“รายงานวันจันทร์”-ห้ามรักษาการสมัคร-ฟ้องศาล-พีระยุทธ “วิน”?

การสรรหาผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คนใหม่แทนนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ครั้งนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ

เริ่มตั้งแต่คณะกรรมการสรรหาฯ ที่มีนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ เป็นประธานกรรมการสรรหาฯ ปิดประกาศรับสมัคร ระหว่างวันที่ 21 พ.ย.-12ธ.ค.

2557 และมีผู้สนใจทั้งคนในคนนอกยื่นใบสมัครเข้ารับสรรหากันอย่างคึกคักทั้งหมด 7 ราย ได้แก่ 1.นายกฤต ธนิศราพงศ์ 2.นายธีรวิทย์ จารุวัฒน์ 3.นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. 4.นายต่อศักดิ์ โชติมงคล 5.นายสุระชัย เอี่ยววชิรสกุล 6.นายอานนท์ ทับเที่ยง และ 7.นายรณชิต แย้มสอาด รักษาการผู้ว่าการรฟม.

แต่มีการกำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร ข้อ 3.1.12 ว่า ต้องไม่เป็นผู้รักษาการผู้ว่าการ รฟม.ในวันยื่นใบสมัคร ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกีดกันผู้สมัครบางรายหรือไม่ เพราะนายรณชิต 1 ในผู้สมัคร ปัจจุบันรักษาการผู้ว่าการ รฟม. ในฐานะรองผู้ว่าการอาวุโสสูงสุด

...

จากกรณีดังกล่าวนายพงษ์ภาณุออกมาชี้แจงว่า เหตุที่กำหนดคุณสมบัติผู้สมัคร ข้อ 3.1.12 นั้น ไม่ได้กีดกันผู้สมัคร แต่เป็นการลดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้สมัครเท่านั้น เนื่องจากการสรรหาในอดีตที่ผ่านมาเคยเจอปัญหาลักษณะดังกล่าวมาแล้ว หลังผู้ที่ได้รับการสรรหาฯก็คือ นายชัยสิทธิ์ คุรุรัตน์ รองผู้ว่าการ รฟม. ถูกนายรณชิต รักษาการผู้ว่าการ รฟม.ขณะนั้นตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ทำให้การสรรหาฯครั้งนั้นต้องล้มเลิกไป

ต่อมาวันที่ 22 ธ.ค.2557 คณะกรรมการสรรหาฯได้ประชุมพิจารณาคุณสมบัติผู้สมัครทั้ง 7 ราย หลังจากทำหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติว่าครบถ้วนตามที่กำหนดไว้หรือไม่ เนื่องจากหน่วยงานบางแห่งยังไม่ส่งเรื่องกลับมา ขณะที่คณะกรรมการสรรหาฯกำหนดวันแสดงวิสัยทัศน์ล่วงหน้าคือ วันที่ 5 ม.ค.2558 จึงแจ้งให้ผู้สมัครทั้ง 7 ราย เข้าแสดงวิสัยทัศน์ก่อนประกาศรับรองคุณสมบัติ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวแตกต่างจากการสรรหาฯครั้งก่อน ที่กำหนดจะต้องพิจารณาคุณสมบัติให้เสร็จก่อนผู้สมัครรายใดมีคุณสมบัติแล้ว จึงมีสิทธิ์แสดงวิสัยทัศน์ในลำดับต่อไป

วันที่ 29 ธ.ค.2557 นายรณชิตได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการสรรหาฯรวม 4 คน ได้แก่ นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาฯ และกรรมการอีก 3 คน ได้แก่ นายเพิ่มศักดิ์ สัจจะเวทะ, นายสุนทร ทรัพย์ตันติกุล และ พล.ต.พิเชษฐ์ คงศรี ต่อศาลอาญาและศาลปกครองกลาง กรณีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 โดยระบุความผิดใน2 ประเด็นคือ 1.กรรมการสรรหาฯดำเนินการสรรหาโดยกีดกันและเลือกปฏิบัติที่กำหนดคุณสมบัติผู้สมัครข้อ3.1.12 ว่าต้องไม่เป็นผู้รักษาการผู้ว่าการ รฟม.ในวันยื่นใบสมัคร และ 2. กระบวนการสรรหาฯดำเนินการผิดขั้นตอน

จนกระทั่งวันที่ 5 ม.ค.2558 คณะกรรมการสรรหาฯได้เชิญผู้สมัครทั้ง 7 ราย เข้าแสดงวิสัยทัศน์ ปรากฏว่านายรณชิตไม่เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ทำให้ในวันที่ 6 ม.ค.2558 คณะกรรมการสรรหาฯเสนอบอร์ด รฟม.เสนอให้นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ได้รับคะแนนสูงสุด มีความเหมาะสมที่จะรับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการ รฟม.คนที่ 4

อย่างไรก็ตาม กระบวนการสรรหาฯยังไม่เสร็จสิ้น จนกว่าจะมีการลงนามทำสัญญาว่าจ้างโดยบอร์ด รฟม.อย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งระหว่างนี้จะมีเหตุการณ์พลิกผันเปลี่ยนแปลงหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป.