รถเมล์สาธารณะสำคัญกับ “คนกรุง” ที่มีผู้คนใช้บริการทุกกลุ่มทุกวัยไม่ว่าจะเป็นคนทำงาน นักเรียน นักศึกษา คนแก่ คนพิการเฉลี่ยวันละ 5 แสนคน ต่างหวังได้รับความสะดวก และนั่งรถที่ปลอดภัย

ทำให้ช่วงที่ผ่านมา “กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)” เดินหน้าแผนปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ 269 เส้นทางให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลกว่าเดิม ถ้าดูตาม “ผู้แทน ขบ.” ที่ได้ให้ข้อมูลผ่านเวทีสาธารณะฟังเสียงประชาชนคนใช้รถเมล์ (ขนส่งมวลชนทุกคนเข้าถึงได้) จัดโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ไม่นานมานี้นั้น

นับแต่ปี 2526 “ครม.” ออกใบอนุญาตให้ ขสมก.เดินรถประจำทางใน กทม.และปริมณฑลก็ได้เกิดปัญหารถไม่พอให้บริการ “เลยจัดหารถเมล์เอกชนเข้ามาร่วมบริการ” ทำให้ ขสมก.ต้องเผชิญการขาดทุนมาต่อเนื่องจากค่าโดยสารราคาถูกมานาน 10-20 ปี จนไม่สามารถมีรายได้เพียงพอต่อการปรับปรุงคุณภาพรถใหม่

กระทั่งคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจมีแนวคิดปฏิรูปรถเมล์ 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการด้วยการให้รถเมล์เอกชนเดิม ขสมก.ดูแลก็โอนให้ ขบ.ดูแลแทนแล้วปี 2559 ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศึกษาการปฏิรูปได้ 269 เส้นทางจากเดิม 202 เส้นทางครอบคลุมพื้นที่เพิ่มขึ้น มีระยะทางรถเมล์เพิ่ม 20%

...

แล้วในปี 2560 ออกใบอนุญาตใบแรกให้ ขสมก.107 เส้นทาง จำนวนรถ 2,670 คัน เอกชน 130 เส้นทาง จำนวนรถ 2,738 คัน เป็นรถพลังงานไฟฟ้า 2,246 คัน มีการกำกับให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามด้วยระบบ GPS แต่การปฏิรูปรถเมล์นี้ยังปรากฏปัญหาอีกมาก “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค” จึงทำวิจัยเก็บข้อร้องเรียนการให้บริการ 5 เรื่อง

เรื่องแรก...รถน้อยคอยนาน ปัจจุบันรถเมล์เหลือน้อยลงมากจนผู้ใช้บริการต้องรอนาน 1 ชม./คัน 2.รถไม่ครอบคลุม นับแต่ปฏิรูปมีรถให้บริการเฉพาะบางพื้นที่ หรือบางเส้นถูกตัดสั้นลงต้องใช้รถหลายต่อกว่าจะถึงปลายทาง 3.เพิ่มภาระค่าใช้จ่าย เดิมผู้ใช้บริการมีค่าใช้จ่าย 8 บาท/เที่ยว เมื่อปฏิรูปเส้นทางต้องจ่ายเพิ่ม 2-3 เท่า

เรื่องที่ 4...สับสนจุดจอดรถ นับแต่ปฏิรูปรถเมล์ก็ไม่มีการประชาสัมพันธ์เส้นทางใหม่จนประชาชนสับสนใช้บริการ 5.รถสภาพเก่า ด้วยรถหลายคันถูกใช้มานานจนไม่ได้มาตรฐาน เกิดปัญหารถไม่พร้อม และเสี่ยงไม่ปลอดภัย ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ผู้ทำวิจัยรถเมล์บอกว่า

เดิมเส้นทางการเดินรถโดยสารประจำทางใน กทม. “ค่อนข้างมีความทับซ้อนจนการเดินรถไม่ครอบคลุมพื้นที่” ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางใหม่ เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้โดยสาร ทั้งยังมีการเพิ่มเส้นทางใหม่ให้การเดินรถมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น

แต่การวางแผน และการกำหนดเส้นทางมีการกำหนดให้หน่วยงานรับผิดชอบในการวางแผน และกำหนดเส้นทางเฉพาะ รวมถึงการเปิดประมูลแข่งขันให้ผู้ประกอบการเข้ามา และกำหนดแนวทางการให้เงินอุดหนุนเส้นทางที่จำเป็น โดยกำหนดนโยบายในการกำกับดูแลติดตามคุณภาพการให้บริการในระยะยาว

แบ่งเป็น “กรุงเทพตะวันออก” มีเส้นทางเขตการเดินรถ 9 เขต มีรถโดยสารประจำทางรถเมล์ 36 สาย และรถสองแถว 23 สาย “กรุงธนใต้” มีเส้นทางเขตการเดินรถ 7 เขต มีรถเมล์ 40 สาย

แล้วตามข้อมูลสำรวจผู้ใช้บริการ 800 ตัวอย่าง “ปัญหาที่พบในการให้บริการรถเมล์โดยสาร” ส่วนใหญ่มักรอรถนาน 478 คน คิดเป็นร้อยละ 24.67 พนักงานขับรถเร็ว/ผิดกฎจราจร 366 คน คิดเป็นร้อยละ 18.89 รถเมล์จอดไม่ตรงป้าย 309 คน คิดเป็นร้อยละ 15.94 รถเมล์ไม่จอดรับผู้โดยสาร 269 คน คิดเป็นร้อยละ 13.89

ทั้งยังมีปัญหามารยาทคนขับ 266 คน คิดเป็นร้อยละ 13.72 มารยาทคนเก็บค่ารถ 239 คน คิดเป็นร้อยละ 12.33 รวมถึงปัญหาคนแออัด รถไม่พอต่อผู้ใช้บริการ จอดแช่ป้าย คนจรอยู่ป้ายรถเมล์ ป้ายรถเมล์มืดไม่มีที่นั่งพอ

...

เช่นนี้ผู้ใช้บริการอยากให้ “ปฏิรูปรถโดยสารประจำทางใหม่” ในเรื่องรถมีตารางบอกเวลาเดินรถ 15.62% อยากให้ค่ารถมีราคาเหมาะสมกับค่าครองชีพของประชาชน 14.20% อยากให้รถโดยสารมีมาตรฐานเดียวกันในทุกคัน 13.62% อยากให้รถโดยสารมีเสียงประกาศ และป้ายไฟแสดงชื่อป้ายรถที่กำลังจะถึง 11.91%

ซึ่งในเรื่องที่อยากให้รถโดยสารปรับปรุงที่สุดมีตั้งแต่การปรับปรุงระบบติดตามรถให้การเดินทางตรงเวลา ปรับปรุงความปลอดภัยในการใช้บริการ ปรับเปลี่ยนรถให้เป็นรถปรับอากาศทั้งหมด ปรับสภาพรถให้มีมาตรฐาน

สิ่งนี้สะท้อนเห็นภาพ “การเชื่อมต่อขนส่งมวลชนของกรุงเทพฯ” อันเป็นแผนที่เคยสำรวจไว้เมื่อปี 2558 แต่ในปัจจุบันปี 2567 “อาจต้องสำรวจใหม่” เพราะมีการเปลี่ยนแปลงหลายจุดไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสาย, หมายเลข “ก่อเกิดความสับสน” ดังนั้น ระบบรถเมล์ไทยควรปรับเส้นทางให้ตรงกับความต้องการของประชาชน

“การปฏิรูปรถเมล์ไทยมีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ดีขึ้น และทำให้สับสนอาจจะต้องการทำแผนใหม่ เพราะเส้นทางเก่ามีอยู่อาจจะล้าสมัยด้วยหัวใจหลักระบบขนส่งมวลชนทุกคนต้องใช้บริการได้ทุกวัน ค่าโดยสารต้องไม่เกิน 10% ของรายได้ขั้นต่ำ ส่วนการทำตั๋วร่วมและระบบอุดหนุนสามารถปลดล็อกเส้นทางอนาคตได้” ผศ.ดร.สิงห์ ว่า

ขณะที่ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม.พรรคประชาชน บอกว่า ก่อนหน้านี้เคยร่วมกับหลายภาคส่วนสำรวจเก็บข้อมูลปัญหารถเมล์น้อยคอยนานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงใน กทม.5 จุดตั้งแต่ 04.30-22.30 น. พบว่ารถเมล์ 86 สาย เป็นเอกชน 47 สาย วิ่งต่ำกว่ากำหนด 18 สาย วิ่งต่ำกว่า 50% จำนวน 15 สาย วิ่งเกินกว่ากำหนด 14 สาย

ส่วนจำนวนรถ ขสมก.39 สาย วิ่งเกินกว่ากำหนด 16 สาย วิ่งต่ำกว่า 50% จำนวน 16 สาย วิ่งตํ่ากว่ากำหนด 7 สาย “ส่วนหนึ่งมาจากรถเอกชนไม่เคยถูกปรับ” เช่นนี้หน่วยงานรัฐต้องมีกลไกกำกับอย่างเข้มงวดได้แล้ว เพราะหากเทียบกับต่างประเทศจะมีกล้องวงจรปิดตามป้ายรถเมล์ตรวจสอบพฤติกรรมรถทุกคันด้วยซ้ำ

...

อย่างกรณี “นโยบายจีน” ค่อนข้างชัดเจนในการยึดหลักให้บริการประชาชนเป็นที่ตั้ง จนทำให้การรอรถเมล์เฉลี่ย 8-15 นาที/คัน พื้นที่ชานเมือง 45 นาที/คัน ทั้งกำหนดระยะห่างป้ายรถเมล์ 500 เมตร และห่างสถานีรถไฟฟ้า 50 เมตร ราคาค่าบริการ 10 บาท รถไฟฟ้า 15 บาท เพราะรัฐอุดหนุนเน้นให้ทุกคนต้องเข้าถึงระบบสาธารณะ

สุดท้ายนี้แม้ “รถเมล์ไทยจะปฏิรูปไปแล้ว 269 เส้นทาง” แต่ก็ยังเจอปัญหาอยู่มากมายจึงจำเป็นต้องนำกลับมาทบทวนปรับแผนเดินรถใหม่ เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้โดยสาร.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม