การลักลอบค้าสัตว์ป่า “ในประเทศไทย” โดยเฉพาะตลาดใหญ่บนออนไลน์ที่ถูกใช้เป็นศูนย์กลางซื้อขายอย่างผิดกฎหมายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกระทำได้ง่าย รวดเร็ว แถมยังยากต่อการติดตามจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี ส่งผลให้ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าในประเทศยังมีความรุนแรง
ส่วนใหญ่การลักลอบนั้น “มักเป็นสัตว์ป่าจากต่างประเทศ” มีทั้งเป็นสัตว์ป่าใน หรือนอกบัญชีอนุสัญญาไซเตส และบางส่วนอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าสงวน และสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ซึ่งยังมีช่องโหว่ในการค้าสัตว์ป่าผ่านออนไลน์ส่งผลให้มีการกระทำผิดกันอยู่ต่อเนื่อง
ตามสถิติข้อมูลกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชนั้น คดีบุกรุกป่า ครอบครองสัตว์ป่า-ซากสัตว์ป่าตั้งแต่ปี 2563-2567 มีอยู่ 2,908 คดี และคดีค้าสัตว์ป่าออนไลน์ 40 คดี แยกเป็นปี 2563 มีอยู่ 820 คดี ค้าสัตว์ป่าออนไลน์ 19 คดี ปี 2564 มีอยู่ 625 คดี ค้าสัตว์ป่าออนไลน์ 10 คดี
ในปี 2565 จำนวน 410 คดี ค้าสัตว์ออนไลน์ 6 คดี ปี 2566 จำนวน 535 คดี ค้าสัตว์ออนไลน์ 1 คดี และปี 2567 จำนวน 518 คดี ค้าสัตว์ป่าออนไลน์ 4 คดี “หากดูคดีค้าสัตว์ป่าออนไลน์ดูเหมือนน้อย” แต่ความจริงแล้วมีการซื้อขายกระจายอยู่จำนวนมาก เพียงแต่การติดตามจับกุมผู้ทำผิดมาดำเนินคดีมีข้อจำกัดค่อนข้างซับซ้อนมาก
แนวโน้มการเปลี่ยนการค้าสัตว์ป่าสู่ออนไลน์นั้น ณรงค์ฤทธิ์ ศุขปราการ ผอ.ส่วนด่านตรวจสัตว์ป่า กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา เล่าผ่านสัมมนาวิชาการเรื่องการดำเนินคดีการค้าสัตว์ป่าออนไลน์ : ปัญหาและทางแก้ไข จัดโดยศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ว่า
...
การค้าสัตว์ป่าออนไลน์ “ส่วนใหญ่เป็นสัตว์คุ้มครองไทย” โพสต์ขายลักษณะแปรรูปเป็นชิ้นส่วน อย่างเนื้อเก้ง เนื้อเลียงผา เขาสัตว์ ทำให้การตามจับกุมผู้ทำผิดได้ลำบาก เพราะไม่ทราบว่าชิ้นส่วนนั้นเป็นสัตว์ป่าแท้หรือไม่ “จำเป็นต้องตรวจดีเอ็นเอ” แต่บางส่วนก็มีสัตว์ป่าบัญชีไซเตสในกลุ่มสัตว์แปลกๆ เช่น ลิงทามาริน นก กิ้งก่า
นอกจากนี้ยังมี “งาช้าง” ที่พบการซื้อขายบนออนไลน์ลักษณะเป็นผลิตภัณฑ์ เครื่องประดับ ตามปกติ “ผู้ขาย” ต้องออกหนังสือกำกับการค้างาช้าง งช.13 ให้กับ “ผู้ซื้อ” เพื่อนำใบนั้นไปแจ้งเปลี่ยนมือกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์พื้นที่ต่างๆ แต่หากซื้อขาย “ไม่มีเอกสารกำกับ” มักลักลอบขายผิดกฎหมาย หรืออาจเป็นของปลอมก็ได้
ด้วยตอนนี้มีการใช้กระดูกวัวขึ้นรูปแล้วนำไปแช่ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ให้เป็นสีขาวนวล หากผู้ไม่ชำนาญมักถูกหลอกอยู่เสมอ “เรื่องนี้ก็เป็นอุปสรรคการสืบสวน” หากฟ้องคดีผิดมีโอกาสถูกฟ้องกลับ จึงจำเป็นต้องเซฟเจ้าหน้าที่ด้วยการตรวจสอบให้แน่ชัดก่อนที่จะดำเนินการ “ล่อซื้อ” แฝงตัวเข้าไปจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี
ดังนั้นปัจจุบัน “การค้าขายสัตว์ป่าออนไลน์ในประเทศสูงขึ้น” ทำให้ต้องบังคับใช้ พ.ร.บ.ศุลกากร 2560 พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ 2556 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542 พ.ร.บ.งาช้าง 2558 และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอื่นๆด้วย
ขณะที่ พ.ต.ต.หญิง เขมณัฏฐ์ ชุตินันท์วินิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบังคับใช้กฎหมาย Wildlife Justice Commission (WJC) บอกว่า การค้าสัตว์ป่าออนไลน์แบ่งเป็น 3 ระดับ คือ 1.Surface Web เว็บไซต์ที่เข้าถึงง่ายส่งผลให้มีการซื้อขายสัตว์ป่า อย่างเช่นเขี้ยวเสือ อันเป็นเครื่องรางของขลังอันตามความเชื่อของคนไทยมีอยู่บ้าง
ถัดมาระดับ 2.Dark Web อันเป็นเว็บลับเข้าต้องใช้งานผ่านรหัสพิเศษ “มักมีการลักลอบซื้อขายสัตว์ป่า หรือซากสัตว์ป่าประเภทโทษสูงๆ” แต่ว่าแพลตฟอร์มที่มีการนำสัตว์ป่ามาขายมากที่สุดคือ 3.Deep Web ซึ่งเว็บสามารถเข้าได้เฉพาะกลุ่มคน เช่น กลุ่มเรารักเต่า (ห้ามซื้อขาย) แต่สุดท้ายก็แอบอินบ็อกซ์ซื้อขายกันเช่นเดิม
...
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวิธีหลบเลี่ยงกฎหมายบนออนไลน์ส่งผลให้ปรากฏเห็น “สัตว์ป่า–ซากสัตว์ป่า” ถูกโพสต์ขายทั่วไปมากมาย ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่มีการระบุตัวตนจนเจ้าหน้าที่รัฐขอข้อมูลจากผู้ให้บริการได้ยาก แม้แพลตฟอร์มระบุยินยอมสนับสนุนหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่มักให้ตรวจเฉพาะข้อมูลที่ไม่ต้องเข้ารหัสเท่านั้น
ยิ่งกว่านั้น “เทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวกระโดดนั้น” ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องพูดคุยกันผ่านไลน์เหมือนเดิมแล้ว แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมมักย้ายมาคุยผ่านซิกแนล หรือเทเลแกรม ส่งผลให้การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐยากมากขึ้นอีก แล้วการทำงานกับข้อมูลที่มากเช่นนี้บางครั้งการซื้อขายอาจเจอของปลอมไม่ใช่สัตว์ป่าจริงก็ได้
ตอกย้ำให้ “การล่อซื้ออาจต้องสูญเสียงบประมาณ” กลายเป็นการทำงานของเจ้าหน้าที่ต้องใช้เวลาวิเคราะห์ความเป็นไปได้นาน “แถมทรัพยากรสนับสนุนก็ไม่เพียงพอ” เพราะการตรวจดูสัตว์ป่าบางชนิดต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในการวิเคราะห์เท่านั้น นอกจากนี้เขตอำนาจรัฐ และกฎหมายก็ต่างกันในการค้าระหว่างประเทศ
...
ทำให้มีความยากในการระบุสิ่งผิดกฎหมายในระหว่างการค้าสัตว์ป่าที่ถูกกฎหมายกับการค้าที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะความซับซ้อนเครือข่ายผู้ทำผิด “ผู้สั่งการ” มักสาวไม่ถึงส่วนใหญ่จับกุมได้เฉพาะตัวเล็กตัวน้อย
ส่วนหนึ่งมาจาก “ประเทศไทย” ค่อนข้างให้ความสำคัญกับการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทำงานยาก อย่างเช่น “การตรวจโทรศัพท์มือถือของผู้ทำผิดขณะจับกุม” เพื่อใช้ในการขยายผลไปถึงผู้สั่งการค้าสัตว์ป่า หรือการหาพยานหลักฐาน หากผู้กระทำผิดไม่ยอมให้ตรวจสอบก็ต้องไปขออำนาจศาลออกหมายค้น
กลายเป็นว่า “เสียเวลาหลายวัน” ส่งผลให้หลักฐานบางอย่างอาจถูกทำลายไป เช่นนี้ “WJC” จึงเข้ามาช่วยประสานความร่วมมือให้เร็วยิ่งขึ้นอย่าง “คดีค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ” โดยเฉพาะสัตว์แปลก หรือสัตว์สงวน มักนำเข้าจากต่างประเทศอันเป็นการทำผิดในคดีข้ามชาติ WJC ก็เข้ามาปฏิบัติการพรางตัวทั้งออนไลน์ และออฟไลน์
เพื่อสะกดรอยตรวจสอบ “การครอบครองสัตว์ป่าควบคุม” ด้วยการทดลองซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่า ในการใช้สายข่าวสนับสนุนตรวจสอบร่องรอยหลักฐานได้รวดเร็วกว่าเจ้าหน้าที่ที่มีขั้นตอนขออนุญาตตามระเบียบราชการ “เราเป็นเพียงตัวสนับสนุน” เพราะไม่อาจทำงานได้สำเร็จลำพังต้องพึ่งพาหน่วยงานรัฐเข้ามาร่วมด้วยเสมอ
...
นี่เป็นสถานการณ์ “การลักลอบค้าสัตว์ป่าผ่านออนไลน์” นับวันยิ่งจะเลวร้ายแล้วการทำผิดก็ซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน ดังนั้นเทคนิคการสืบสวนหาข่าว “ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน” จึงจะระบุแหล่งที่มาของการค้าผิดกฎหมายให้สามารถติดตามผู้กระทำผิดนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้.