ตลอดเวลา 

...

อ้างจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ ยังใช้งานได้..?

นายไตรภพ กล่าวต่อว่าจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะกว่า 150 จุดทั่วกรุงเทพมหานครยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ และมีการดูแล ปรับปรุงโดยบริษัทเอกชนตลอดเวลา ซึ่งจะหมดระยะเวลาสัญญาในวันที่ 31 มีนาคม 2558 โดยกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาดำเนินการรับช่วงต่อ โดยจะพัฒนาระบบต่างๆ ให้ได้ตามแผนที่วางไว้ แต่ไม่สามารถระบุเวลาในการดำเนินการได้ ซึ่งต้องคำนวณงบประมาณ เขียนโปรแกรม รื้อระบบ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาจจะใช้ระยะเวลานานกว่า 1 ปี กว่าจะเริ่มการพัฒนา 

สัญญา 9 ปี ไม่เคยปรับปรุง - รถส่วนตัวห้ามจอดแต่!!?

นายไตรภพ กล่าวถึงกรณีบริษัทเอกชนรับเหมาว่า ไม่ได้พัฒนาระบบ และปรับปรุงโครงการเนื่องจากตัวสัญญาไม่ได้มีการแก้ไขมากว่า 9 ปีแล้ว ซึ่งสัญญาช่วงแรกระบุเพียงแค่ให้ทาสีทุก 1 ปี และทำความสะอาดทุก 7 วัน 


นายไตรภพ กล่าวต่อกรณีที่ประชาชนนำรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาจอดในจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะนั้นอาจจะขอความร่วมมือกับสำนักงานเขต และเทศกิจให้ช่วยตรวจดูความเรียบ และดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งได้ร่วมกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลในการคุมเข้มอย่างต่อเนื่อง

นายไตรภพ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ เป็นโครงการที่ดีต่อประชาชนและระบบคมนาคมในกรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากเทคโนโลยีในช่วงเริ่มโครงการยังไม่ค่อยพัฒนามากนัก จึงทำให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จ 

ทดสอบ 9 จุด ไม่สามารถใช้งานได้จริง

หลังจากที่ นายไตรภพ ขันตยาภรณ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบจราจร ได้ยืนยันกับผู้สื่อข่าวว่าโครงการจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะยังสามารถใช้งานได้จริงในปัจจุบัน ผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงลงพื้นที่ตรวจสอบและทดลองใช้งานจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะหลายจุดด้วยกันประกอบด้วย ชิดลม เพลินจิต สำนักงานขนส่ง หมอชิต จตุจักร ลาดพร้าว พระราม 9 ราชเทวี และจุดจอดแท็กซี่สะพานควาย รวมทั้งสิ้น 9 จุดจอด พบว่าไม่มีจุดไหนที่สามารถใช้งานได้จริง

อีกทั้งบริเวณตู้กดเรียกแท็กซี่ก็ยังถูกขีดเขียนและพ่นสเปรย์สีดำ คราบน้ำมันจากร้านขายอาหาร และกองขยะที่ถูกผู้คนในบริเวณดังกล่าวนำมาทิ้งจนส่งกลิ่นเหม็นเน่าไปทั่วบริเวณ ซึ่งทำให้ดูสกปรก ขณะที่บางจุดจอแสดงผลเต็มไปด้วยฝุ่น และรอยแตก โดยจักรยานยนต์รับจ้างในบริเวณดังกล่าวได้บอกเพียงว่า "มันใช้ไม่ได้มาตั้งแต่เริ่มโครงการแล้ว มีไว้แค่ให้คนยืนหลบฝนเท่านั้นแหละ"

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาผู้ใช้บริการและแท็กซี่บริการขณะที่สัญญาที่กรุงเทพมหานครกำหนดให้ บริษัทเอกชนที่รับงาน ทำความสะอาดโครงสร้างและหลังคา อาทิตย์ละ 1 ครั้ง และทาสีปรับปรุงให้ดูใหม่ตลอดเวลาอีกปีละ 1 ครั้ง แต่ตัวโครงสร้างของจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ กลับดูคล้ายไม่เคยถูกทำความสะอาดและปรับปรุงอย่างที่สัญญาได้ระบุไว้

นอกจากนี้ ในบริเวณจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะของกรุงเทพมหานคร มีกฎหมายรองรับในส่วนของผู้ที่นำรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาจอดขวางในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้ามาดำเนินการได้ทันที ด้วยการสั่งปรับเป็นจำนวนเงินอีกกว่า 500 บาท ซึ่งมีผลตั้งแต่เริ่มโครงการ แต่การลงสำรวจของผู้สื่อข่าวนั้นยังพบว่า มีร้านค้า รถจักรยานยนต์รับจ้าง และรถตุ๊กตุ๊ก เข้ามาดำเนินการค้าขาย ตั้งสิ่งกีดขวาง และใช้พื้นที่จุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะเพื่อประโยชน์ของตนเอง โดยไม่มีหน่วยงานของกรุงเทพมหานครและเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดำเนินการตามที่กฎหมายระบุ

ไม่เคยเห็นคนใช้บริการ ถามสั้นๆ จะทิ้งไว้แบบนี้หรือ...

แม่ค้าขายลูกชิ้นทอดและอาหารตามสั่งบริเวณจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ ย่านราชเทวี เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า เปิดร้านอาหารตามสั่งบริเวณดังกล่าวมากว่า 3 ปี และไม่มีความผิดปกติอะไร เพราะถือว่าทางบาทวิถีเหมือนร้านค้าอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งตนยังเสียค่าเช่าที่ดังกล่าวอีกด้วย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รู้หรือไม่ว่ามีกฎหมายห้ามขายและขนสิ่งของเข้ามาตั้งกีดขวางในจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ แม่ค้ารายนี้ กล่าวต่อว่า ไม่ทราบว่ามีกฎหมายเข้ามาควบคุมการตั้งร้านค้า และไม่เห็นว่าโครงการดังกล่าวจะใช้งานได้จริง เนื่องจากอยู่บริเวณนี้ทุกวันตั้งแต่ช่วงเช้า จนถึงเวลาเลิกงานในช่วงค่ำ ก็ไม่เคยพบประชาชนเข้ามาใช้บริการโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งแท็กซี่เข้ามาจอด ก็มาจอดเพื่อรอรับลูกค้าจากโรงแรมละแวกนี้เท่านั้น ไม่ได้เข้ามาเพื่อรับส่งผู้โดยสารในโครงการแต่อย่างใด

ขณะที่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ตั้งอยู่ในจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะย่านพระรามเก้า ระบุว่า ทำงานตรงนี้มา 5 ปี ไม่เห็นว่ามีประชาชนมาใช้บริการเรียกแท็กซี่ที่ป้ายดังกล่าว นอกจากนี้ ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีกฎหมายบังคับห้ามรถจักรยานยนต์รับจ้างและรถยนต์ส่วนบุคคลเข้ามาจอดที่ป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ ตอนที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาจัดการและจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้าง ก็ไม่เห็นว่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด

น.ส.นิชาภา เทพามาตย์ นิสิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า เคยกดเรียกแท็กซี่ แต่ไม่เห็นมีแท็กซี่มารับ จอแสดงผลก็ไม่สามารถใช้การได้ อีกทั้งยังเห็นว่าจุดจอดแท็กซี่ดังกล่าว เป็นเหมือนที่นั่งรอรถโดยสารประจำทาง ดังนั้น อยากให้กรุงเทพมหานครเข้ามาทำอะไรสักอย่างกับจุดจอดพวกนี้ เพราะไม่อยากให้ทิ้งโครงสร้างไว้แบบไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี สกู๊ปซีรีส์ "จุดจอดแท็กซี่ (ไม่) อัจฉริยะ" ยังไม่จบ โปรดติดตามอ่านต่อไป

อ่านเพิ่มเติม