ข่าวดีประเทศไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครยังมีฤดูหนาวให้ชื่นใจ โดยสัมผัสได้ถึงมวลอากาศเย็นยาวๆ ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ล่วงหน้า คาดว่าอากาศหนาวจะต่อเนื่องไปถึงกลาง เดือนกุมภาพันธ์ ภาคเหนือ ภาคอีสาน เย็นยะเยือก ภาคกลาง เรื่อยมาถึงเมืองกรุง ประชาชนคงได้ใช้เสื้อกันหนาวกันคุ้มๆ
แต่ข่าวร้าย อากาศปิดในฤดูหนาว สภาพลมนิ่งๆ ความกดอากาศสูงทำให้ฝุ่นควันพิษ PM 2.5 ไม่มีการระบาย ตามข้อมูลเรียลไทม์จากศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร ค่าฝุ่นควันพิษเฉลี่ยไต่ระดับ 50ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สีส้มเต็มพื้นที่ แทรกด้วยสีแดงหนาแน่น เกินค่ามาตรฐาน มีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
ชะตากรรมคนเมืองกรุง หนีไม่พ้น ฝุ่นควันพิษที่เป็นวิกฤติประจำถิ่น แต่ก็น่ายินดีที่ยังได้เห็นอาการตื่นตัวจากฝ่ายบริหาร ไล่ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ขยับออกมาตรการเข้มข้นในการสู้วิกฤติฝุ่น PM 2.5 ที่โฟกัสต้นตอจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ควันรถยนต์ ควันจากเผา และสภาพที่อากาศปิดเหมือนฝาชีครอบ
ส่งสัญญาณอัดยาแรง ผ่านเพจเฟซบุ๊กของกรุงเทพมหานคร หาก 3 ปัจจัยฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นพร้อมกัน ตามสภาพการณ์ 1.ค่าฝุ่นเป็นสีแดงพร้อมกัน 5 เขต 2.พยากรณ์ฝุ่นล่วงหน้า 2 วัน พบว่าค่าฝุ่นเป็นสีแดงอย่างน้อย 5 เขต หรือเป็นสีส้มอย่างน้อย 15 เขต 3.อัตราการระบายอากาศน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตรต่อวินาที
กทม.จะดำเนินการ 1.ห้ามรถ ตั้งแต่ 6 ล้อขึ้นไป ยกเว้นรถที่อยู่ในบัญชี สีเขียว (ที่ดูแลเครื่องยนต์อย่างดี) เข้าเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน 2.ห้ามเรียน กรุงเทพ มหานครจะสั่งปิดโรงเรียนในสังกัด กทม. และ 3.ห้ามทำงาน ประกาศ work from home ขอความร่วมมือหน่วยงานเอกชน ทำงานที่บ้าน ลดการเดินทาง ลดการปล่อย PM 2.5
ขณะที่ระดับชาติ ได้ยินนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯพูดถึงปัญหา PM 2.5 ที่ได้ยินเสียงบ่นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลต้องแก้ไข ไม่อย่างนั้นจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น วันนี้ต้องมีมาตรการเด็ดขาดที่จะจัดการเกษตรกรที่เผาพืชเกษตรที่เป็นต้นตอฝุ่นควันพิษ อย่างประเทศสิงคโปร์มีการออกหมายจับผู้เผาพืชผลเกษตร
...
อดีตนายกฯคนพ่อ ส่งซิกนำร่องรัฐบาลเพื่อไทย วันนี้ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องเอาจริงเอาจัง อะไรมีกฎหมายก็ต้องใช้ หากยังไม่มีก็ต้องใช้มาตรการ อาทิ เงินช่วยเหลือเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท แต่หากพบมีการเผาก็ไม่ให้การช่วยเหลือ ถือเป็นแนวคิดในการแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างตรงจุด กับสภาพวิกฤติที่เข้าขั้นคอขาดบาดตาย.
คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม