คนกรุงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หากมองใครแล้วว่า “ไกลปืนเที่ยง” ก็อาจมีเรื่องถึงขั้นเตะปากกัน เพราะไกลปืนเที่ยงเป็นคำเปรียบเปรยถึงคนบ้านนอกคอกนา
แต่กับเด็กอายุ 7-8 ขวบ ใกล้ปืนเที่ยง บ้านอยู่ปากคลองบางหลวง ฝั่งธนฯ ฟังเสียงปืนเที่ยงทุกวัน เพราะยิงกันที่ฝั่งกรุงเทพฯ ตรงกันข้าม อย่าง ด.ช.สังคีต จันทนะโพธิ ความที่รบเร้าถามพ่อบ่อย “เขายิงกันยังไง”
คุณสังคีตเขียนเล่าไว้ ในหนังสือปากพูดหูเพี้ยน (สำนักพิมพ์เพชรประกาย พิมพ์ พ.ศ.2553) ว่า สายวันนั้น พ่อก็จูงมือลงเรือข้ามฟากจากฝั่งวัดกัลยาณ์ มาขึ้นฝั่งปากคลองตลาด เดินผ่านโรงเรียนราชินีล่าง ไปถึงอาคารกองเรือกล ริมถนนข้างกำแพงพระบรมมหาราชวัง
ใกล้เวลา ทหารเรือเอาธงแดงสองคันออกมาปักริมแม่น้ำทางเหนือคันหนึ่ง ทางใต้คันหนึ่ง มองข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางฝั่งธนฯ บนหอสูงมองเห็นธงแดงอีกคันหนึ่ง
บริเวณลานหน้ากองเรือกล มีปืนใหญ่คาลิเบอร์ ลำกล้องสี่นิ้ว ตั้งบนล้ออยู่สองกระบอก กระบอกหนึ่งมีไว้ยิง อีกกระบอกมีไว้สำรอง
ทหารเรือรู้เวลาเที่ยงตรงได้ไง?...ทหารเรือมีวิชาวัดแดดวัดดาว หาที่อยู่เรือรบในทะเล จึงเอามาใช้กับการวัดเงาจากแสงอาทิตย์ที่คล้อยไปตามจักรวาล โดยถือเอาพระปรางค์วัดอรุณฯเป็นหลัก
เงาพระปรางค์ให้ความแม่นยำ เทียบเท่ากับเวลากรีนิชไม่ผิดพลาดแม้แต่วินาที
ใกล้เที่ยงเต็มที สัญญาณธงแดงหยุดเรือที่แล่นขวักไขว่ในแม่น้ำ ให้หยุด แม่น้ำว่างเปล่า ทหารเรือฝั่งธนฯวัดแดดคำนวณเงาพระปรางค์ได้ที่ ก็ชักธงแดงขึ้น นายทหารที่คุมการยิง ให้สัญญาณมือ พลปืนก็ยิง...
เสียงตูม เป็นสัญญาณ บอกชาวกรุงสองฝั่งเจ้าพระยาให้รู้ว่า “เที่ยงแล้วจ้า!”
ข้าราชการ เสียงปืนเที่ยง บอกเวลาทำงานได้ครึ่งวัน หยุดพักกินข้าวเที่ยง ขาไพ่ ได้เวลาเล่นไพ่ตอง เล่นกันทั้งวัน ไปถึงเที่ยงคืน ก็หมดเวลาไพ่ตอง แยกย้ายกลับบ้าน รอเวลาเสียงปืนเที่ยงวันใหม่
...
พระสงฆ์องค์เจ้าตามวัด เสียงปืนเที่ยง เป็นอันรู้กัน ถึงเวลา “วิกาล” แล้ว
(คำวิกาลของพระ คือเวลาเที่ยงวัน ต่างจากคำวิกาลของชาวบ้าน ที่หมายถึงเวลากลางคืน) พระมีวินัยห้ามฉันในเวลาวิกาล องค์ไหนขืนฉันต่อ ก็ต้องอาบัติ
พระเคร่งวินัยกำลังฉันเพลิน พอเสียงปืนเที่ยงดัง ท่านก็วางช้อนวางส้อม หยุดฉัน
เสียงปืนเที่ยงมีพลังขลังปานนั้น น่าเสียดาย ปี 2476 เกิดปฏิวัติยิงปืนใหญ่กันมั่ว ชาวบ้านอกสั่นขวัญหาย วันที่ 1 ธ.ค.2477 รัฐบาลท่านสงสาร เสียงปืนเที่ยงซ้ำเติมให้ชาวบ้านกลัว
ประกอบกับเสียดายค่าเบี้ยเลี้ยงทหาร ค่ากระสุนปืนใหญ่
เสียงปืนเที่ยงที่มีคนจำได้ คนไทยไปเห็นสิงคโปร์ยิงบอกเวลา จึงเอาอย่างมายิงบ้างในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2430...ก็เป็นอันยกเลิก
ถึงวันนี้ คนไทยมีเครื่องบอกเวลาหลายอย่าง การยิงปืนเที่ยง หมดความจำเป็น แต่เสียงปืนใหญ่ โดยเฉพาะเสียงปืนรถถัง ทหารเขายังใช้อยู่บ้าง ชาวบ้านก็ยังได้ยินกันเรื่อยๆ
มีข่าวแว่วเข้าหู นักการเมืองกลัวเสียงปืนใหญ่ จะออกกฎหมายห้ามทหารปฏิวัติ ทหารเขารำคาญก็ส่งเสียงทัก ไม่เห็นจะต้องออกกฎหมายเล็กๆเพิ่ม เพราะกฎหมายใหญ่ คือรัฐธรรมนูญห้ามอยู่แล้ว
แต่เมื่อมีเสียงคาดคั้น ทหารจะไม่ปฏิวัติแน่หรือไม่...ทหารเขาตรงไปตรงมาแบบทหาร ไม่คิดปฏิวัติเลยสักที เว้นแต่สถานการณ์พาไป ได้ยินคำทำนองนี้เมื่อไหร่ ผมนึกถึงพม่าแล้วก็เหงาเศร้าทุกที.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม