จุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ สำหรับเด็กๆ รุ่นใหม่ ที่โตมากับไอโฟน และช่ำชองการใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ บนมือถือ อาจไม่รู้จัก และอาจตั้งข้อสงสัยว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่พร้อมจุดจอดรถ ที่ปรากฏซากให้เห็น และไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อยู่ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร นั้น มันคืออะไร และมันมีวัตถุประสงค์และประโยชน์อะไร ที่ถูกสร้างขึ้นมา ในวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบ

โครงการจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ แต่เดิมนั้น ถูกสร้างขึ้นตามวัตถุประสงค์ของกรุงเทพมหานคร เพื่ออำนวยความสะดวกและสบายให้กับประชาชนเพื่อใช้เรียกแท็กซี่ ด้วยโครงสร้างคล้ายกับป้ายรถโดยสารสาธารณะ มีสีเขียวที่เด่นตา แตกต่างกันเพียงแค่จุดจอดแท็กซี่อัจฉิรยะจะมีจอแสดงผล และปุ่มกด เพื่อใช้เรียกแท็กซี่ แต่หลังจากผ่านกาลเวลามานับสิบปี ปัจจุบันโครงการดังกล่าว กลับไม่สามารถใช้งานได้จริง แถมส่วนใหญ่ยังได้กลายเป็นที่พักรถของบรรดาจักรยานยนต์รับจ้าง รถตุ๊กตุ๊ก และรถยนต์ส่วนบุคคลที่มาจอดรถชั่วคราว เสียด้วยซ้ำ



"แก้ไขปัญหาการจราจร ซึ่งประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายและความปลอดภัยในการใช้บริการจากแท็กซี่" นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เคยกล่าวเอาไว้กับผู้สื่อข่าวในช่วงการเริ่มต้นโครงการ จุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ

...

โครงการจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ ถูกริเริ่มในยุคของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2548 โดยมีจุดประสงค์สำคัญ เพื่อแก้ปัญหาการจราจร และอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน รวมถึงรักษาและดูแลความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งเมื่อถูกก่อเหตุอาชญากรรม หรือลืมของ ก็จะสามารถติดตาม และรู้ตัวคนขับแท็กซี่คันที่โดยสารได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

โครงการจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ ดำเนินการก่อสร้างอย่างรวดเร็ว หลังจากที่กรุงเทพมหานคร ร่วมกับบริษัทผู้รับเหมา และ บริษัทเอกชนอีกแห่ง ตามนโยบายของนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในขณะนั้น โดยจะกำหนดจุดจอดทั้งสิ้น 150 จุด ทั่วกรุงเทพมหานคร รองรับรถแท็กซี่ได้กว่า 462 คัน โดยที่ 15 จุดจอดนั้นต้องใช้เงินกว่าจุดละ 2 ล้านบาท ในการจัดสรรพื้นที่ทางเว้าเพื่อรองรับการจอดแท็กซี่ ซึ่งรวมแล้วใช้งบประมาณเฉพาะเรื่องนี้ไปกว่า 30 ล้านบาท

ขณะที่สัญญาระหว่าง กทม. และ บริษัทเอกชนดังกล่าว ได้เริ่มตั้งแต่ปี 2548 และสิ้นสุดลงในปี 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งในสัญญาระบุไว้ว่าทาง บริษัทเอกชน จะได้โฆษณาจุดละหนึ่งป้าย เป็นระยะเวลา 3 ปี และทาง กทม. จะต่อสัญญาให้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 3 ปี รวมเป็นระยะเวลา 9 ปี และต้องทำความสะอาดจุดจอดและล้างหลังคา สัปดาห์ละ 1 ครั้ง และทาสีทุก 1 ปี นอกจากนี้จะต้องจ่ายเงินอีก 49,500 ต่อเดือน และ 66,000 บาท ต่อปี ในระหว่างการทำสัญญาเช่า

หลังจากโครงการจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะได้ถูกเปิดให้ใช้บริการนำร่องจำนวน 20 จุด ในเดือนกันยายน 2548 และจะเปิดให้ใช้จนครบ 150 จุด ภายในสิ้นปี 2548 ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติจากโครงการคือ ในช่วง 1 ตุลาคม 2548-30 กันยายน 2549 มีประชาชนกดเรียกไปกว่า 189,549 ครั้ง มีแท็กซี่มารับ 73,168 คัน ต่อมาในช่วง 1 ตุลาคม 2549-30 เมษายน มีคนเรียกใช้แค่ 150,352 ครั้ง มีแท็กซี่มา 54,097 คัน ซึ่งลดลงเป็นอย่างมาก ขณะที่จุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะที่มีคนใช้มากสุด กลับเป็นที่เพชรเกษม 22 คิดเป็น 53.3 % นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวยังพบว่าในช่วงเปิดโครงการได้เพียง 2 ปี มีจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะอีก 12 จุดที่ไม่สามารถใช้บริการได้ เนื่องจากไม่ได้ติดตั้งระบบและหน้าจอแสดงผล

...

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ยังพบปัญหาวินจักรยานยนต์รับจ้าง เข้ามาจอดโดยใช้พื้นที่จุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ กระทั่งแท็กซี่ไม่สามารถเข้ามาให้บริการได้ ต่อมา กทม. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจออกกฎข้อบังคับห้ามรถจักรยานยนต์และรถยนต์ทุกชนิดเข้ามาจอดในบริเวณจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 500 บาท ซึ่งเริ่ม 31 มกราคม 2549 แต่จากการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้ ต่อมายังพบปัญหาที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ มีคำสั่งไม่อนุญาตให้บริษัทผู้รับเหมาเข้าใช้คลื่นวิทยุในการให้บริการจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ จนเป็นเหตุต้องปรับเปลี่ยนมาใช้สัญญาณ ADSL เป็นปัญหาทำให้แท็กซี่ที่สัญจรไปมา สามารถรับผู้โดยสารไปก่อนได้

ผ่านมากว่า 10 ปี กับเงินจำนวนมหาศาล ที่ทุ่มเทให้กับโครงการนี้ ปัจจุบันในปี พ.ศ.2558 ผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ลงพื้นที่สำรวจจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ ในพื้นที่ย่านลาดพร้าว จตุจักร เซ็นทรัลชิดลม และเพลินจิต กลับพบว่าไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากกดปุ่มเรียกแล้ว แต่ไม่มีผลตอบกลับ ขณะที่อีกจุดหนึ่งที่น่าสงสัยคือ บริเวณโรงเรียนหอวัง ซึ่งไม่มีแม้กระทั่งจอแสดงผล แต่เป็นพลาสติกสกรีนแผนที่แปะอยู่เท่านั้น นอกจากนี้บริเวณโครงสร้างจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะกลับมีสเปรย์สีพ่น ทำลายสภาพแวดล้อม และมีรอยปากกาขีดเขียน ทำให้สกปรก และไม่น่าใช้งานได้ ขณะที่บางจุดจอแสดงผลเต็มไปด้วยฝุ่น และรอยแตก โดยวินจักรยานยนต์รับจ้างในบริเวณดังกล่าวได้บอกเพียงว่า"มันใช้ไม่ได้มาตั้งแต่เริ่มโครงการแล้ว มีไว้แค่ให้คนยืนหลบฝนเท่านั้นแหละ" ทีมข่าวเฉพาะกิจจึงลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อค้นหาผู้ใช้บริการและแท็กซี่บริการ

...

นายสุรบดี กลิ่นจันทร์ พนักงานขับแท็กซี่มานานกว่า 10 ปี เผยว่า ไม่เคยรู้เรื่องโครงการมาก่อนว่าใช้งานในลักษณะใด รู้เพียงแค่ว่ามีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น และไม่เคยให้บริการในช่องจอดแท็กซี่อัจฉริยะเลย และคิดว่าตอนนี้ไม่น่าจะใช้งานได้จริง อีกทั้งทางกรุงเทพมหานครยังไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์โครงการดังกล่าวมากเท่าที่ควร นอกจากนี้ตนมองว่าในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ แอพพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่ เพราะให้ความสะดวกสบายมากกว่า อีกทั้งยังไม่เห็นว่าโครงการจอดแท็กซี่อัจฉริยะจะเป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสาร

"ส่วนตัวมองว่าแอพพลิเคชั่น เรียกแท็กซี่มีความสะดวกสบายมากกว่าจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ เพราะคนที่เพิ่งเคยขับ ก็สามารถมาให้บริการได้ เพราะนอกจากจะได้ส่วนต่างแล้ว ยังมีแผนที่บอกเส้นทางอีกด้วย" นายสุรบดี กล่าว

ขณะที่ผู้สื่อข่าวเฝ้าสังเกตผู้ใช้บริการในจุดจอดกว่า 2 ชั่วโมง กลับไม่พบว่ามีประชาชนเข้ามาใช้บริการ แต่มีรถยนต์ส่วนบุคคล จักรยานยนต์รับจ้าง และรถตุ๊กตุ๊ก เข้ามาจอดในบริเวณจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะแทน
ด้านนายจิรภัทร เทียมถนอม ผู้ใช้บริการแท็กซี่ กล่าวว่า เคยใช้บริการจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่พบว่าเมื่อกดปุ่มเรียกแล้วไม่มีแท็กซี่มารับ ซึ่งบางแห่งไม่สามารถใช้งานได้ อย่างย่านลาดพร้าว และจตุจักร อีกทั้งยังเห็นว่าจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน และยังกีดขวางทางเท้าและทางบาทวิถีเป็นอย่างมาก

...

"เมื่อก่อนเคยกดปุ่มใช้บริการ แต่กว่ารถจะมาก็นานกว่า 10 นาที ทำให้ต้องเรียกแท็กซี่ที่ผ่านไปมาในบริเวณนั้นแทน แต่บางแห่งกลับมีรถจักรยานยนต์รับจ้างจอดขวางจึงไม่กล้าเข้าไปใช้บริการ" นายจิรภัทร กล่าว

นี่คือความคิดเห็นส่วนหนึ่งของผู้ขับแท็กซี่ และประชาชนที่เคยใช้บริการจุดจอดแท็กซี่อัจฉริยะ แต่ตอนนี้กลายเป็นซากอนุสาวรีย์ ที่ตั้งเด่นเป็นสง่าแต่ไร้ค่าและความหมาย ซึ่งจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ ในตอนหน้า ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะสอบถามนายอภิรักษ์ ถึงนโยบายดังกล่าว และพยายามไขคำตอบว่าเงินที่ใช้ไปเท่าไหร่ และ กทม. จะทำอย่างไรกับ จุดจอดป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ ที่ปัจจุบัน อาจจะฉลาดน้อยกว่าสมาร์ทโฟน ก็เป็นได้.

อ่านเพิ่มเติม