เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ผมเขียนฝากข้อคิดความเห็นบางประเด็นไว้ในคอลัมน์นี้ โดยเฉพาะในส่วนของเหตุการณ์ที่โด่งดังมากอย่างไม่คาดฝันที่อำเภอปายจังหวัดแม่ฮ่องสอนของเรา
ที่บอกว่าอำเภอปายเมืองท่องเที่ยวที่น่ารักน่าพักผ่อนมากแห่งหนึ่งของภาคเหนือ กำลังจะโดนเปลี่ยนชื่อเป็น “ปายเลสไตน์” เพราะมีนักท่องเที่ยวอิสราเอลไปปักหลักอย่างถาวรถึง 3 หมื่นกว่าคน
มีการแย่งอาชีพคนไทย มีการเปิดโบสถ์เพื่อปฏิบัติศาสนกิจของตนเอง ห้ามคนอื่นเข้า มีการอาละวาดวางตัวเหนือคนไทย บุกเข้าแสดงความป่าเถื่อนในโรงพยาบาล ฯลฯ
ที่น่าตกใจไม่ใช่เพราะสื่อโซเชียลต่างๆหยิบยกมาเป็นประเด็นหรอกครับ...แต่เพราะการเสนอข่าว และการสัมภาษณ์บุคคลของ สถานีโทรทัศน์ ช่องต่างๆครบทุกช่องเสียมากกว่า
ผมนั่งฟังยังตกใจนึกว่า อ.ปาย ที่น่ารักที่ผมเคยไปเยือนแบบผ่านๆระหว่างเดินทางกลับจากแม่ฮ่องสอนมาเชียงใหม่อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต จะตกเป็นของอิสราเอลไปเสียแล้วอย่างไม่เป็นทางการ
จึงต้องหยิบมาฝากข้อคิดความเห็นให้รัฐบาลรีบไปดูไปหาข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร น่ากลัวจริงหรือไม่? เหตุการณ์นี้จะมีผลกระทบต่อนโยบายการท่องเที่ยวหรือไม่?
ดูเหมือนว่าท่านนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร จะตอบนักข่าวในเบื้องต้นว่า เท่าที่ท่านเช็กแล้วไม่มีอะไรและมิได้รุนแรงถึงขนาดที่พูดกัน ท่านจะมอบหมายให้ท่านรองนายกฯ และรัฐมนตรีมหาดไทย คุณ อนุทิน ชาญวีรกูล ไปลงพื้นที่ในสัปดาห์นี้
คำว่า “สัปดาห์นี้” ของท่านนายกฯ หมายถึง “เสาร์อาทิตย์” ที่ผ่านมา...ผมหวังว่าท่านอนุทินจะลงไปเรียบร้อย และรายงานผลผ่านผู้สื่อข่าวไปเรียบร้อยเช่นกัน
ผมเคยเขียนไว้บ้าง ช่วงที่กองทัพอิสราเอลบุกเข้าฉนวนกาซา เพื่อจัดการกับกลุ่ม ฮามาส ที่มาบุกจับคนของเขาไปเป็นตัวประกัน (รวมถึงแรงงานไทยเราด้วย) และสังหารชาวยิว ในระหว่างจู่โจม...จนบานปลาย กลายเป็นสงครามใหญ่ที่ยาวนานและต่อเนื่อง 1 ปีเศษๆเพิ่งจะมีข้อตกลงหยุดยิงเมื่อเร็วๆนี้
...
จากการโจมตีอย่างรุนแรงของกองทัพอิสราเอล จนบ้านเมืองถล่มทลาย โรงเรียน โรงพยาบาล ก็ไม่เว้น เพราะสงสัยว่าเป็นแหล่งบัญชาการของฮามาส...จนทำให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาเดือดร้อน ต้องอพยพหนีตายไปอยู่ตามที่ต่างๆหลายแสนคนอย่างน่าเวทนาในสายตาชาวโลก
ทำให้ทุกๆสายตาของชาวโลก (ยกเว้นอเมริกัน) มองว่าอิสราเอลโหดเกินไป จนเกิดกระแสการต่อต้านอย่างรุนแรง
สำนักข่าวตะวันตกอย่างบีบีซี อย่างซีเอ็นเอ็น จะรายงานแบบเห็นใจชาวปาเลสไตน์ และตำหนิอิสราเอลว่าทำเกินกว่าเหตุ
เป็นเหตุให้กระแส “อิสราเอล” หรือกระแสยิวที่เคยรุ่งโรจน์มากในยุค 1960 (หลังมีการก่อตั้งประเทศใหม่ เมื่อ 1948) และเป็นพระเอกมาตลอด ต้องกลายเป็นผู้ร้ายไปในยุคนี้
ช่วงนั้นทั่วโลกจะชื่นชมว่าอิสราเอลเป็นนักสู้ ประเทศเล็กนิดเดียว แต่สามารถสู้ประเทศอาหรับรอบๆได้อย่างทรหด
โดยเฉพาะสงคราม 6 วัน ปี 1967 พลโทโมเช่ ดายัน หรือนายพล ตาเดียวของยิว นำกองทัพปราบอียิปต์ จอร์แดน ฯลฯ ได้อยู่หมัด
ไทยรัฐ ยุคนั้นเสนอข่าวนี้อย่างละเอียด หน้า 1 ทำให้ยอดจำหน่ายพุ่งกระฉูด และจบสงครามแล้วเอามาพิมพ์รวมเล่มเป็นพ็อกเกตบุ๊ก ก็ขายดีมากต้องพิมพ์ซํ้าหลายครั้ง
นอกจากเก่งในการทำสงครามสู้รบแล้ว ยิวยังเก่งทางพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาการเกษตร ในพื้นที่แห้งแล้งที่ยิว เจริญก้าวหน้ามาก เป็นที่ยอมรับของนักพัฒนาทั่วโลก
ผมเองก็เคยไปดูงานและประทับใจมาก นำมาเขียนเล่าถ่ายทอดให้อ่านกันในยุคโน้นแบบวันต่อวัน นับเป็นสิบๆวัน
ใครจะไปนึกละว่ายุคนี้เดี๋ยวนี้ในทุกประเทศทั่วโลก และในประเทศไทยเรา--กระแสของยิวจะตกตํ่าลงอย่างน่าใจหาย
นี่แหละที่เขาว่าโลกเราใบนี้ไม่มีอะไรแน่นอน...พระเอกในวันนี้กลายเป็นผู้ร้ายวันพรุ่งนี้ และผู้ร้ายเมื่อวานนี้ก็กลับมาเป็นพระเอกในวันนี้ได้เช่นกัน ดังเช่นอิสราเอล ขวัญใจชาวโลกและชาวไทย เมื่อ 60 ปีก่อน...ได้กลายเป็นผู้ร้าย ณ นาทีนี้นั่นแล.
"ซูม"
คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม